มุมหนึ่งของบ้านหนังสือนิทานเวียดนาม (ภาพ : หลินเก๋อลี่)
เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว ที่บ้านหนังสือนิทานเวียดนามซึ่งตั้งอยู่ในเมืองฮัวเหลียน เปิดคลาสสอนภาษาเวียดนามฟรีในทุกวันเสาร์ โดยคุณครูจะอ่านหนังสือนิทานภาพ พาเด็ก ๆ เล่นเกมการละเล่น และทำอาหารเวียดนาม แนวคิดในการก่อตั้งบ้านหนังสือหลังนี้ เป็นของคุณด่าวถีเวย (Dao Thi Que) ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ชาวเวียดนาม เพื่อตอบแทนที่ได้รับโอกาสศึกษาเล่าเรียนในไต้หวันเป็นเวลา 9 ปี
ช่วงบ่ายของสุดสัปดาห์แรกในเดือนมีนาคม สายลมแห่งฤดูใบไม้ผลิอบอวลไปด้วยความอบอุ่น บนเวทีของลานเสรีภาพเมืองฮัวเหลียน ธงชาติเวียดนามพัดโบกปลิวไสวไปตามสายลม
บรรดาสาวเวียดนามสวมชุดอ่าวหญ่าย (ชุดประจำชาติของประเทศเวียดนาม) กำลังเล่นเกมปิดตาจับหมูและเกมโยนรองเท้าลงกระป๋อง หัวเราะกันเสียงดังอย่างสนุกสนาน ส่วนพวกเด็ก ๆ ก็เล่นชักเย่อบนสนามหญ้า หรือไม่ก็เล่นวิ่งกระสอบ มีเสียงเชียร์โห่ร้องให้ความรู้สึกตื่นเต้น บ้านนิทานเวียดนาม (Vietnam Storybook House) ใช้ช่วงเวลาก่อนวันสตรีสากล 8 มีนาคม จัดกิจกรรมเทศกาลการละเล่นของเด็กเวียดนาม
ทุกเย็นวันเสาร์บ้านนิทานเวียดนามจะเปิดสอนภาษาเวียดนามฟรี ซึ่งบนผนังห้องเรียนมีภาพของโฮจิมินห์ บิดาประชาชาติเวียดนามแขวนอยู่ พร้อมกับข้อความ ภาษาเวียดนาม 6 คำ ที่เขียนว่า “Tiên học lễ, hậu học văn” ซึ่งมีความหมายว่า “จงศึกษามารยาทก่อนศึกษาวิชาความรู้” คุณครูที่รับผิดชอบการสอนคือนักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาเอเชีย-แปซิฟิกศึกษา จากมหาวิทยาลัยตงหัว (National Dong Hwa University : NDHU) 2 คน ชื่อว่า หุ่นกวั๊กตุ๊ง (Huynh Quoc Tuan) กับหุ่นเลย์อันฮุย (Huynh Le Anh Huy) โดยการสอนจะใช้ภาษาอังกฤษควบคู่กับภาษาเวียดนาม
การแต่งงานกับคนแปลกหน้าในดินแดนที่ห่างไกล
คุณด่าวถีเวยผู้ก่อตั้งบ้านหนังสือ ครอบครัวของสามีทำธุรกิจโฮมสเตย์อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฮัวเหลียน ซึ่ง 10 กว่าปีที่ผ่านมามีลูกค้าเข้าพักเต็มทุกวัน คุณซูอวี้กุ้ย (蘇玉桂) แม่สามีที่เกษียณจากงานในสถานีตำรวจเพราะอาการป่วยข้อไหล่ติดยึด (Frozen Shoulder) แต่ยังคงต้องลำบากดูแลทำความสะอาดห้องพัก จึงหวังให้ลูกชายรีบแต่งงานมีภรรยาโดยเร็ว คุณหลิวจื่อจง (劉志中) ลูกชายที่มีนิสัยเก็บตัวเงียบขรึมและยึดถือความคิดที่ว่าจะไม่แต่งงาน เมื่อเห็นมารดาต้องลำบากทำงานหนัก จึงตัดสินใจรับนัดดูตัวโดยผ่านการแนะนำของญาติมิตร และแต่งงานกับคุณด่าวถีเวยเข้ามาเป็นสะใภ้ของครอบครัว
คุณด่าวถีเวยในตอนนั้นเพิ่งมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ต้องแต่งงานมาอาศัยอยู่ที่ไต้หวัน โดยที่ภาษาจีนประโยคเดียวก็ยังพูดไม่ได้ เธอยังคงจำได้พร้อมเล่าว่า “ฉันมาถึงไต้หวันวันที่ 9 กันยายน 2 วันถัดมา วันที่ 11 กันยายน แม่สามีก็พาฉันไปที่โรงเรียนสอนพิเศษภาษาจีนของโรงเรียนประถมหมิงอี้ ในเมืองฮัวเหลียน” ที่นั่นฉันได้พบปะผูกมิตรกับเพื่อน ๆ จากเวียดนามซึ่งพูดภาษาเดียวกัน “ทุกคนดูแลฉันเป็นอย่างดี อาจารย์สอนฉันอย่างตั้งใจ จึงทำให้ฉันรู้สึกอบอุ่น รู้สึกปลอดภัย และไม่ค่อยคิดถึงบ้านเท่าไหร่นัก"
การแต่งงานมาที่ไต้หวัน ทำให้เธอกลายเป็นเถ้าแก่เนี้ยของโฮมสเตย์ แต่การฟังไม่เข้าใจในสิ่งที่ลูกค้าพูดหรือต้องการอะไร ก็รู้สึกได้แต่เพียงว่านี่คือเสียงที่ลูกค้ากำลังคุยกัน คุณด่าวถีเวยที่ภายในใจเต็มไปด้วยความสับสนกระวนกระวาย จึงบังคับตนเองให้ท่องศัพท์วันละ 40-50 คำ หลังจากนั้นสามเดือน คุณด่าวถีเวยก็สามารถเข้าใจภาษาจีนและสื่อสารกับลูกค้าได้
พ่อแม่สามีเห็นว่าเธอปรับตัวได้ดี จึงแนะนำให้เธอไปเป็นอาสาสมัครรับโทรศัพท์ที่ศูนย์ครอบครัวผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ขององค์กรสตรีคริสเตียน สมาคมไว ดับยู ซี เอ (Young Women’s Christian Association, YWCA) เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการสอบใบขับขี่ การปรับตัวในการดำเนินชีวิต ฯลฯ กับพี่ ๆ น้อง ๆ ซึ่งเป็นสตรีผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่
ทุกครั้งที่ได้รับทราบเรื่องเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว คุณด่าวถีเว่ยอดไม่ได้ที่จะมีความรู้สึกว่าขอบคุณและทะนุถนอมความสุขในชีวิต เธอพูดด้วยน้ำเสียงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขว่า “พ่อแม่สามีไม่เคยถือว่าฉันเป็นลูกสะใภ้ แต่เห็นฉันเป็นลูกสาวของพวกเขาจริง ๆ”
เธอกล่าวว่า “พ่อสามีของฉันบอกว่า การเรียนภาษาจีนที่โรงเรียนคือการศึกษาหาความรู้ในโรงเรียน ส่วนการเป็นอาสาสมัครคือการศึกษาเรียนรู้ทางสังคม และยังเป็นการเรียนรู้เรื่องครอบครัวด้วย” พ่อแม่สามีให้ความเคารพขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของเธอ ดังนั้นก่อนรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ ผู้ใหญ่จะต้องพูดก่อนว่า “ปู่ย่าตายายเชิญรับประทานอาหาร” จึงค่อยเริ่มรับประทานอาหารได้ เป็นการศึกษาในครอบครัวที่หลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมเวียดนามที่ให้ความสำคัญกับขนบธรรมเนียม
คุณด่าวถีเวยรู้สึกขอบคุณความเมตตากรุณาของไต้หวันที่ให้เรียนฟรี จึงก่อตั้งบ้านหนังสือนิทานเวียดนามเพื่อตอบแทนสังคม (ภาพ : หลินเก๋อลี่)
การเดิมพันที่ต้องบินข้ามหลายพันไมล์
ด่าวถีเวยตัดสินใจแต่งงานกับสามี หลังทำความรู้จักแค่สองชั่วโมงเท่านั้น เธอพูดด้วยน้ำเสียงที่ดังขึ้นโดยไม่ตั้งใจว่า “ความรู้สึกของสามี นี่คือพรหมลิขิต แต่สำหรับฉันมันคือการเดิมพันด้วยชีวิต” เพราะครอบครัวมีชีวิตที่ยากลำบาก พ่อสามีเคยเปรียบว่าบ้านของเธอที่เวียดนาม เหมือนกับไต้หวันเมื่อ 40 ปีที่แล้ว หลังคาบ้านมุงด้วยจาก ห้องน้ำเป็นส้วมหลุม กินข้าวก็ต้องนั่งยอง ๆ กับพื้น ดังนั้นเธออยากจะเดิมพัน เพราะถ้าแต่งงานแล้วดีก็จะสามารถปรับปรุงแก้ไขสภาพแวดล้อมทางบ้านให้ดีขึ้นได้
“มาถึงวันที่สอง ฉันก็ได้เรียนรู้วิธีการปูเตียงทั้ง 7 แบบ กับการเตรียมของใช้ต่าง ๆ ” คุณด่าวถีเว่ยตื่นนอนตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อเตรียมอาหารเช้าให้ลูกค้า สามีจะรับผิดชอบทำความสะอาดห้องน้ำ เมื่อถึงเวลารับประทานอาหาร กับข้าวก็จะถูกเตรียมพร้อมไว้สำหรับทั้งครอบครัว พ่อแม่สามีเห็นว่าเธอทุ่มเทให้กับครอบครัวตระกูลหลิวอย่างเต็มที่ จึงเอ็นดูและมอบเงินค่าขนมให้เธอทุกเดือน ทำให้เธอมีเงินส่งกลับไปที่เวียดนาม สิบปีต่อมาหลังจากเธอกับสามีชำระหนี้เงินกู้โฮมสเตย์หมดแล้ว พ่อแม่สามีก็ให้เงินจำนวนไม่น้อยแก่เธอก้อนหนึ่ง เพื่อให้เธอนำไปใช้สร้างบ้านที่เวียดนาม เพราะความตั้งใจทุ่มเทของเธอ จึงทำให้ครอบครัวของเธอที่เวียดนามพลิกกลับมามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
