ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่ The New York Times ชี้ จีนแทรกแซงการเลือกตั้ง พร้อมท้าทายความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่ตามกติกาสากล
2024-01-12
New Southbound Policy。รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่ The New York Times ชี้ จีนแทรกแซงการเลือกตั้ง พร้อมท้าทายความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่ตามกติกาสากล (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่ The New York Times ชี้ จีนแทรกแซงการเลือกตั้ง พร้อมท้าทายความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่ตามกติกาสากล (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 11 ม.ค. 67
 
เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Nicholas Kristof ผู้เขียนบทวิจารณ์ของหนังสือพิมพ์ The New York Times โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้รับการเผยแพร่ผ่านรายงานข่าว เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา ในหัวข้อ “เมื่อประชาธิปไตยกลายเป็นภัยคุกคาม” (When Democracy Is a Threat) โดยบทสัมภาษณ์ข้างต้นเป็นการอภิรายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเจตนาและพฤติกรรมการแทรกแซงการเลือกตั้งของไต้หวันโดยจีน ซึ่งช่วยให้ประชาคมโลกตระหนักถึงภัยคุกคามของลัทธิอำนาจนิยมจากจีนที่มีต่อกลุ่มประเทศประชาธิปไตย
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2539 ที่ได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในไต้หวันเป็นครั้งแรก จีนก็พยายามที่จะเข้าแทรกแซง แต่วิธีการได้ทวีความซับซ้อนมากขึ้นจากเดิม นอกจากความท้าทายแบบเดิมๆ ผ่านการข่มขู่ด้วยกำลังทหารและแรงกดดันทางเศรษฐกิจแล้ว ยังสร้างภาพลวงของการเลือกตั้งไต้หวันในครั้งนี้ว่า เป็นการเลือกระหว่างสงคราม – สันติภาพ หรือเลือกระหว่างความเจริญรุ่งเรือง – ความเสื่อมถอย เพื่อสร้างอิทธิพลต่อการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชน
 
รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า ตลอดทั้งปี 2567 จะมีการจัดการเลือกตั้งในแบบประชาธิปไตยขึ้นในไต้หวันรวม 40 รายการ ซึ่งขณะนี้ จีนกำลังใช้ไต้หวันเป็นสนามทดลอง หากจีนประสบความสำเร็จในการเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งในไต้หวัน ในอนาคต จีนก็อาจจะนำประสบการณ์นี้ไปใช้กับกลุ่มประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ อันจะเป็นการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกาสากล และเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อจีนต่อไป
 
ต่อประเด็น “ความไม่ไว้วางใจต่อสหรัฐฯ” รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า จีนได้อ้างว่าสหรัฐฯ ใช้ไต้หวันเป็นเครื่องมือในการต่อกรกับจีน เปรียบเสมือนการใช้ยูเครนมาต่อกรกับรัสเซีย และยังเรียกร้องให้บริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Co.,Ltd. (TSMC) ลงทุนตั้งโรงงานขึ้นในสหรัฐฯ เพื่อต้องการทำลายระบบเศรษฐกิจของไต้หวัน พร้อมอ้างว่าผลสำรวจของภาคประชาชนหลังภัยสงครามรัสเซีย – ยูเครน ชี้ชัดว่า ความไว้วางใจที่ประชาชนชาวไต้หวันมีต่อสหรัฐฯ ลดลงจากเมื่อช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วกว่าร้อยละ 10 สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นการเตือนให้เรายิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังตัวเองมากขึ้น
 
รมว.อู๋ฯ ยังย้ำว่า จีนจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงในญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 เพื่อเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมของช่องแคบไต้หวัน พร้อมทั้งกล่าวอ้างว่า ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไต้หวันเป็นเรื่องการเมืองภายในของจีน แต่ในความเป็นจริงแล้ว สาธารณรัฐประชาชนจีนไม่เคยได้เข้าปกครองไต้หวันเลยแม้แต่วันเดียว โดยที่ไต้หวันยังคงจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีตามกระบวนการทางประชาธิปไตยทุกๆ 4 ปี
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวอีกว่า การแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการจากจีนในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ได้สร้างภัยคุกคามต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันจึงตระหนักถึงวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน และเปิดการเจรจาและความร่วมมือแบบพหุภาคีอย่างกระตือรือร้น เช่น การประชุมสุดยอดผู้นำที่แคมป์เดวิด (Camp David summit) นอกจากนี้ สหรัฐฯ แคนาดาและออสเตรเลีย ต่างก็ได้ขยายขอบเขตความร่วมมือทางความมั่นคงกับฟิลิปปินส์ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือของพื้นที่ในระยะห่วงโซ่ที่ 1 ไว้สำหรับการรับมือกับการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก
 
รมว.อู๋ฯ ย้ำด้วยว่า การรุกรานยูเครนของกองทัพรัสเซีย เป็นการเตือนกลุ่มประเทศประชาธิปไตยว่า กลุ่มประเทศลัทธิอำนาจนิยมอาจเข้ารุกรานประเทศรายรอบได้ทุกเมื่อ แม้จะไม่ได้ถูกท้าทายมาก่อนเลยก็ตาม กลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกควรมอบความสนับสนุนให้ยูเครนสามารถคว้าชัยชนะได้ในท้ายที่สุด และเพื่อเป็นการส่งสารให้ประเทศเผด็จการรับรู้ว่า การก่อสงครามต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้านจากประชาคมโลกอย่างเต็มกำลัง