กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 8 ม.ค. 67
นายหลี่ฉุน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำสหภาพยุโรปคนปัจจุบัน ในระหว่างที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Marco Clementi ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติอิตาลี (RAI) ที่ประจำการในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้ถูกบันทึกลงในสารคดีเรื่อง Taiwan la bella ribelle ซึ่งถูกเผยแพร่ผ่านรายการ TG1Speciale ของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติอิตาลี ช่อง 1 (Rai 1) เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยได้รับความสนใจในวงกว้างจากทุกแวดวงในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาอิตาลี
ผู้แทนหลี่ฯ กล่าวว่า ประชาคมโลกต่างจับตาและให้ความสำคัญต่อสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันที่ทวีความตึงเครียดมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชาวไต้หวันกลับสามารถใช้ชีวิตตามปกติ กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างคึกคัก แม้ว่าแนวทางในการปฏิบัติของนายสีจิ้นผิง ผู้นำจีน จะยากต่อการคาดเดา แต่ตามบทวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญไต้หวัน ระบุตรงกันว่า มีความเป็นไปได้ไม่มากนักที่จีนจะเข้ารุกรานไต้หวันด้วยกำลังทหารในช่วงระยะเวลานี้ ในส่วนของการเพิ่มงบประมาณทางกลาโหม และการจัดส่งเครื่องบินรบบินข้ามเส้นกึ่งกลางช่องแคบไต้หวัน ต่างก็เป็นมาตรการที่สร้างภาพให้การเลือกตั้งประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ดูเหมือนเป็นการเลือกระหว่างสงครามหรือสันติภาพ ซึ่งล้วนแต่แฝงไว้ด้วยนัยยะในการข่มขู่และยุยงให้สังคมไต้หวันเกิดความแตกแยก เพื่อต้องการที่จะบรรลุเป้าหมาย “บีบให้คู่ต่อสู้ยอมจำนน แทนการทำสงคราม”
ผู้แทนหลี่ฯ กล่าวอีกว่า หากจีนประสบความล้มเหลวในการเข้ารุกรานไต้หวัน ก็จะส่งผลกระทบต่อสถานภาพผู้นำของปธน.สีจิ้นผิง หากสามารถบีบให้ไต้หวันยอมจำนน โดยที่ไม่ต้องก่อสงคราม ควบคู่ไปกับการลิดรอนสิทธิของไต้หวันในเวทีนานาชาติ จึงเป็นกลยุทธ์ที่จีนคิดว่าสอดคล้องกับผลประโยชน์สูงสุดของตัวเองแล้ว
ต่อประเด็นที่ว่า ความสนับสนุนที่สหรัฐฯ มีต่อไต้หวันเพียงพอหรือไม่นั้น ผู้แทนหลี่ฯ ชี้ว่า ศักยภาพในการป้องกันประเทศเป็นแนวทางการธำรงรักษาสันติภาพที่ดีที่สุด ความมุ่งมั่นตั้งใจในการป้องกันประเทศด้วยตนเองของประชาชนชาวไต้หวัน ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะคว้าชัยชนะมาครอง ไต้หวันขอแสดงความขอบคุณ ที่สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือไต้หวันมาอย่างยาวนาน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและกลาโหม นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขึ้นดำรงเป็นต้นมาตราบจนปัจจุบัน ได้อนุมัติการจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ไต้หวันแล้ว รวม 11 ครั้ง จึงเห็นได้ว่า นอกจากความสนับสนุนอย่างเต็มที่ จะมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างศักยภาพทางกลาโหมแล้ว ยังเป็นการปลุกความฮึกเหิมและความเชื่อมั่นของประชาชนชาวไต้หวันควบคู่ไปด้วย
ผู้แทนหลี่ฯ ชี้ว่า นอกจากการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ แล้ว หลายปีมานี้ ไต้หวันยังขยายขอบเขตความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างต่อเนื่อง พร้อมยกกรณีตัวอย่างของประเทศในยุโรปมาประกอบการชี้แจงว่า ช่วงที่ผ่านมา กลุ่มประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก เช่น โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก และสโลวีเนีย ต่างก้าวข้ามกรอบจำกัดทางการเมือง ด้วยการเปิดบริบทการแลกเปลี่ยนในรูปแบบต่างๆ กับไต้หวัน ผู้แทนหลี่ฯ ยังชี้อีกว่า แม้หลายประเทศต่างชู “นโยบายจีนเดียว” แต่นัยยะของเนื้อความตามนโยบายกลับแตกต่างจากหลักการที่ว่า “ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน” และการเรียกร้องให้นานาประเทศยอมรับ “หลักการจีนเดียว” ของจีน ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวนี้มีส่วนช่วยให้ไต้หวันสามารถแสวงหาโอกาสในการเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งยังทำให้ไต้หวันได้รับการสนับสนุนจากประชาคมโลกมากยิ่งขึ้น