กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 16 ธ.ค. 2566
การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (UNFCCC COP 28) เปิดฉากขึ้น ณ นครดูไบ ในช่วงระหว่างวันที่ 30 พ.ย. – 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยนายเซวียฟู่เซิ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้นำคณะตัวแทนหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชนของไต้หวัน เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ขององค์การนอกภาครัฐ (NGOs) อาทิ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม (ITRI) โดยยึดมั่นในหลักการ “ความเป็นมืออาชีพ การนำไปปฏิบัติได้จริง และการอุทิศตน” เพื่อบรรลุภารกิจนานาประการในระหว่างการประชุมให้เป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งบังเกิดผลสัมฤทธิ์นานับประการ
ผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญที่คณะตัวแทนของไต้หวันได้รับจากการเข้าร่วมการประชุม COP 28 ในครั้งนี้ ประกอบด้วย :
1. ประเทศพันธมิตรและมิตรประเทศ ต่างให้ความช่วยเหลือแก่ไต้หวันด้วยวิธีการที่เป็นรูปธรรมอย่างกระตือรือร้น พร้อมทั้งให้การยอมรับต่อไต้หวันในความมุ่งมั่นและคุณประโยชน์ด้านการรับมือต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
(1) ตัวแทนประเทศพันธมิตรจาก 12 ประเทศและสมาชิกรัฐสภา “สโมสรฟอร์โมซา” ในภูมิภาคลาตินอเมริกาและพื้นที่แถบทะเลแคริบเบียน จาก 42 ประเทศ รวมจำนวน 378 คน ต่างทยอยยื่นส่งหนังสือให้ Mr. Simon Stiell เลขาธิการบริหาร UNFCCC เพื่อเรียกร้องให้ประชาคมโลกเปิดรับให้ไต้หวันเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ UNFCCC รวมไปถึงกระบวนการเจรจาและกลไกที่เกี่ยวข้องกับความตกลงปารีส (Paris Agreement) จึงจะเห็นได้ว่า พลังเสียงสนับสนุนไต้หวันจากประชาคมโลกขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้นจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด
(2) 11 ประเทศพันธมิตรและมิตรประเทศร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวัน อันจะเห็นได้จากการที่เหล่าผู้นำประเทศและนายกเทศมนตรี 6 ประเทศ ที่ประกอบด้วย H.E. Santiago Peña Palacios ประธานาธิบดีสาธารณรัฐปารากวัย H.E. Surangel Whipps, Jr. ประธานาธิบดีสาธารณรัฐปาเลา Mr. Philip Joseph Pierre นายกรัฐมนตรีเซนต์ลูเซีย Mr. Terrance Drew นายกรัฐมนตรีเซนต์คิดส์และเนวิส Mr. Kausea Natano นายกรัฐมนตรีตูวาลู และ Mr. Russell Mmiso Dlamini นายกรัฐมนตรีเอสวาตินี รวมไปถึงบรรดาเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับรัฐมนตรี 5 ประเทศ ที่ประกอบด้วย สาธารณรัฐเฮติ เบลีซ สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ สาธารณรัฐกัวเตมาลาและสาธารณรัฐนาอูรู ต่างทยอยร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันใน “การประชุมสุดยอดผู้นำแผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ” (World Climate Action Summit) และ “การประชุมเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูง” (High Level Segment) ตามลำดับ ซึ่งมีสัดส่วนและจำนวนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์
2. ระดับของเจ้าหน้าที่การประชุมแบบทวิภาคีและจำนวนครั้งของการประชุม สร้างสถิติใหม่เป็นประวัติการณ์ โดยมีการแลกเปลี่ยนในประเด็นที่หลากหลายเป็นวงกว้าง :
คณะตัวแทนไต้หวันและหน่วยงานสภาบริหารและสภานิติบัญญัติของ 35 ประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ 2 หน่วยงาน ได้ร่วมจัดการประชุมแบบทวิภาคีเป็นจำนวน 46 รอบ โดยได้มีการแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ ที่มีความหลากหลายเป็นวงกว้างกับตัวแทนจากนานาประเทศ อาทิ นโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050 การกำหนดภาษีคาร์บอน การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และแนวทางการบริหารควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น ตลอดจนทำการชี้แจงแผนผลักดันของไต้หวันที่ต้องการเข้าร่วมในกลไกของ UNFCCC
3. ไต้หวันประกาศจัดตั้ง “กองทุนการเปลี่ยนผ่านทางสภาพภูมิอากาศ” กับ 4 ประเทศพันธมิตรในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก
ไต้หวันประกาศอัดฉีดงบประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐจัดตั้ง “กองทุนการเปลี่ยนทางสภาพภูมิอากาศ” ใน 4 ประเทศพันธมิตรที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก ประกอบด้วย ตูวาลู นาอูรู หมู่เกาะมาร์แชลล์และปาเลา ซึ่งนอกจากจะเป็นการขานรับต่อแนวโน้มระหว่างประเทศที่ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องยื่นมือให้ความช่วยเหลือด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ แก่กลุ่มประเทศที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไต้หวันในการสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประชาคมโลก
4.ประสานความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรในการจัดตั้งคูหานิทรรศการแห่งชาติ และจัดการประชุมนอกรอบ เพื่อแสดงถึงมิตรภาพอันแข็งแกร่ง
(1) ประสานความร่วมมือในการจัดตั้งคูหานิทรรศการแห่งชาติ : ไต้หวันและประเทศพันธมิตร เช่น ปาเลา เซนต์คิตส์และเนวิส ร่วมจัดตั้งคูหานิทรรศการแห่งชาติ และกิจกรรมนอกรอบในรูปแบบต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศแบบทวิภาคี และมิตรภาพอันแข็งแกร่ง
(2) การร่วมจัดการประชุมนอกรอบ : ไต้หวันจับคู่กับองค์การนอกภาครัฐ (NGOs) และ 5 ประเทศพันธมิตรในการร่วมจัดการประชุมนอกรอบขึ้นรวม 5 รอบ ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนมากสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีเนื้อหาที่ครอบคลุมในประเด็นที่ทั่วโลกเฝ้าจับตามองในปัจจุบัน อาทิ การเปลี่ยนผ่านด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ความเป็นธรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดสรรงบประมาณด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของ NGO ไต้หวันในการร่วมแลกเปลี่ยนกับนานาประเทศ ในประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
5. กิจกรรมไฮไลท์ของการประชุมนอกรอบและสื่อการประชาสัมพันธ์ ที่ได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถัน ได้รับเสียงชื่นชมจากทุกแวดวง :
(1) คณะตัวแทนไต้หวันและประเทศพันธมิตรและมิตรประเทศ จัดงานเลี้ยงฉลองทางการทูตบนเรือที่มุ่งหน้าไปสู่หมู่เกาะต้นปาล์ม (The Palm Islands) เพื่อร่วมเข้าสำรวจผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้ท้องทะเลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งเปิดฉายผลงานวิดีทัศน์เชิงการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมเรื่อง “Melting Greenland” และวีดิทัศน์บันทึกการกล่าวปราศรัยของนายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวัน เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนกันในประเด็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศกับนานาประเทศในเชิงลึก โดยสำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันประจำดูไบ ก็ได้จัดงานเลี้ยงฉลอง พร้อมทั้งติดต่อเชิญเจ้าหน้าที่ NGO สื่อและองค์กรเอกชนในการเข้าร่วม ส่งผลให้บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
(2) สโลแกนประจำปีนี้ของไต้หวันคือ “แผนปฏิบัติการรับมือกับสภาพภูมิอากาศของไต้หวัน” (Climate Action with Taiwan) โดยได้มีการเผยแพร่โฆษณาแผนผลักดันของไต้หวันทุกสถานีรถไฟฟ้าในเขตตัวเมืองของดูไบ รวม 53 สถานี โดยได้ผนวกเข้ากับรถประชาสัมพันธ์แบบเคลื่อนที่ เพื่อประกาศให้ทั่วโลกเห็นถึงความมุ่งมั่นของไต้หวันในการร่วมผลักดัน “แผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” กับนานาประเทศ และได้รับเสียงตอบรับอย่างคึกคักจากกลุ่มผู้เข้าร่วมการประชุม
(3) ในปีนี้ บทความพิเศษที่เรียบเรียงโดยรมว.เสวียฯ ได้รับการตีพิมพ์จากสื่อต่างชาติ กว่า 109 บทความ นอกจากนี้ ยังมีบทความที่เรียบเรียงโดยสำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันในต่างแดนและบทสัมภาษณ์ของผู้อำนวยการใหญ่ รวม 74 บทความ รายงานที่เป็นมิตรต่อไต้หวันอีก 15 บทความ นอกจากนี้ ผลงานวีดิทัศน์เรื่อง “แผนปฏิบัติการสีเขียวบนเกาะฟอร์โมซา” มียอดผู้เข้าชมทะลุ 23.03 ล้านคนครั้ง และได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อในประเทศควบคู่ไปด้วย