ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
คกก.ชนพื้นเมืองไต้หวัน จัดการประชุมนานาชาติเนื่องในวาระครบรอบ 27 ปีแห่งการจัดตั้งหน่วยงาน เพื่อร่วมหารือด้านสิทธิชนพื้นเมืองของไต้หวัน สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ชิลี นิวซีแลนด์และแคนาดา
2023-12-13
New Southbound Policy。คกก.ชนพื้นเมืองไต้หวัน จัดการประชุมนานาชาติเนื่องในวาระครบรอบ 27 ปีแห่งการจัดตั้งหน่วยงาน เพื่อร่วมหารือด้านสิทธิชนพื้นเมืองของไต้หวัน สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ชิลี นิวซีแลนด์และแคนาดา (ภาพจาก CIP)
คกก.ชนพื้นเมืองไต้หวัน จัดการประชุมนานาชาติเนื่องในวาระครบรอบ 27 ปีแห่งการจัดตั้งหน่วยงาน เพื่อร่วมหารือด้านสิทธิชนพื้นเมืองของไต้หวัน สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ชิลี นิวซีแลนด์และแคนาดา (ภาพจาก CIP)

คณะกรรมการกิจการชนพื้นเมือง วันที่ 9 ธ.ค. 66
 
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการชนพื้นเมือง (Council of Indigenous Peoples, CIP) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดการประชุมนานาชาติในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชนสากลและสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชนพื้นเมือง‧เปิดเผยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เพื่อเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องและอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ” ณ อาคารสภาบริหารในเขตซินจวงของนิวไทเป โดยมีการหารือใน 3 ประเด็นหลัก คือ ชนเผ่าพื้นเมืองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ แนวทางการเคลื่อนไหวทางสังคมด้านสิทธิมนุษยชน และการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม โดยผู้เข้าร่วมการประชุมได้ร่วมหารือเกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนสากลและสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมือง และกระบวนการสร้างความเข้าใจต่อชนเผ่าพื้นเมืองในภาคประชาสังคมของแต่ละประเทศ
 
CIP แถลงว่า การประชุมนานาชาติครั้งนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมหลัก ในรอบวาระ 27 ปี นับตั้งแต่ที่ได้มีการจัดตั้งหน่วยงาน CIP เป็นต้นมา ซึ่งได้รวบรวมเจ้าหน้าที่กฎหมายทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการในแวดวงการวิจัยด้านชนเผ่าพื้นเมือง เข้าร่วมแบ่งปันการกำหนดกฎระเบียบว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองเข้าสู่กฎหมายรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ และประสบการณ์การส่งเสริมความเข้าใจที่อ้างอิงหลักข้อเท็จจริง ระหว่างกลุ่มชนพื้นเมืองและสังคมส่วนรวมของประเทศ
 
Mr. Icyang Parod ประธานคณะกรรมการกิจการชนพื้นเมืองของไต้หวัน กล่าวเสริมว่า กลุ่มชนพื้นเมืองไต้หวันก้าวผ่านการประท้วงมาเป็นระยะเวลา 10 กว่าปี นับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา จนกระทั่งในปี 1994 ที่ได้มีการกำหนดกฎระเบียบว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมืองเข้าสู่กฎหมายรัฐธรรมนูญ และต่อมาในปี 1997 ได้มีการกำหนดให้กฎระเบียบของชนพื้นเมืองที่มีแนวคิดเรื่องสิทธิร่วมเข้าสู่กฎหมายรัฐธรรมนูญ และได้มีการจัดตั้งกลไกการอนุรักษ์ภาษาชนพื้นเมือง รวมไปถึงการกำหนดนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการยอมรับพหุวัฒนธรรมขั้นพื้นฐาน
 
Mr. Icyang เห็นว่า ในอดีต พวกเราได้เข้าร่วมการประชุมทุกรูปแบบภายใต้ระบบสหประชาชาติ เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนของชนพื้นเมือง เพื่อต้องการบรรลุภารกิจการให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชนชนพื้นเมือง และได้นำร่างกฎหมาย “ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนพื้นเมือง” มาประยุกต์ใช้ในไต้หวัน ซึ่งในภายหลัง สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับข้างต้น ได้ถูกรวบรวมไว้ในนาม “กฎหมายขั้นพื้นฐานของชนพื้นเมือง” ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติเมื่อปี 2005 ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่เกิดก่อนการผ่านญัตติ “ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง”ของสหประชาชาติในปี 2007 นับเป็นหลักชัยสำคัญของการพัฒนาสิทธิมนุษยชนในไต้หวัน
 
 ในช่วงท้าย Mr. Icyang ชี้ว่า สาธารณรัฐชิลีและออสเตรเลีย ได้ทยอยเปิดฉากการลงประชามติว่าด้วยการบรรจุสิทธิชนพื้นเมืองเข้าสู่กฎหมายรัฐธรรมนูญ ในช่วงเดือนกันยายนของปีที่แล้วและตุลาคมของปีนี้ ตามลำดับ แม้ว่าคะแนนเสียงจะไม่เกินครึ่ง แต่ก็ได้รับการจับตามองจากประชาคมโลก แสดงให้เห็นว่า การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชนพื้นเมืองและประเทศชาติ ผ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเป้าหมายร่วมกันของชนพื้นเมืองทั่วโลก CIP พร้อมยืนเคียงข้างกลุ่มชนพื้นเมืองของชิลีและออสเตรเลีย เพื่อร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนร่วมผลักดันกระบวนการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของชนพื้นเมืองทั่วโลกอย่างเต็มที่ต่อไป