กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 5 ธ.ค. 66
เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 4 ธ.ค. นายเฉินลี่กั๋ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “งานเลี้ยงฉลองเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ ประจำปี 2023” ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเป (Thailand Trade and Economic Office, TTEO)
รมช.เฉินฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รู้สึกขอบคุณคณะรัฐมนตรีไทย ที่มีมติยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางไต้หวัน ซึ่งได้มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย. 2566 ไปจนถึง 10 พ.ค. 2567 เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างภาคประชาชนของ 2 ประเทศ โดยรมช.เฉินฯ หวังที่จะเห็นรัฐบาลไทยขยายระยะเวลาการบังคับใช้มาตรการยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่นักท่องเที่ยวไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ไต้หวันนับเป็นแหล่งที่มาของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของไทย มูลค่าการค้าแบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน – ไทยในปีที่แล้ว สูงถึง 13,830 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้ รมช.เฉินฯ จึงหวังว่า ทั้งสองฝ่ายจะเร่งปรับปรุง “ความตกลงด้านการลงทุน ระหว่างไต้หวัน – ไทย” (BIA) เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจร่วมกัน นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ประสบความสำเร็จในการจัดการเลือกตั้งทั่วไป แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณแห่งประชาธิปไตย ทั้งไต้หวันและไทยต่างก็เป็นประเทศประชาธิปไตยที่สำคัญในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก เชื่อว่าในอนาคตทั้งสองฝ่ายจะมุ่งส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างกันในเชิงลึก เพื่อสร้างคุณประโยชน์และความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดแก่ภูมิภาคสืบต่อไป
นายสัณห์ อรุณรักษ์ติชัย รองผู้อำนวยการใหญ่ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการใหญ่ TTEO กล่าวว่า ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไต้หวัน – ไทย ดำเนินมาแต่ช้านาน หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จเยือนไต้หวัน ในปีค.ศ.1963 แล้ว ทั้งสองฝ่ายก็ได้ริเริ่มจัดตั้งโครงการความร่วมมือ “มูลนิธิโครงการหลวง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการพัฒนาทางการเกษตรในพื้นที่ชนบทของไทย ในปีนี้ประจวบกับเป็นวาระครบรอบ 60 ปีที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จเยือนไต้หวัน ประกอบกับการลงทุนในสาขาต่างๆ ในไทยของกลุ่มผู้ประกอบการไต้หวัน ก็ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น แสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนอันแนบแน่นระหว่างภาคประชาชนชาวไต้หวัน – ไทย โดยรัฐบาลไทยคาดหวังที่จะประสานความร่วมมือกับไต้หวัน ในการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการยกระดับสวัสดิการของภาคประชาชน ให้เกิดความยั่งยืนสืบไป
ไทยเป็นประเทศเป้าหมายที่สำคัญภายใต้ “นโยบายมุ่งใต้ใหม่”ของไต้หวัน ตลอดที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้สร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ อาทิ เศรษฐกิจ การค้า แรงงาน การเกษตรและการท่องเที่ยว ซึ่งหลังจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะมุ่งสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันในเชิงลึกตาม “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” บนพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ต่อไป