ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวัน – อังกฤษ ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางการค้าในเชิงลึก ถือเป็นการวางรากฐานที่สำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคี
2023-11-09
New Southbound Policy。ไต้หวัน – อังกฤษ ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางการค้าในเชิงลึก ถือเป็นการวางรากฐานที่สำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคี (ภาพจากสภาบริหาร)
ไต้หวัน – อังกฤษ ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางการค้าในเชิงลึก ถือเป็นการวางรากฐานที่สำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคี (ภาพจากสภาบริหาร)

สภาบริหารและกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 8 พ.ย. 66
 
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา นายเซี่ยอู่เฉียว ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันประจำอังกฤษ และ Mr. John Dennis ผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ของสำนักงานตัวแทนรัฐบาลอังกฤษประจำกรุงไทเป (British Office Taipei) ได้ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยการเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางการค้าในเชิงลึก (Enhanced Trade Partnership, ETP) อย่างเป็นทางการ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อเป็นการปูรากฐานสำคัญในระยะยาวต่อความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างทั้งสองฝ่าย
 
ผอญ.เซี่ยฯ กล่าวระหว่างพิธีลงนามว่า การลงนาม ETP ที่เปี่ยมนัยยะทางประวัติศาสตร์ครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประสานความร่วมมือในเชิงกว้างระหว่างไต้หวัน - อังกฤษ ที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี อันจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาทางการค้าและสร้างโอกาสงานที่เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น โดยผอญ. John ก็ย้ำว่า ความตกลงฉบับนี้จะนำพาให้ความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่างทั้งสองฝ่าย ก้าวขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการจัดตั้งกลไกการแลกเปลี่ยนรูปแบบใหม่ด้วย
 
นอกจากความตกลง ETP จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางการค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายแล้ว ยังเป็นการกำหนดกลไกการเจรจาในเชิงลึก และระเบียบว่าด้วยการเจรจาอีกด้วย ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างยินดีที่จะเปิดการเจรจาใน 3 ประเด็นหลักอย่างเร่งด่วน ประกอบด้วย การค้าเชิงดิจิทัล การลงทุน พลังงานหมุนเวียนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยในอนาคตจะขยายขอบเขตประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายเพิ่มขึ้นต่อไป
 
นายเติ้งเจิ้นจง รัฐมนตรีประจำสภาบริหารและตัวแทนสำนักงานเจรจาการค้า สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวว่า อังกฤษเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก หลังจากที่อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป (EU) ก็ยิ่งมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมในประชาคมโลกอย่างเนื่อง ประกอบกับอังกฤษเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจในระดับโลก โดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพ พลังงาน รถยนต์ เทคโนโลยี AI และอุตสาหกรรมการเงิน อีกทั้งยังมีคุณสมบัติที่สามารถเอื้อประโยชน์แก่กันในการพัฒนาทางภาคอุตสาหกรรมของไต้หวันได้ ในปัจจุบัน อังกฤษมุ่งจัดตั้งความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับกลุ่มประเทศสำคัญในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกอย่างกระตือรือร้น การที่ทั้งสองฝ่ายพร้อมใจกันร่วมลงนามในความตกลงฉบับนี้ จึงถือว่ามีนัยยะสำคัญในเชิงบวกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าของไต้หวัน ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการยกระดับสถานภาพทางเศรษฐกิจและการค้าของไต้หวันในเวทีนานาชาติ ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาคมโลกในการเข้าแลกเปลี่ยนกับไต้หวัน
 
ความตกลงฉบับนี้ถือเป็นกรอบโครงสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าในเชิงลึก ที่ไต้หวันร่วมจัดตั้งขึ้นกับกลุ่มประเทศยุโรปเป็นครั้งแรก ในอนาคต ทั้งสองฝ่ายจะขยายขอบเขตไปสู่ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องทางการค้า ภายใต้หลักการการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน และยังเป็นต้นแบบของการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าในเชิงลึกระหว่างกลุ่มประเทศในยุโรปกับไต้หวันด้วย รมว.เติ้งฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า อังกฤษเตรียมก้าวสู่การเป็นประเทศสมาชิกใหม่ของ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP) ด้วยเหตุนี้ การยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับอังกฤษ จึงมีนัยยะสำคัญต่อภารกิจการผลักดันเข้าร่วมกรอบความตกลง CPTPP ของไต้หวันเป็นอย่างมาก
 
สำหรับขั้นตอนถัดไปของการเจรจาในประเด็นย่อยนั้น สำนักงานเจรจาการค้าของสภาบริหารจะมุ่งเจรจาหารือกับภาคธุรกิจและหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อนำความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง มาใช้ในการอ้างอิงเพื่อกำหนดระเบียบการค้าแบบทวิภาคี และผนวกเข้ากับค่านิยมสังคมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความเสมอภาคทางเพศ ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (Corporate Social Responsibility, CSR) รวมทั้งการคุ้มครองผู้อุปโภคบริโภคต่อไป
 
ในอนาคต กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จะประสานความร่วมมือกับสนง.เจรจาการค้า เพื่อมุ่งมั่นในการสร้างความร่วมมือกับรัฐบาลอังกฤษอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งขยายการแลกเปลี่ยนและการมีปฏิสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคี ระหว่างไต้หวัน – อังกฤษ อย่างเป็นรูปธรรมในภายภาคหน้าต่อไป