ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมว.กต.ไต้หวัน เรียกร้องให้ทุกฝ่ายสนับสนุนไต้หวันในการธำรงรักษาประชาธิปไตย เสรีภาพและสันติภาพ ระหว่างแสดงปาฐกถาที่สถาบันความมั่นคงระหว่างประเทศของเอสโตเนีย
2023-11-10
New Southbound Policy。รมว.กต.ไต้หวัน เรียกร้องให้ทุกฝ่ายสนับสนุนไต้หวันในการธำรงรักษาประชาธิปไตย เสรีภาพและสันติภาพ ระหว่างแสดงปาฐกถาที่สถาบันความมั่นคงระหว่างประเทศของเอสโตเนีย (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมว.กต.ไต้หวัน เรียกร้องให้ทุกฝ่ายสนับสนุนไต้หวันในการธำรงรักษาประชาธิปไตย เสรีภาพและสันติภาพ ระหว่างแสดงปาฐกถาที่สถาบันความมั่นคงระหว่างประเทศของเอสโตเนีย (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 9 พ.ย. 66
 
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ตอบรับคำเชิญของ “สถาบันความมั่นคงระหว่างประเทศ” (ICDS) ซึ่งถือเป็นคลังสมองของเอสโตเนีย เข้าแสดงปาฐกถาในหัวข้อ “ไต้หวัน – เอสโตเนีย : พันธมิตรแห่งสันติภาพและประชาธิปไตย” (Taiwan and Estonia: A Partnership for Peace and Democracy) โดยรมว.อู๋ฯ ได้กล่าวถึงความท้าทายด้านความมั่นคงที่ทั่วโลกประสบอยู่ในปัจจุบัน และภัยคุกคามต่อกลุ่มประเทศประชาธิปไตย ที่เกิดจากการขยายอิทธิพลอำนาจเผด็จการ พร้อมนี้ รมว.อู๋ฯ ยังได้แสดงความขอบคุณที่เอสโตเนียสนับสนุนไต้หวันด้วยวิธีการที่เป็นรูปธรรมเสมอมา โดยไต้หวันจะส่งเสริมการสร้างความร่วมมือในเชิงลึกกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อปกป้องประชาธิปไตย เสรีภาพและสันติภาพ ให้คงอยู่สืบไป
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า แม้ว่าไต้หวัน – เอสโตเนีย จะตั้งอยู่ห่างไกลกันในแง่ของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ แต่ประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศที่มุ่งสกัดกั้นลัทธิอำนาจนิยม กลับมีความคล้ายคลึงกันมาก ไต้หวัน – เอสโตเนียตั้งอยู่ใกล้กับจีนและรัสเซีย จึงตระหนักดีถึงภัยคุกคามต่อความมั่นคงในภูมิภาค ที่เกิดจากการแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิอำนาจนิยม ในเดือนก.พ. ปี 2022 หลังจากที่รัสเซียรุกรานยูเครน หายนะของภัยสงครามได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ลัทธิอำนาจนิยมและอารยธรรมสมัยใหม่ไม่สามารถคงอยู่ร่วมกันได้
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงเดือนมิ.ย. และส.ค. ที่ผ่านมา จีนและรัสเซียได้ร่วมจัดการฝึกซ้อมรบในเป็นวงกว้าง แสดงให้เห็นว่า แม้จีนและรัสเซียจะไม่ระบุถึง “ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนแบบไร้ข้อจำกัด” (Unlimited partnership) แต่ความทะเยอทะยานในการแผ่ขยายอิทธิพลของทั้งสองประเทศ ไม่เคยดับมอดลง ในปัจจุบัน จีนอาศัยกลยุทธ์ทุกวิถีทางในการข่มขู่ไต้หวัน และพยายามอาศัยสงครามลูกผสม เช่น สงครามไซเบอร์และกลยุทธ์พื้นที่สีเทา ในการทำสงครามแบบเงียบๆ ในสังคมที่เปิดกว้างของไต้หวัน นอกจากนี้ แรงกดดันทางเศรษฐกิจก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จีนมักนำมาใช้จัดการกับประเทศภายนอก อันจะเห็นได้จากกรณีตัวอย่างไวน์แดงหรือกุ้งมังกรของออสเตรเลีย ผลิตภัณฑ์นมของลิทัวเนีย และผลไม้ของไต้หวัน เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้เสียหายจากการที่จีนอาศัยปัจจัยทางการค้ามาเป็นอาวุธ
 
เมื่อต้องเผชิญกับการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน กลุ่มประเทศประชาธิปไตยต่างตระหนักถึงวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้น ทำให้ญี่ปุ่นได้สร้างฐานทัพขึ้นในหมู่เกาะตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนสหรัฐฯ ก็อาศัยกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น ภาคีความมั่นคงแบบพหุภาคีร่วมกับอังกฤษและออสเตรเลีย (AUKUS)” “การรวมกลุ่มเจรจาด้านความมั่นคงปลอดภัยระหว่างภาคี 4 ประเทศ (QUAD)” และกลุ่มพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ (US-Japan-Korea Alliance) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือกับมิตรประเทศ พร้อมทั้งได้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นและออสเตรีย เร่งสร้างความร่วมมือทางกลาโหมกับฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ ในเดือนพ.ค. ของปีนี้ แถลงการณ์ร่วมของผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ก็ได้มีการระบุให้การสนับสนุนสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน และการประชุมผู้นำสหภาพยุโรปที่จัดขึ้นเมื่อเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ก็มีการแสดงจุดยืนว่าด้วยการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพในช่องแคบไต้หวัน ที่เกิดจากความเห็นชอบของจีนเพียงฝ่ายเดียว
 
รมว.อู๋ฯชี้ว่า ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่สำคัญของ EU และมีบทบาทสำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานระดับโลก ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบไต้หวัน ครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของโลก และแผ่นชิปในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตในไต้หวัน ครองส่วนแบ่งตลาดโลกกว่าร้อยละ 60 หากเกิดสงครามขึ้นในช่องแคบไต้หวัน ก็จะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจโลก ด้วยเหตุนี้ การที่ประชาคมโลกเฝ้าจับตาต่อสถานการณ์ช่องแคบไต้หวันอย่างต่อเนื่อง จะมีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงที่จีนจะก่อสงครามต่อไต้หวัน
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวอีกว่า พลังสนับสนุนไต้หวันจากมิตรสหายนานาชาติ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันยังคงอยู่ รมว.อู๋ฯ จึงขอขอบคุณเอสโตเนียที่ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเป็นรูปธรรม
 
ในช่วงท้าย รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า เป้าหมายของลัทธิอำนาจนิยมคือ การเปลี่ยนแปลงความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ ที่ตั้งอยู่บนกฎกติกาสากล โดยไต้หวันจะไม่ยอมก้มหัวให้ประเทศลัทธิอำนาจนิยม แต่จะมุ่งเสริมสร้างความทรหดของตนเอง และเสริมสร้างความร่วมมือในเชิงลึกกับเอสโตเนียและกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมปกป้องค่านิยมที่พวกเรายึดมั่นและรูปแบบวิถีชีวิตด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพ ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป