กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 19 ธ.ค. 66
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนระดับแนวหน้า 8 รายของเยอรมนี โดยรมว.อู๋ฯ ได้ชี้แจงในเชิงลึกต่อประเด็นภัยคุกคามที่จีนกระทำต่อไต้หวันด้วยกำลังทหาร ความสำคัญของไต้หวันที่มีต่อประชาคมโลก ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - เยอรมนี เป็นต้น โดยรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องถูกทยอยเผยแพร่ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ Frankfurter Allgemeine Zeitung และหนังสือพิมพ์ Tagesspiegel ของเยอรมนี ซึ่งได้รับความสนใจในวงกว้างจากทุกแวดวงในเยอรมนีและกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมันในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก
รมว.อู๋ฯ กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ว่า ภัยคุกคามที่จีนกระทำต่อไต้หวันด้วยกำลังทหาร นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากรายงานการวิเคราะห์ของไต้หวัน เห็นว่า ในระยะนี้ จีนยังมิได้เตรียมการเข้ารุกรานไต้หวันในวงกว้างอย่างเป็นรูปธรรม เพียงแค่ต้องการใช้กลยุทธ์ “บีบให้คู่ต่อสู้ยอมจำนน แทนการทำสงคราม” ควบคู่ไปกับการก่อสงครามไซเบอร์ การเผยแพร่ข่าวปลอมและสงครามจิตวิทยา ในการสร้างความวิตกกังวลให้เกิดแก่ประชาชน ยุยงให้ผู้คนในสังคมเกิดความแตกแยก ตลอดจนเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในไต้หวัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบีบให้ชาวไต้หวัน ยอมจำนนต่อการผนวกรวมเข้าสู่ส่วนหนึ่งของจีนแต่โดยดี อย่างไรก็ตาม ชาวไต้หวันต่างตระหนักดีถึงวิกฤตข้างต้น ในขณะที่รัฐบาลไต้หวันทำการประชาสัมพันธ์และรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อมิให้จีนประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ
รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า ไต้หวันมีบทบาทสำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานด้านเซมิคอนดักเตอร์ และเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลระดับสากล การที่จีนเข้าคุกคามไต้หวันโดยพลการ จะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของนานาประเทศทั่วโลก โดยความทะเยอทะยานของจีนมิได้จำกัดเฉพาะต่อไต้หวันเท่านั้น แต่ยังแผ่ขยายอิทธิพลไปสู่พื้นที่ทะเลจีนใต้ ทะเลจีนตะวันออก มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ไต้หวันตั้งอยู่ในแนวหน้าของการสกัดกั้นอิทธิพลจากประเทศเผด็จการ หากกลไกการป้องกันประเทศด้วยการพึ่งพาตนเองประสบความล้มเหลว ประเทศอื่นๆ ก็จะพลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย
รมว.อู๋ฯ กล่าวอีกว่า แม้ทั่วโลกจะเฝ้าจับตาต่อสถานการณ์ในยูเครนอย่างใกล้ชิด แต่พลังเสียงสนับสนุนไต้หวันจากสหรัฐฯ กลุ่มประเทศในยุโรปและแคนาดา ก็ยังคงความหนักแน่นเช่นเคย และขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการประชุมของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (G7) หรือการประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป (EU) ต่างก็มีการหยิบยกประเด็นสันติภาพและเสถียรภาพที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมาร่วมอภิปราย แม้ว่าจีนจะเคยปลุกปั่นความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและนานาประเทศ ให้เกิดความแตกแยก แต่ก็ไม่เคยประสบผลสำเร็จ อันจะเห็นได้จากการที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก และกลุ่มประเทศบอลติก ยังคงยึดมั่นในจุดยืนว่าด้วยการยอมรับไต้หวัน การแผ่ขยายอิทธิพลของจีน นอกจากจะไม่ทำให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยเกิดความแตกแยกแล้ว กลับยังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศประชาธิปไตย มีความแนบแน่นมากยิ่งขึ้น
รมว.อู๋ฯ แถลงอีกว่า ความสนับสนุนที่สหรัฐฯ มีต่อไต้หวันเป็นการสนับสนุนในแบบข้ามพรรค ซึ่งจะไม่ผันเปลี่ยนไปตามผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่มีกำหนดจัดขึ้นในปี 2567 นี้ อีกทั้งรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้งครั้งใหญ่ของไต้หวันในปีหน้านี้ ก็จะยังคงยืนหยัดในทิศทางนโยบายการธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของช่องแคบไต้หวันให้คงอยู่ต่อไป ซึ่งขณะนี้ ไต้หวันกำลังอยู่ระหว่างการปฏิรูปทางกลาโหม ประกอบกับกลุ่มประเทศประชาธิปไตยในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ก็กำลังมุ่งเสริมสร้างแสนยานุภาพทางการทหารอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะสามารถป้องกันการปะทุความขัดแย้งในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในช่วงท้าย รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ไต้หวัน - เยอรมนีต่างยึดมั่นในค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพ ภายใต้สถานการณ์ที่กลุ่มประเทศประชาธิปไตยมุ่งสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิอำนาจนิยม กลุ่มประเทศ EU ต่างตระหนักถึงความเสี่ยงของการทำการค้ากับจีน หากเยอรมนีใช้นโยบาย “การลดความเสี่ยง” (de-risking) ไต้หวันก็จะพลอยได้รับผลประโยชน์ในทางอ้อมควบคู่ไปด้วย โดยรมว.อู๋ฯ ยังใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลเยอรมนี ที่ให้การสนับสนุนการธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของช่องแคบไต้หวัน พร้อมนี้ รมว.อู๋ฯ ยังกล่าวด้วยว่า ช่วงที่ผ่านมา บริษัท TSMC หรือTaiwan Semiconductor Manufacturing Co.,Ltd. ตัดสินใจเข้าลงทุนในเมืองเดรสเดิน ประเทศเยอรมนี เชื่อว่าจะส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน - เยอรมนี เกิดความแนบแน่นมากยิ่งขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายควรร่วมพิจารณาหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูง เพื่อเปิดการเจรจาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ระหว่างกันต่อไป