ลวดลายของเหล็กดัด แสดงให้เห็นถึงความมีอิสรเสรี และยังแสดงให้เห็นถึงงานหัตถศิลป์ของช่างเหล็กไต้หวันในสมัยนั้น (ภาพ : จวงคุนหรู)
หลายคนชอบตามหาไข่กาชาปองเวอร์ชันลึกลับ แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ทิวทัศน์ก็มีเวอร์ชันลึกลับเช่นกัน
หากคุณมีโอกาสได้มาเยือนไต้หวัน แนะนำลองเดินไปตามหาบ้านเก่า ๆ ที่แอบซ่อนอยู่ตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ แล้วคุณจะพบว่า ภาพของบ้านเหล่านี้มีอะไรน่าสนใจแอบแฝงอยู่ไม่น้อย อิฐบล็อกหลากสีสันเก่า ๆ ลวดลายอันคลาสสิกของแผ่นกระเบื้อง รวมถึงเหล็กดัดเก่าแก่ที่ติดอยู่ตามประตู หน้าต่างและระเบียงบ้าน ลวดลายและลายเส้นเหล่านี้ จินตนาการได้ถึงความพิถีพิถันในการเล่น “ลวดลาย” ของช่างเหล็กในยุคนั้น
หยางเฉาจิ่ง (楊朝景) และซินหย่งเซิ่ง (辛永勝) ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก “Old House Face” ได้เริ่มสำรวจตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ ของเมืองไถหนานตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 เพื่อสังเกตรายละเอียดรูปลักษณ์ภายนอกของบ้านเก่า ๆ ที่มีเสน่ห์น่าสนใจ โดยทั้งคู่ได้บันทึกภาพบ้านเก่า ๆ เหล่านี้เอาไว้ แล้วนำไปแบ่งปันบนอินเทอร์เน็ต
การค้นหาหน้าต่างเหล็กดัด
จริง ๆ แล้วทั้งหยางเฉาจิ่งและซินหย่งเซิ่ง ต่างก็เป็นแค่คนธรรมดาที่ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมหรือโบราณสถาน ซินหย่งเซิ่งเป็นคนไถหนานที่ย้ายมาอาศัยอยู่ในไทเปเป็นเวลาหลายปี ได้ชวนเพื่อนกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดด้วยกัน พวกเขาได้พากันเดินไปตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ เพื่อชมดูบ้านเก่า ๆ ก่อนจะพบว่า “บรรยากาศของบ้านเก่า ๆ ที่ตั้งอยู่ตามถนนหนทาง มีเสน่ห์ที่ดึงดูดสายตาเป็นอย่างมาก เสมือนเข้าสู่เมืองอื่นที่แตกต่างออกไป”
ลวดลายของเหล็กดัดติดหน้าต่าง ต่างก็มีเรื่องราวของตัวเอง ในระหว่างการตามหาเหล็กดัดหน้าต่างรูปร่างหลากหลาย หากเจ้าของบ้านอยู่บ้านพอดี พวกเขาก็จะเข้าไปทักทายและพูดคุยด้วย การออกแบบเหล็กดัดติดหน้าต่างหลายบานมีความเกี่ยวพันกับอาชีพของเจ้าของบ้าน หากเจ้าของบ้านเป็นที่ปรึกษาสมาคมแว่นตา ก็ทำเหล็กดัดเป็นลายแว่นตา บ้านที่สอนดนตรีก็ทำเหล็กดัดเป็นรูปเครื่องดนตรี เช่น ไวโอลิน เปียโน และกีตาร์ เป็นต้น บางบ้านก็นำเอาชื่อหรือโลโก้บริษัทไปทำเป็นลวดลายของเหล็กดัด “ตามมารยาทของคนไต้หวัน เมื่อเริ่มบทสนทนากัน ก็จะมีความเป็นมิตรเป็นอย่างมาก และมักจะถูกเชิญให้รับประทานผลไม้หรือดื่มจับเลี้ยง แถมยังใจดีช่วยขยับสิ่งของที่วางกีดขวางอยู่เพื่อให้เราถ่ายภาพสวย ๆ ได้ตามสบาย” หยางเฉาจิ่งกล่าว
ในหนังสือ “หน้าตาของบ้านเก่ากับหน้าต่างเหล็กดัด” ของ Old House Face พวกเขาได้กล่าวถึงหน้าต่างเหล็กดัดที่ทำให้รู้สึกประทับใจมากที่สุด คือบ้านหลังหนึ่งที่อยู่ในลู่กัง ซึ่งเจ้าของบ้านได้นำเอาสถานที่ที่มีชื่อเสียงของลู่กั่ง คือ ตึกสืออี๋โหลว และบ่อป้านเปียนจิ่ง (บ่อน้ำครึ่งซีก) มาทำเป็นลวดลายของเหล็กดัดติดหน้าต่าง เทคนิคที่ถูกนำมาใช้ในการทำ แสดงให้เห็นถึงความสวยงามและมีมิติทางสถาปัตยกรรม แถมยังนำเอาความทรงจำในการไปท่องเที่ยวที่ประเทศฝรั่งเศสกับลูกสาว มาทำลวดลายเป็นรูปประตูชัยฝรั่งเศสซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงปารีสอีกด้วย เหล็กดัดติดหน้าต่างเหล่านี้จึงได้กลายมาเป็นบันทึกแห่งความทรงจำประจำตระกูล และใช้ชีวิตอยู่คู่กับเหล่าสมาชิกในครอบครัวไปด้วย
ยังมีเหล็กดัดติดหน้าต่างของบ้านที่ไทจง ซึ่งทำเป็นรูปบรรทัด 5 เส้นของโน้ตดนตรี เจ้าของได้โพสต์ประกาศบนอินเทอร์เน็ตขอให้ชาวเน็ตส่งโน้ตเพลงมาให้ จนกลายเป็น กระแสของเหล่านักสืบคีย์บอร์ดอยู่พักใหญ่ น่าเสียดายที่จนทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ถูกต้อง
แล้วเราจะมองหาเหล็กดัดติดหน้าต่างได้อย่างไร ? หยางเฉาจิ่งแนะนำว่า ให้เดินเข้าไปในเขตเมืองเก่า พยายามเดินไปตามตรอกซอกซอยเล็ก ๆ มักจะได้ผลแบบที่คาดไม่ถึง และยังต้องพยายามมองขึ้นไปที่ชั้นสองหรือชั้นที่อยู่สูงกว่านั้นของอาคารด้วย เพราะอาจมีเซอร์ไพรส์รอเราอยู่ก็เป็นได้
เหล็กดัดติดหน้าต่างตามตรอกซอกซอยต่างๆ เสมือนทัศนียภาพแห่งความเป็นมนุษย์ที่หลอมรวมจิตวิญญาณของวัฒนธรรมท้องถิ่น ประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัย และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไต้หวัน (ภาพ : จวงคุนหรู)
ภาพย่อส่วนของงานหัตถศิลป์ร่วมสมัย
รศ. เฉินเจิ้งเจ๋อ (陳正哲) แห่งคณะสถาปัตยกรรมและ ภูมิทัศน์ของมหาวิทยาลัยหนานหัว (NHU) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบและซ่อมแซมอาคารเก่าในพื้นที่แถบนครไถหนานและเมืองเจียอี้ ได้วิเคราะห์วัสดุที่ใช้สำหรับการก่อสร้างว่า เหล็กถือเป็นโครงสร้างที่มีความยืดหยุ่น คุณสมบัติของมันที่สามารถโค้งงอได้ ถือเป็นจุดเด่นที่วัสดุชนิดอื่นไม่มี ในไต้หวันเริ่มมีการใช้เหล็กมาประดับด้านนอกของอาคารตั้งแต่ในสมัยที่ญี่ปุ่นยังปกครองไต้หวัน โดยในสมัยนั้น จะนิยมใช้ในการประดับตัวอาคารที่เป็นสถานที่ราชการหรืออาคารหรูของเอกชน
การปรากฏตัวของเหล็กดัดติดหน้าต่าง นอกจากเป็นเพราะการก่อตั้งบริษัท China Steel Corp. ซึ่งสามารถป้อนวัตถุดิบของเหล็กให้กับตลาดได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ก็นำมาใช้กันขโมยด้วย สิ่งสำคัญคือ “เหล็กดัดจะถูกออกแบบและจัดทำขึ้นอย่างมีศิลปะ จนถือเป็นงานหัตถศิลป์ประเภทหนึ่ง ซึ่งก็จะมีความเกี่ยวพันกับจิตวิญญาณหลักของการผลิตในไต้หวัน นั่นก็คือ ช่างเหล็กในขณะนั้นนั่นเอง” เฉินเจิ้งเจ๋อกล่าว
ในปี ค.ศ. 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ญี่ปุ่นต้องย้ายออกจากไต้หวัน หากแต่เหล่าช่างเหล็กทั้งหลายในไต้หวันที่เรียนรู้ทักษะมาจากคนญี่ปุ่นก็ยังทำงานของตัวเองในการสร้างบ้านต่อไปเรื่อย ๆ พวกเขาได้สืบทอดจิตวิญญาณแห่งความเป็นมืออาชีพมาจากคนญี่ปุ่น โดยในขณะนั้น ยังไม่มีการเก็งกำไรจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์มากนัก ทำให้การสร้างบ้านส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นเพื่ออยู่อาศัยเอง และถือเป็นบ้านประจำตระกูลของหลาย ๆ คน เฉินเจิ้งเจ๋อชี้ว่า “ผมคิดว่า บ้านที่เกิดขึ้นจากระบบการผลิตของไต้หวัน ซึ่งกลายมาเป็นบ้านที่มีคุณค่าทั้งด้านวัฒนธรรมและหัตถศิลป์ จะถูกสร้างขึ้นในช่วง 30 ปีระหว่างปี ค.ศ. 1950-1979”
นี่คือยุคที่มีเหล็กดัดติดหน้าต่างเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เหล่าช่างเหล็กที่ยึดมั่นในจิตวิญญาณแห่งความเป็นมืออาชีพซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากญี่ปุ่น จะสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองกันอย่างเต็มที่ โดยใช้เหล็กมาทำการวาดภาพ “หากไม่มีนายช่างกลุ่มนี้ ก็จะไม่มีเหล็กดัดติดหน้าต่างสวย ๆ ให้เราได้เห็นกัน ลวดลายของเหล็กดัดเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความมีอิสระและเสรีภาพ” เฉินเจิ้งเจ๋อกล่าว และจากการลงพื้นที่สำรวจของ Old House Face พบว่า ลวดลายของเหล็กดัดต่าง ๆ เหล่านี้ มิได้เกิดขึ้นจากการกำหนดโดยเจ้าของ หากแต่เป็นการเปิดโอกาสให้เหล่านายช่างทั้งหลาย แสดงความสามารถกันได้อย่างเต็มที่ จนทำให้เกิดเป็นผลงานที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้
เหล็กที่ถูกดัดเป็นลวดลายต่าง ๆ
เหล่าช่างเหล็กที่ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์กันอย่างเต็มที่ ได้ทำเหล็กดัดติดหน้าต่างแบบไหนออกมาบ้าง? จากการสำรวจของ Old House Face พบว่า ภาพภูเขาถือเป็นทิวทัศน์ที่มักจะพบเห็นมากที่สุดตามบ้านต่าง ๆ โดยมิใช่มีเพียงรูปร่างเป็นภาพภูเขาเท่านั้น หากแต่ยังมีเส้นสายเป็นลวดลายต่าง ๆ ด้วย เช่น มีก้อนเมฆ พระอาทิตย์ พระจันทร์ และดวงดาวต่าง ๆ ภาพคลื่นในท้องทะเล และลายเส้นเป็นรูปหิมะ เหล็กดัดลายภูเขามีลวดลายที่หลากหลายเป็นอย่างมาก โดยเรามักจะพบเห็นได้ตามอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ทางภาคกลางและภาคใต้ของไต้หวัน
ดอกไม้ ต้นไม้ ก็ถือเป็นลวดลายของเหล็กดัดที่พบเห็นได้ทั่วไป เหล็กแบน ๆ สามารถนำมาดัดเป็นรูปกิ่งก้านสาขาต่าง ๆ ของต้นไม้ได้อย่างลงตัว ซึ่ง Old House Face พบว่า ดอกเหมยและดอกซากุระ ถือเป็นดอกไม้ที่พบเห็นบนลวดลายมากที่สุด การใช้ลายดอกไม้สื่อเป็นนัยว่า ดอกไม้บานนำพาความมั่งคั่ง ลูกท้อสื่อถึงความมีอายุยืน แอปเปิลพ้องเสียงกับความราบรื่นปลอดภัย องุ่นสื่อถึงการมีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง
ส่วนลวดลายที่เป็นสัตว์และแมลง เราจะพบเห็นนก ผีเสื้อ และปลามากที่สุด บ้านของชาวบ้านทั่วไปนิยมทำเป็นลายผีเสื้อและค้างคาว เพราะมีเสียงพ้องกับคำว่าฝู (福) ที่หมายถึงความสุข ส่วนคำมงคลที่ว่า “มีเหลือกินเหลือใช้ (年年有餘 อ่านว่า เหนียนเหนียนหยิ่วอวี๋)” ทำให้ปลา (ภาษาจีนอ่านว่า อวี๋) กลายมาเป็นลวดลายยอดนิยม ส่วนนกยูง นกกระเรียนขาว นกกางเขน และเป็ดแมนดาริน ต่างก็เป็นสัตว์มงคลตามความเชื่อของชนเชื้อสายจีน ทำให้กลายเป็นลวดลายที่พบเห็นได้บ่อยบนเหล็กดัดติดหน้าต่างเช่นกัน
ภาพของลวดลายแห่งเส้นสายที่ต่อเนื่องกันทำให้เราชมดูได้อย่างไม่รู้เบื่อ ราวกับจะทำให้อาคารบ้านเรือนเหล่านี้มีท่วงทำนองและจังหวะที่สอดประสานกันอย่างลงตัว ซึ่งเราจะได้มองเห็นลายเส้นที่สลับกันไปมา บางทีก็มีการฝังก้อนสี่เหลี่ยมสีเหลือง แดง หรือน้ำเงินเอาไว้ ราวกับเป็นงานทัศนศิลป์ของ ปีต โมนดรียาน นอกจากนี้ ยังมีลวดลายของใบป่าน ชีเป่าหรือ 7 สมบัติและเปลือกสน ที่ได้รับอิทธิพลมาจากญี่ปุ่น ภาพในแบบของคาไลโดสโคป หรือลายเส้นที่สลับไปมาระหว่างบนล่างและซ้ายขวา ลายเส้นที่หมุนเป็นเกลียว ภาพสะท้อนเหมือนจากกระจก ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนเป็นจังหวะที่ลงตัว เหมือนกับทำให้เหล็กดัดติดหน้าต่างเหล่านี้ได้ฮัมเสียงเพลงออกมาด้วย
มาร่วมค้นหาความงดงามที่แฝงอยู่ตามตรอกซอกซอยในไต้หวันกันเถอะ! (ภาพ : จวงคุนหรู)
ยิ่งโลคัล ยิ่งโกอินเตอร์
นอกจากลวดลายที่กล่าวถึงแล้ว ยังมีการใช้ตัวอักษรจีนหรือภาษาอังกฤษมาทำเป็นลวดลายของเหล็กดัดเป็นจำนวนไม่น้อยด้วย เช่นคำว่า ชุน (春 - ฤดูใบไม้ผลิ) ฝู (福 - ความสุข) โซ่ว (壽 - อายุยืน) หรือใช้แซ่ของตัวเอง ถิ่นกำเนิด มาทำเป็นลวดลาย และยังมีการใช้สิ่งของ เช่น แจกัน น้ำเต้า เพื่อสื่อความหมายความสงบสุขและมียศถาบรรดาศักดิ์ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต่างก็มีความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับวัฒนธรรมท้องถิ่น อีกทั้งยังมีลายหงส์มังกรนำโชค กระต่ายหยกตำยา ปลากระโดดข้ามประตูมังกร หรือที่ตำบลอู้ไถของผิงตง มีคนใช้ภาพใบหน้าของชนเผ่าหลูข่าย รวมถึงเสื้อผ้าของชนเผ่าผายวัน มาทำเป็นลวดลายของเหล็กดัด ซึ่งต่างก็มีจุดเริ่มต้นจากวัฒนธรรมท้องถิ่น กลายมาเป็นลวดลายที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของบ้าน
นอกจากนี้ Old House Face ก็มีกลุ่มแฟนเพจจากต่างประเทศที่ร่วมแบ่งปันภาพของลวดลายเหล็กดัดในประเทศของตน เช่น กลุ่ม Mengoushi Fan Club (ชมรมคนรักเหล็กดัดติดหน้าต่าง) ของญี่ปุ่นก็ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ Old House Face โดยหยางเฉาจิ่งยกตัวอย่างว่า ในเมืองปีนังและมะละกาของมาเลเซียซึ่งมีคนเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ลวดลายของเหล็กดัดซึ่งเป็นที่นิยมคือรูปโคมไฟสีแดง หรือ ใช้ชื่อร้านค้า ส่วนชาวมุสลิมในพื้นที่นิยมใช้ลวดลายรูปพระจันทร์และดวงดาว หรือในประเทศไทยก็มีคนทำเหล็กดัดเป็นลายพระพุทธรูป ซึ่งต่างก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นโลคัลที่โกอินเตอร์ได้อย่างไม่ขัดเขิน
