
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 19 ต.ค. 66
กระทรวงการต่างประเทศ คณะกรรมการกิจการทางทะเล ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติ ร่วมมือกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น หน่วยงานออสเตรเลียประจำไต้หวัน และสถานเอกอัครราชทูตเซนต์ลูเซียประจำไต้หวัน จัดกิจกรรมค่ายนานาชาติว่าด้วย "แนวทางการรับมือกับภัยพิบัติทางทะเล" ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) ขึ้นในไต้หวัน ในช่วงระหว่างวันที่ 18 – 19 ต.ค. โดยได้เชิญเจ้าหน้าที่ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและการบรรเทาภัยพิบัติ จำนวน 30 คนจาก 13 ประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกและพื้นที่แถบทะเลแคริบเบียน เดินทางมาเข้าร่วม เพื่อแบ่งปันสถานการณ์อุปสรรคและแนวทางการรับมือของนานาประเทศต่อประเด็นภัยพิบัติจากสึนามิและมลพิษทางทะเล
กิจกรรมในครั้งนี้ ได้จัดขึ้นต่อเนื่องจากประเด็น “การพัฒนาทางทะเลอย่างยั่งยืน” ภายใต้กรอบ GCTF ที่จัดขึ้นในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นเมื่อปี 2022 โดยการอภิปรายครั้งนี้มุ่งเน้นประเด็นด้านภัยพิบัติทางทะเลที่เกิดจากปัจจัยทางธรรมชาติและโดยฝีมือมนุษย์ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างไต้หวันและประเทศหุ้นส่วนสมาชิก GCTF ที่มุ่งบรรลุคำมั่นว่าด้วยความมั่นคงและการพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยในพิธีเปิดที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ต.ค. Mr. IZUMI Hiroyasu ผู้แทนญี่ปุ่นประจำไต้หวันจากสมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่น – ไต้หวัน และ Mr. Robert Kennedy Lewis เอกอัครราชทูตเซนต์ลูเซียประจำไต้หวัน ได้ทยอยกล่าวปราศรัย โดยมี Mr. Lachlan Crews รักษาการผู้แทนรัฐบาลออสเตรเลียประจำไต้หวัน เป็นตัวแทนกล่าวปราศรัยในพิธีปิดงาน ซึ่งภายในงาน นอกจากผู้บรรยายและผู้ร่วมกิจกรรมชาวต่างชาติแล้ว ยังมีคณะทูตานุทูตที่ประจำการในไต้หวัน รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในกิจการทางทะเลของไต้หวัน เข้าร่วมเป็นจำนวน 80 คน ส่งผลให้บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเป็นไปอย่างคึกคัก นอกจากนี้ หน่วยงานเจ้าภาพยังได้จัดตารางการเดินทางไปเยือนเมืองจีหลง เพื่อเข้าเยี่ยมชมเรือเจียอี้ที่ใช้สำหรับการลาดตระเวณทางทะเล และพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางทะเลแห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันในด้านกิจการทางทะเลของไต้หวัน
นับตั้งแต่เดือนมิ.ย. ปี 2015 ที่ไต้หวัน - สหรัฐฯ ร่วมจัดตั้งกรอบความร่วมมือ GCTF เป็นต้นมา ปัจจุบันได้ก้าวสู่การเป็นแพลตฟอร์มสำคัญทางความร่วมมือระหว่าง 4 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย โดยได้มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในประเด็นระดับโลกที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคให้ความสำคัญร่วมกัน ตราบจนปัจจุบัน ได้มีการจัดกิจกรรมค่ายฝึกอบรมทั้งในและต่างประเทศ ขึ้นเป็นจำนวน 64 ครั้ง ยอดสะสมของผู้เข้าร่วม ทั้งในรูปแบบออนไลน์หรือการประชุมสถานที่จริง รวมจำนวน 7,000 คน จาก 127 ประเทศ / เขตพื้นที่