การก่อตั้งบ้านหนังสือนิทานเวียดนาม
ที่เวียดนามคุณด่าวถีเว่ยจบการศึกษาเพียงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ดังนั้นเมื่อมาถึงไต้หวัน จึงเริ่มทำการศึกษาเล่าเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น จนถึงวิทยาลัยพาณิชยการฮัวเหลียน ในสาขาการบริหารธุรกิจ คุณด่าวถีเว่ย
กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า “ฉันเรียนภาคค่ำเป็นเวลา 9 ปี ในการเรียนเสริมก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด และยังเป็นสามคนแรกที่ได้รับทุนการศึกษาเป็นประจำด้วย”
ไต้หวันมีสินเชื่อเพื่อการศึกษา และกลไกการช่วยเหลือต่าง ๆ ซึ่งทำให้การศึกษาไม่กลายเป็นภาระที่สร้างแรงกดดันให้แก่ผู้ปกครอง คุณด่าวถีเวยกล่าวว่า “ฉันได้รับความช่วยเหลือมากมายจากสังคม จึงอยากจะตอบแทน แต่ฉันสื่อสารได้คล่องเพียงภาษาเวียดนามเท่านั้น” ในปี ค.ศ. 2018 เธอจึงสมัครเข้าร่วมโครงการเร่งรัดพัฒนาผู้ประกอบการสตรีรุ่นใหม่ ของมูลนิธิส่งเสริมและพัฒนาสิทธิสตรีไต้หวัน (Foundation for Women's Rights Promotion and Development) และได้รับเงินอุดหนุนจำนวน 150,000 เหรียญไต้หวันในการขนส่งหนังสือภาพภาษาเวียดนามจำนวนกว่า 1,000 เล่ม น้ำหนักรวมแล้วกว่า 100 กิโลกรัม มาทางอากาศ ซึ่งประกอบไปด้วยแบบเรียนภาษาเวียดนามระดับประถมศึกษา หนังสือเกี่ยวกับสตาร์แอปเปิล คนแคระทั้งเจ็ด และหนังสือภาพอื่น ๆ ที่เป็นภาษาเวียดนาม เพื่อเปิดเป็น “บ้านหนังสือนิทานเวียดนาม” ขึ้นที่นี่
ในบ้านหนังสือมีหนังสือ แต่อุดมคติก็คืออุดมคติ เพราะเพื่อน ๆ ที่เป็นสาวเวียดนามมีภาระงานบ้านและหน้าที่การงานต้องรับผิดชอบ จึงไม่มีเวลาอ่านหนังสือให้บุตรหลานฟัง ส่วนเด็ก ๆ ก็ไม่เข้าใจภาษาเวียดนาม นั่นจึงทำให้คุณด่าวถีเวยเกิดความคิดที่จะเปิดสอนภาษาเวียดนามฟรีขึ้นมา
ปัจจุบัน ชั้นเรียนภาษาเวียดนามจัดขึ้นเป็นประจำทุกวันเสาร์ โดยในชั่วโมงแรกจะเรียนคำศัพท์และฝึกการเขียน ชั่วโมงที่สองจะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวประกอบเกมการละเล่น การเต้นรำ และการทำอาหาร มีเด็กบางคนเข้าเรียนติดต่อกันสองปีโดยไม่เคยขาดเรียน การมีปฏิสัมพันธ์และการเรียนรู้ภายในห้องเรียน จึงกลายเป็นสถานที่ซึ่งนำเสนอให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม
บ้านหนังสือเวียดนามเคยเปิดคลาสเรียนภาษาเวียดนามสำหรับผู้ใหญ่ฟรี ผ่านทางออนไลน์ ทั่วไต้หวันมีนักธุรกิจไต้หวัน ครอบครัวที่มีแรงงานต่างชาติ และนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มีความสนใจในวัฒนธรรมของเวียดนาม สมัครเรียนกว่า 30 คน โดยผู้รับผิดชอบสอนหลักสูตรดังกล่าว เป็นเพื่อนสาวชาวเวียดนามชื่อว่า เหงี่ยนถีกิมหวง (Nguyen Thi Kim Hoang)