มิใช่เป็นเพียงหน้าต่าง
เฉินเจิ้งเจ๋ออธิบายว่า การที่บ้านเก่า ๆ เหล่านี้มีโอกาสได้กลับมาเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนอีกครั้ง คือภาพย่อส่วนของความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของไต้หวัน พัฒนาการทางประชาธิปไตยและการต่อสู้ทางสังคมอย่างยาวนานของไต้หวัน ก็เพื่อค้นหาความเป็นตัวตนของตัวเอง เรามีโอกาสได้หันกลับมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรามีอยู่ เขาใช้พีระมิดมาเปรียบเทียบว่า สิ่งที่อยู่บนยอดของพีระมิด คือ สถาปัตยกรรมชั้นยอดซึ่งคนส่วนใหญ่เห็นว่ามีคุณค่าทางวัฒนธรรม โดยสิ่งที่อยู่ช่วงกลางถึงด้านบนของพีระมิด คือ บ้านที่ถือเป็นวัฒนธรรมของคนธรรมดาทั่วไป และสิ่งที่เหล็กดัดติดหน้าต่างแสดงให้เราได้เห็น ก็คือภาพย่อส่วนของ “งานหัตถศิลป์ร่วมสมัย” นั่นเอง
นอกจาก Old House Face จะบันทึกเรื่องราวของเหล็กดัดติดหน้าต่างแล้ว ยังได้นำเอาเหล็กดัดเหล่านี้มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานในด้านอื่นด้วย ในงานนิทรรศการการออกแบบไต้หวันที่จัดขึ้นในปี ค.ศ. 2022 พวกเขาได้นำเอาภาพของอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ในไต้หวัน เช่น สถานีรถไฟฉีซานในเกาสง ห้างสรรพสินค้าฮายาชิและภูเขาเกลือชีกูในไถหนาน รวมถึงเมืองจิ่วเฟิ่นในนิวไทเป มาเป็นธีมในการออกแบบภาพประกอบระบายสี โดยเปลี่ยนจุดและลวดลายต่าง ๆ ของเหล็กดัดติดหน้าต่างให้กลายเป็นทิวทัศน์แห่งท้องถนนที่ผสานเข้ากับชีวิตอย่างใกล้ชิด ปัจจุบัน งานของหยางเฉาจิ่งและซินหย่งเซิ่ง ได้เปลี่ยนจากการถ่ายทอดและแบ่งปัน ไปสู่การส่งเสริมและผลักดัน โดยหวังให้ทุกคนได้มีโอกาสเห็นภาพทิวทัศน์อันแปลกตาของไต้หวัน “เหล็กดัดติดหน้าต่างถือเป็นภาพของความทรงจำแห่งชีวิตของคนไต้หวันในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา และมีคุณค่ามากพอที่จะชักชวนให้เพื่อน ๆ ต่างชาติมาร่วมสัมผัสกับวัฒนธรรมของไต้หวัน”
เมื่อคุณกลับมาไต้หวันในครั้งต่อไป ขอแนะนำให้ลองเดินเข้าไปตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ เพื่อค้นหาสิ่งใหม่ ๆ แล้วก็จะมีโอกาสได้พบเห็นสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อีกครั้งที่เสมือนทิวทัศน์แห่งความเป็นมนุษย์ที่หลอมรวมจิตวิญญาณของวัฒนธรรมท้องถิ่น ประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัย และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไต้หวัน”.
เพิ่มเติม
ทิวทัศน์ที่ซ่อนอยู่ในตรอกซอกซอย ขอคารวะต่อความมีอิสรเสรีของเหล่าเหล็กดัดหน้าต่าง