ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กต.ไต้หวันชี้แจงต่อแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมพหุภาคีครั้งแรกระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่ย้ำความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน
2024-01-08
New Southbound Policy。กต.ไต้หวันชี้แจงต่อแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมพหุภาคีครั้งแรกระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่ย้ำความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
กต.ไต้หวันชี้แจงต่อแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมพหุภาคีครั้งแรกระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่ย้ำความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 7 ม.ค. 67
 
เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ตามเวลาในเขตตะวันออกของสหรัฐฯ Mr. Dan Kritenbrink ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก Mr. Kobe Yasuhiro อธิบดีกรมนโยบายการต่างประเทศ ภายใต้สังกัดกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น และ Mr. Chung Byung-won รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ได้ร่วมจัดการประชุมพหุภาคี ระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี พร้อมทั้งได้ประกาศแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยได้ระบุจุดยืนที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันที่ไม่สามารถขาดได้ ต่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองในประชาคมโลก รวมไปถึงการแสดงจุดยืนต่อต้านพฤติกรรมของจีนที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ผ่านการข่มขู่ด้วยกำลังทหารหรือแรงกดดัน ด้วยการปฏิบัติภารกิจเดินเรือที่ผิดกฎหมายและการเพิ่มความตึงเครียดในพื้นที่ทะเลจีนใต้ กต.ไต้หวันรู้สึกยินดีและขอขอบคุณสำหรับการแสดงจุดยืนอย่างเปิดเผยว่าด้วยการสนับสนุนสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ควบคู่ไปกับการแสดงจุดยืนอย่างหนักแน่นในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงของสถานภาพเดิมด้วยกำลังทหารหรือบังคับข่มขู่ ต่อเนื่องจากการประชุมสุดยอดผู้นำพหุภาคี ระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2566
 
ระยะที่ผ่านมา จีนได้ทวีความรุนแรงในการข่มขู่ด้วยกำลังทหารและจงใจสร้างแรงกดดันต่อไต้หวัน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานี้ จีนได้อาศัยบอลลูนอากาศในการรุกล้ำเส้นกึ่งกลางช่องแคบไต้หวัน และข้ามเขตแดนเข้าสู่พื้นที่สีเทาในน่านน้ำของไต้หวันเพื่อก่อกวน พร้อมทั้งสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจ เช่น การยุติสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรของสินค้าบางตัว ภายใต้ “กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-ไต้หวัน” (Economic Cooperation Framework Agreement, ECFA) รวมไปถึงการก่อสงครามจิตวิทยาในทุกรูปแบบ เพื่อต้องการสร้างผลกระทบต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหญ่ของไต้หวันที่ใกล้จะเปิดฉากขึ้นในเร็ววันนี้ ตลอดจนเป็นการสร้างความท้าทายต่อความมั่นคงในภูมิภาค ส่งผลให้ประชาคมโลกร่วมแสดงจุดยืนให้ความสำคัญอย่างสูง โดยตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา แถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดผู้นำระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ การประชุมระดับรัฐมนตรีระหว่างสหรัฐฯ - ออสเตรเลีย (AUSMIN) การประชุมของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (G7) รวมถึงการประชุมระหว่างรัฐมนตรีการต่างประเทศ ต่างสะท้อนให้เห็นว่า ความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ได้กลายเป็นฉันทามติร่วมกันของประชาคมโลกแล้ว ในฐานะที่ไต้หวันเป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบของประชาคมโลก พวกเราจะมุ่งประสานความร่วมมือกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันต่อไป เพื่อร่วมส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป