กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 14 ธ.ค. 66
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Andrew Dowell บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ประจำภูมิภาคเอเชีย และทีมผู้สื่อข่าวในภูมิภาคเอเชีย โดยเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา นสพ.ฉบับนี้ได้ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ของรมว.อู๋ฯ ที่ประกาศว่า จะหมดวาระตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญในวันที่ 20 พ.ค. 2567 โดยพาดหัวข่าวว่า “หนึ่งในภารกิจการต่างประเทศที่ยากลำบากที่สุดในโลก เตรียมเปิดรับผู้สมัครใหม่แล้ว” ทำให้ได้รับความสนใจจากทุกแวดวงในวงกว้าง
โดย รมว.อู๋ฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนดำรงตำแหน่งรมว.กต.ไต้หวันมาเป็นระยะเวลา รวม 6 ปี แล้ว ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้แบกรับภารกิจรมว.กต.ไต้หวันที่ยากลำบากที่สุดในโลก ไม่ว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ที่มีกำหนดการจะจัดขึ้นในเดือนมกราคมปีหน้านี้ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล จะได้รับชัยชนะหรือไม่ รมว.อู๋ฯ ก็ได้ตัดสินใจแล้วที่จะลงจากตำแหน่งรมว.กต.ไต้หวัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาก่อนหมดวาระ รมว.อู๋ฯ จะยังคงมุ่งมั่นในการปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มที่ต่อไป
นสพ. The Wall Street Journal รายงาน ว่า รมว.อู๋ฯ เป็นรมว.กต.ไต้หวันที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุด นับตั้งแต่ที่ไต้หวันก้าวเข้าสู่กระบวนการทางประชาธิปไตยเป็นต้นมา พร้อมนี้ นสพ. The Wall Street Journal ยังวิจารณ์ว่า การลงจากตำแหน่งของรมว.อู๋ฯ จะทำให้ไต้หวันสูญเสียเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับอาวุโสที่เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศ ที่มีประสบการณ์โชกโชนมากที่สุด ภายใต้สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ - จีน ที่ระส่ำระส่ายอยู่ในขณะนี้
รมว.อู๋ฯ กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์อีกว่า สิ่งที่ตนรู้สึกภาคภูมิใจที่สุดตลอดช่วงที่รับตำแหน่งที่ผ่านมา คือการที่ประชาคมโลกให้ความสนใจต่อไต้หวันเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน และในระยะนี้ เหล่าผู้นำหลายประเทศ ต่างให้การยอมรับต่อความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันว่า เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ไม่สามารถขาดได้ในด้านความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองระดับโลก ควบคู่ไปกับการแสดงจุดยืนต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในช่องแคบไต้หวัน รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า ในช่วงเวลานี้ ประชาคมโลกยิ่งมุ่งมั่นในการปกป้องไต้หวันอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังเห็นว่า นับตั้งแต่ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งรมว.กต.ไต้หวันเป็นต้นมา ตนได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนนานาชาติไปแล้วกว่า 306 ครั้ง เพื่อมุ่งทำหน้าที่ในการเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันอย่างกระตือรือร้น และจะยังคงพยายามต่อไปเพื่อส่งเสริมให้ประชาคมโลกได้ยินเสียงเรียกร้องของไต้หวันอย่างถ้วนหน้า
ต่อกรณีสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันและสถานการณ์ในภูมิภาค รมว.อู๋ฯ เห็นว่า ไต้หวันเฝ้าจับตาต่อสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่รายรอบช่องแคบไต้หวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสงคราม นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นต้นมา ก็ได้แสดงไมตรีจิตอย่างต่อเนื่องในการเปิดการเจรจาอย่างสันติกับจีน แต่เมื่อเผชิญหน้ากับการข่มขู่จากจีนอย่างต่อเนื่อง ไต้หวันจึงจำเป็นต้องเสริมสร้างศักยภาพด้านกลาโหม ควบคู่ไปกับการแสวงหาพลังสนับสนุนจากประชาคมโลก เพื่อสกัดกั้นการรุกรานจากจีน ความทะเยอทะยานในการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน พุ่งเป้ามาที่ไต้หวัน และขยายขอบเขตไปสู่ทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ ซึ่งบรรดาผู้นำของแต่ละประเทศ ต่างได้แสดงจุดยืนว่าด้วยความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ประกอบกับสหรัฐฯ และกลุ่มมิตรประเทศ ต่างอาศัยแผนปฏิบัติการเพื่อธำรงรักษาสันติภาพในภูมิภาค อาทิ การจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรด้านความมั่นคงหลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดผู้นำที่แคมป์เดวิด (Camp David summit) นอกจากนี้ สหรัฐฯ แคนาดา ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ต่างเปิดฉากความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นเกราะป้องกันภัยคุกคามจากจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับกรณีที่หากจีนเข้าข่มขู่ไต้หวันด้วยการปิดล้อมน่านฟ้าช่องแคบไต้หวัน รมว.อู๋ฯ ตอบรับว่า ขณะนี้ ไต้หวันได้เตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ อย่างกระตือรือร้น ทั้งในด้านพลังงาน เสบียงอาหารและคลังอาวุธ รวมถึงความยืดหยุ่นในโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภค เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มาตรการการปิดล้อมถือเป็นพฤติกรรมก่อสงครามตามหลักกฎหมายสากล อันจะนำมาซึ่งผลกระทบที่รุนแรง นอกจากนี้ การเข้าก่อกวนกลไกการจราจรในเขตน่านฟ้าช่องแคบไต้หวัน หรือการขัดขวางระบบห่วงโซ่อุปทานแผ่นชิปวงจรรวมของโลก นอกจากจะเป็นภัยคุกคามต่อไต้หวันแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อทั่วโลกด้วย เชื่อว่าประชาคมโลกไม่สามารถนิ่งนอนใจได้
รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า นอกจากไต้หวันจะมุ่งสร้างความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตร ด้วยการส่งมอบสวัสดิการความผาสุกตาม “รูปแบบไต้หวัน” และการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างประเทศพันธมิตรแล้ว ยังได้มีการจัดตั้งมิตรภาพและความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน และสหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและกลุ่มประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ต่างมีการพัฒนาที่รุดหน้าอย่างต่อเนื่อง อันจะเห็นได้จากการที่นักการเมืองของแต่ละประเทศต่างทยอยเดินทางเยือนไต้หวัน และให้การต้อนรับเจ้าหน้าที่ภาครัฐของไต้หวันในการเดินทางเยือนประเทศของตน รวมไปถึงการประกาศให้การสนับสนุนไต้หวันและต่อต้านพฤติกรรมของจีนในการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมของช่องแคบไต้หวัน บนเวทีนานาชาติที่สำคัญๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นพลังสนับสนุนที่แข็งแกร่ง แม้พวกเราต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันจากจีน แต่ก็รู้สึกได้ว่าไต้หวันไม่โดดเดี่ยว