คุณหุ่นกวั๊กตุ๊ง นักศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยตงหัว เห็นว่า เวลาสอนภาษาเวียดนาม จะได้เห็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รุ่นที่สอง กระตือรือร้นในการเรียนรู้ภาษาแม่ เข้าใจวัฒนธรรมที่บ้านเกิดของแม่ และยังสร้างเอกลักษณ์ของเชื้อชาติให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น
หนังสือภาพของบ้านหนังสือนิทานใช้แนวคิด Bookcrossing ประชาชนสามารถมายืมหนังสือได้ (ภาพ : หลินเก๋อลี่)
ก้าวข้ามชุมชน สืบสานวัฒนธรรมเวียดนาม
ตั้งแต่ปี ค.ศ.2020 เป็นต้นมา บ้านหนังสือนิทานเวียดนามจะใช้พื้นที่สวนสาธารณะในชุมชนหรือลานอเนกประสงค์จัดกิจกรรมในธีมเกี่ยวกับวัฒนธรรมเวียดนามเป็นประจำเกือบทุกเดือน และยังเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมด้วย ปกติแล้วจะจัดในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เพื่อให้แรงงานต่างชาติที่หยุดงานสามารถเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยคลายความคิดถึงบ้านเกิดได้
ในช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปี บ้านหนังสือจะทำการประดับประดาตกแต่งต้นบ๊วยสีเหลือง บรรดาสาว ๆ ก็จะสวมเครื่องแต่งกายดั้งเดิมสีแดงซึ่งเป็นสีมงคลตามเทศกาล สาว ๆ ที่มาจากเวียดนามเหนือจะนำข้าวเหนียวมาทำเป็นบ๊ะจ่างแบบเค็ม และบ๊ะจ่างแบบหวานที่ใส่กล้วยหอม ส่วนคนที่มาจากเวียดนามใต้จะเตรียมแตงโม นอกจากนี้ยังมีลิ้นจี่ และมะม่วง จัดใส่ลงไปในถาดให้ครบ 5 อย่าง เป็นถาดผลไม้ห้าอย่าง แม้ธรรมเนียมปฏิบัติของเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้จะมีบางส่วนที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึง มีเหลือกินเหลือใช้ตลอดปี และมีปัจจัยสี่ที่อุดมสมบูรณ์
กิจกรรมของเทศกาลไหว้พระจันทร์จัดติดต่อกันเป็นปีที่ 5 แล้ว ซึ่งในความเป็นจริงก็คือเทศกาลวันเด็กของเวียดนาม โดยกลุ่มอาสาสมัครของบ้านหนังสือจะใช้ขวดน้ำพลาสติกมาทำเป็นโคมไฟ และพาพวกเด็ก ๆ เดินไปตามท้องถนน นำเอาลูกอมกับส้มโอไปรับประทานด้วย ทุกครั้งที่มีการจัดกิจกรรมเทศกาลเฉลิมฉลอง สาว ๆ ชาวเวียดนามก็จะใช้ช่วงเวลานี้แสดงออกถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการสืบสานทางวัฒนธรรม
สำหรับคุณด่าวถีเวยแล้ว การผจญภัยของชีวิตในช่วงเวลา 16 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไต้หวันกลายเป็นบ้านของเธอ ทั้งยังรู้สึกชื่นชมในความปลอดภัยของไต้หวัน และความก้าวหน้าทางการแพทย์ด้วย เธอได้รับความเมตตาและมีความสุข ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะ และการให้ความช่วยเหลือเพื่อนผู้หญิงที่เป็นคนบ้านเดียวกันกับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รุ่นที่สอง
คุณหยางหัวเหม่ย (楊華美) สมาชิกสภาเทศบาลเมืองฮัวเหลียน เชื่อว่าการที่สาว ๆ ของบ้านหนังสือนิทานเวียดนาม ใช้วิธีการต่าง ๆ อาทิ ชั้นเรียนสอนภาษา การจัดกิจกรรมเทศกาลเฉลิมฉลอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ และยังมีการเสวนากับสังคมไต้หวันผ่านประสบการณ์ชีวิตของพวกเธอที่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานข้ามประเทศ จะช่วยเพิ่มเติมความหลากหลายให้แก่รูปลักษณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของไต้หวัน
เพิ่มเติม