กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 30 ต.ค. 66
เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ตอบรับคำเชิญเข้าร่วมการประชุมแบบไฮบริดผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในหัวข้อ “มุมมองของไต้หวันต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างผกผันทางความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย” ที่จัดโดยมหาวิทยาลัย La Trobe ของออสเตรเลีย โดยในระหว่างการประชุม รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า ไต้หวันมีบทบาทที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ การค้าโลก รวมถึงระบบห่วงโซ่อุปทานของโลก หากเกิดสงครามขึ้นในช่องแคบไต้หวัน จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั่วทุกพื้นที่ในโลก ซึ่งประชาชนทุกภาคส่วนของไต้หวัน ล้วนมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการปกป้องประเทศชาติ พร้อมนี้ รมว.อู๋ฯ ยังเรียกร้องให้พันธมิตรแห่งประชาธิปไตยทั่วโลก เร่งสร้างความร่วมมือกันอย่างสามัคคี เพื่อสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ
ในการประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก Mr. John Dewar อธิการบดีมหาวิทยาลัย La Trobe ขึ้นกล่าวปราศรัยในพิธีเปิดการประชุม โดยมี Dr. BEC Strating ผู้อำนวยการโครงการเอเชีย (La Trobe Asia) ดำเนินหน้าที่เป็นประธานการประชุมครั้งนี้ ซึ่ง รมว.อู๋ฯ ได้ย้ำระหว่างการปราศรัยว่า ออสเตรเลียเป็นหุ้นส่วนสำคัญของไต้หวันในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน โดยทั้งสองฝ่ายได้มุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์ด้วยการสร้างความร่วมมือด้านต่างๆ ในเชิงลึก ทั้งทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน พลังงานและแร่ธาตุ เทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงการศึกษาและศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงของออสเตรเลีย ที่แสดงจุดยืนให้การสนับสนุนสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ควบคู่ไปกับการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในปัจจุบันของช่องแคบไต้หวัน ผ่านการประกาศแถลงการณ์ร่วมอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนส่งเสริมให้มีการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี โดยรมว.อู๋ฯ ได้ให้การยอมรับต่อการที่ออสเตรเลียเข้ามีส่วนร่วมในกลไกระดับภูมิภาคอย่างกระตือรือร้น ทั้ง “การรวมกลุ่มเจรจาด้านความมั่นคงปลอดภัยระหว่างภาคี 4 ประเทศ” (QUAD) กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) และ “ภาคีความมั่นคงแบบพหุภาคีร่วมกับสหรัฐอเมริกา อังกฤษและออสเตรเลีย” (AUKUS) ควบคู่ไปกับการดำเนินการปฏิรูปด้านกลาโหม ตามกระบวนการในรายงานการทบทวนยุทธศาสตร์กลาโหม (DSR) แสดงให้เห็นถึงคำมั่นสัญญาในการธำรงปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ตลอดจนร่วมรับมือกับความท้าทายของจีนที่ส่งผลต่อความมั่นคงในภูมิภาค นอกจากนี้ ไต้หวันยังมุ่งผลักดันการปฏิรูปทางกลาโหม เพื่อเสริมสร้างแสนยานุภาพในการป้องกันประเทศด้วยการพึ่งพาตนเอง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะสามารถขยายขอบเขตความร่วมมือกับออสเตรเลียและหุ้นส่วนทางความร่วมมือระดับโลกที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ทั้งนี้ เพื่อร่วมธำรงรักษาเสรีภาพ การเปิดกว้าง การยอมรับซึ่งกันและกัน รวมทั้งรักษาไว้ซึ่งภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกที่เปี่ยมด้วยความทรหดให้คงอยู่สืบไป
รมว.อู๋ฯ ได้ตอบข้อซักถามที่ Dr. Bec Strating ยื่นถามในประเด็นต่างๆ อาทิ การพัฒนาทางประชาธิปไตยของไต้หวัน รากฐานการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ความเป็นไปได้ในการเกิดสงครามในช่องแคบไต้หวัน กลยุทธ์พื้นที่สงครามสีเทาของจีน ทิศทางความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน – ออสเตรเลีย และบทบาทสำคัญของไต้หวันในระบบห่วงโซ่อุปทานโลก พร้อมทั้งตอบข้อซักถามของผู้เข้าร่วมการประชุม ในประเด็นข้อคิดที่ไต้หวันได้รับจากสงครามรัสเซีย - ยูเครน โดยรมว.อู๋ฯ ชี้ว่า ความมุ่งมั่นตั้งใจในการปกป้องประเทศชาติของประชาชน และการมุ่งเสริมสร้างแสนยานุภาพทางการทหารที่ขาดความสมดุล และความสนับสนุนอย่างหนักแน่นจากประชาคมโลก ล้วนเป็นข้อคิดสำคัญที่ไต้หวันได้รับจากเหตุการณ์สงครามรัสเซีย - ยูเครน โดยสองประการแรกเป็นปัจจัยที่ไต้หวันมีความมั่นใจในตัวเองเป็นอย่างมาก โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการอย่างกระตือรือร้น ประกอบกับขณะนี้ เป็นช่วงเวลาที่ต้องการพลังเสียงสนับสนุนที่มากยิ่งขึ้น จากพันธมิตรด้านประชาธิปไตยอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดาและกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป เป็นต้น เพื่อร่วมรับมือกับความทะเยอทะยานและภัยคุกคามอย่างไม่สิ้นสุด ที่เกิดจากการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกและทั่วโลก โดยการตอบคำถามของรมว.อู๋ฯ ในครั้งนี้ ได้รับเสียงชื่นชมจากผู้ชมซึ่งอยู่ในที่ประชุมเป็นอย่างมากด้วย