ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่นสพ. Hankook Ilbo และ The Korea Times ของเกาหลีใต้ เรียกร้องให้เกาหลีใต้อย่าประมาทต่อความทะเยอทะยานของจีน และร่วมธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคให้คงอยู่สืบไป
2023-10-24
New Southbound Policy。รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่นสพ. Hankook Ilbo และ The Korea Times ของเกาหลีใต้ เรียกร้องให้เกาหลีใต้อย่าประมาทต่อความทะเยอทะยานของจีน และร่วมธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคให้คงอยู่สืบไป (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่นสพ. Hankook Ilbo และ The Korea Times ของเกาหลีใต้ เรียกร้องให้เกาหลีใต้อย่าประมาทต่อความทะเยอทะยานของจีน และร่วมธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคให้คงอยู่สืบไป (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 23 ต.ค. 66
 
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์เป็นลายลักษณ์อักษรแก่ เหวินจ้ายเจวียน ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ Hankook Ilbo ของเกาหลีใต้ โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้รับการเผยแพร่ในวันที่ 23 ต.ค.  ผ่านบทความในหัวข้อ “อย่าประมาทความทะเยอทะยานของจีน หากไต้หวันเกิดวิกฤต เกาหลีใต้และกลุ่มประเทศในภูมิภาคก็จะตกอยู่ในสภาวะวิกฤตด้วยเช่นกัน” นอกจากนี้ “The Korea Times” หนังสือพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษในเครือเดียวกัน ก็ได้ตีพิมพ์บทความที่เกี่ยวข้องนี้ ภายใต้หัวข้อ “รมว.กต.ไต้หวันเรียกร้องให้เกาหลีใต้ ให้ความช่วยเหลือสกัดกั้นภัยคุกคามจากจีน” (Taiwanese FM calls on Korea to help fight off China’s threats)  ซึ่งได้รับความสนใจในวงกว้างจากทุกแวดวงในเกาหลีใต้
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวขณะให้สัมภาษณ์ว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้จัดสรรงบประมาณกลาโหมในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 40 เท่า ก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีกองทัพทหารที่ยิ่งใหญ่และเป็นประเทศอันดับ 2 ที่มีงบประมาณด้านกลาโหมสูงที่สุด โดยเฉพาะนับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้นำสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้ารับตำแหน่งในปี 2013 เป็นต้นมา ปธน.สีฯ ก็ได้เพิ่มความทะเยอทะยานในการผลักดันภารกิจทางการเมือง ส่งผลให้สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น หลายปีมานี้ จีนได้อาศัยมาตรการบีบบังคับไต้หวันในรูปแบบต่างๆ ทั้งการลิดรอนความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไต้หวันกับนานาประเทศ การสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจ กลยุทธ์พื้นที่สีเทา การแพร่กระจายข่าวปลอมและการโจมตีทางไซเบอร์  อีกทั้งในด้านการข่มขู่ด้วยกำลังทหารก็หนักหน่วงมากขึ้นเป็นลำดับ อันจะเห็นได้จากการที่จีนส่งเรือรบและเครื่องบินรบ รุกล้ำเข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ของไต้หวันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จีนกำลังแสวงหาแนวทางในการบีบให้ช่องแคบไต้หวันกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน และต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในปัจจุบันของช่องแคบไต้หวัน ควบคู่ไปกับการฝึกซ้อมการโจมตีไต้หวันด้วยกำลังอาวุธในอนาคต
 
รมว.อู๋ฯ เรียกร้องให้ประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันเรียนรู้ประสบการณ์จากเหตุสงครามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย พร้อมทั้งเฝ้าจับตาและตระหนักถึงสถานการณ์ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน อย่าได้ประมาทต่อความทะเยอทะยานของจีน วิกฤตช่องแคบไต้หวันมิได้เป็นเพียงปัญหาของไต้หวันเท่านั้น การแผ่ขยายอิทธิพลด้วยกำลังอาวุธของจีน ยังสร้างภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อกลุ่มประเทศในภูมิภาคอย่างเกาหลีใต้อีกด้วย รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า ไต้หวัน - เกาหลีใต้ ต่างเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ยึดมั่นในค่านิยมสากล และเป็นประเทศที่ต้องประสบกับภัยคุกคามด้วยกำลังอาวุธของกลุ่มประเทศลัทธิอำนาจนิยมด้วยเช่นกัน โดยไต้หวันยินดีที่จะประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศประชาธิปไตยอย่างเกาหลีใต้อย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมธำรงรักษาความสงบเรียบร้อยภายใต้พื้นฐานกติกาสากล ทั้งนี้ เพื่อร่วมสกัดกั้นแรงกดดันที่มาจากกลุ่มประเทศลัทธิอำนาจนิยม ตลอดจนร่วมธำรงรักษาสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในช่องแคบไต้หวัน คาบสมุทรเกาหลีและภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกให้คงอยู่สืบไป
 
ต่อกรณีความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน - เกาหลีใต้ รมว.อู๋ฯ ระบุว่า ไต้หวัน – เกาหลีใต้ต่างเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 เช่นเดียวกัน ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าแบทวิภาคีมีความแนบแน่นใกล้ชิด ทั้งสองฝ่ายต่างครองบทบาทที่สำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติที่สามารถเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน จึงควรที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคีในเชิงลึก รมว.อู๋ฯ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็น “ความตกลงว่าด้วยการหลีกเลี่ยงและป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อน” (ADTA) มีผลบังคับใช้โดยเร็ววัน พร้อมมุ่งผลักดันการลงนาม “ความตกลงด้านการลงทุน” (BIA) “ความตกลงทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ” (ECA) และ “ความตกลงว่าด้วยการเอื้อประโยชน์ด้านศุลกากรระหว่างกัน” ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้กลไกความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและพิธีการทางศุลกากรแบบทวิภาคี เป็นไปอย่างครอบคลุมและสมบูรณ์
 
ในด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม รมว.อู๋ฯ ระบุว่า หลายปีมานี้ การไปมาหาสู่ระหว่างภาคประชาชน ระหว่างไต้หวัน – เกาหลีใต้ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยทั้งสองประเทศต่างเป็นแหล่งที่มาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของกันและกัน ในปี 2019 นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างสองประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 2.45 ล้านคน ในจำนวนนี้ เป็นชาวเกาหลีใต้ที่เดินทางเยือนไต้หวัน 1.24 ล้านคน ส่วนชาวไต้หวันที่เดินทางเยือนเกาหลีใต้ มีจำนวน 1.2 ล้านคน ถือเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รมว.อู๋ฯ แถลงว่า ไต้หวัน – เกาหลีใต้ เป็นประเทศสมาชิกสำคัญในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตทั้งสองฝ่ายจะร่วมเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าและความมั่นคง ภายใต้พื้นฐานความสัมพันธ์อันดีและการแลกเปลี่ยนของภาคประชาชนอย่างแนบแน่น พร้อมนี้ รมว.อู๋ฯ ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีใต้ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนไต้หวันในเวทีนานาชาติ เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้เป็นไปในทิศทางเชิงลึกต่อไป

ข่าวยอดนิยม