ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
นรม.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้การต้อนรับคณะตัวแทนสมาคมการค้าไต้หวัน – สหรัฐฯ (USTBC) หวังเห็นทั้งสองฝ่ายแก้ไขปัญหาการเก็บภาษีซ้ำซ้อน พร้อมยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า
2024-01-23
New Southbound Policy。นรม.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้การต้อนรับคณะตัวแทนสมาคมการค้าไต้หวัน – สหรัฐฯ (USTBC) หวังเห็นทั้งสองฝ่ายแก้ไขปัญหาการเก็บภาษีซ้ำซ้อน พร้อมยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า (ภาพจากสภาบริหาร)
นรม.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้การต้อนรับคณะตัวแทนสมาคมการค้าไต้หวัน – สหรัฐฯ (USTBC) หวังเห็นทั้งสองฝ่ายแก้ไขปัญหาการเก็บภาษีซ้ำซ้อน พร้อมยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า (ภาพจากสภาบริหาร)

สภาบริหาร วันที่ 22 ม.ค. 67
 
เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา นายเฉินเจี้ยนเหริน นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับคณะตัวแทนสมาคมการค้าไต้หวัน – สหรัฐฯ (U.S.-Taiwan Business Council , USTBC) โดยนรม.เฉินฯ กล่าวว่า สมาคม USTBC มุ่งมั่นในการผลักดันเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ อย่างกระตือรือร้นเสมอมา สมาชิกคณะตัวแทนในครั้งนี้ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ในแวดวงอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ เทคโนโลยีขั้นสูง พลังงานและการเงิน ซึ่งล้วนแต่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่มีต่อตลาดไต้หวันและความสัมพันธ์ทางความร่วมมือกับผู้ประกอบการไต้หวัน ของเหล่าผู้ประกอบการสหรัฐฯ นรม.เฉินฯ เน้นย้ำว่า รัฐบาลไต้หวันจะมุ่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางการลงทุนที่มั่นคงอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมการลงทุนแบบทวิภาคี นรม.เฉินฯ คาดหวังที่จะประสานความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการแก้ไขปัญหาการเก็บภาษีซ้ำซ้อน โดยหวังว่า USTBC จะทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงเพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลสหรัฐฯ ตระหนักถึงความสำคัญในประเด็นดังกล่าว และสนับสนุนไต้หวันอย่างเต็มกำลัง เพื่อส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ก้าวสู่บริบทใหม่ในภายภาคหน้าต่อไป
 
เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคี ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ นรม.เฉินฯ กล่าวว่า ไต้หวัน – สหรัฐฯ ต่างมีการขยายตัวเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในด้านการค้าและการลงทุนแบบทวิภาคี จากรายงานข้อมูลสถิติของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่า ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – พฤศจิกายนของปี 2566 สหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของไต้หวัน ส่วนไต้หวันเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของสหรัฐฯ มูลค่าการค้ารวมมากกว่า 133,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในด้านการลงทุน สหรัฐฯ เป็นแหล่งที่มาของเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของไต้หวัน และเป็นแหล่งที่มาด้านเทคโนโลยีชั้นสูงของไต้หวัน ทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือทางการลงทุนแบบทวิภาคี โดยเฉพาะในด้านเซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยี AI และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ หลังจากที่บริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Co.,Ltd. (TSMC) เข้าลงทุนในสหรัฐฯ แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้กลุ่มผู้ประกอบการในระบบห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปตั้งโรงงานในสหรัฐฯ ด้วย เช่น การจัดตั้งศูนย์ออกแบบวงจรรวม IC ในสหรัฐฯ ของบริษัท MediaTek Inc. พร้อมกันนี้ บริษัท Google , Amazon และ Micron Technology ต่างก็อัดฉีดเงินลงทุนในไต้หวันด้วยวิธีการที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งให้การยอมรับว่าไต้หวันเป็นแหล่งการลงทุนที่มั่นคงและเชื่อถือได้
 
นรม.เฉินฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อส่งเสริมการลงทุนแบบทวิภาคี รัฐบาลไต้หวันคาดหวังที่จะร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการแก้ไขปัญหาการเก็บภาษีซ้ำซ้อน เมื่อช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการด้านการจัดสรรงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้มีมติเห็นชอบต่อข้อตกลงทางภาษีที่ครอบคลุมในประเด็นการหลีกเลี่ยงและป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อน โดยนรม.เฉินฯ หวังที่จะเห็น USTBC ชี้แจงให้รัฐบาลสหรัฐฯ ตระหนักถึงความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าว ว่าจะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการสหรัฐฯ มีเงินทุนที่อัดฉีดเข้าสู่ภาคธุรกิจได้มากขึ้นสำหรับการลงทุนในไต้หวัน และยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงทางด้านภาษีอากร เพื่อสร้างช่องทางการพัฒนาให้แก่อุตสาหกรรมแบบทวิภาคีและการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคลากรทั้งสองฝ่ายในภายภาคหน้าต่อไป
 
นรม.เฉินฯ ยังระบุอีกว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 รัฐบาลไต้หวันได้ประกาศ “แผนริเริ่มทางการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21” เป็นครั้งแรก และได้มีการลงนามความตกลงฉบับแรก ภายใต้แผนความร่วมมือข้างต้นไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 โดยทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการเจรจาในประเด็นต่างๆ ภายใต้ข้อตกลงข้างต้นอยู่เป็นวาระประจำ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังจะมุ่งสร้างความร่วมมือในประเด็นต่างๆ อาทิ ความยืดหยุ่นทางระบบห่วงโซ่อุปทาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการเปลี่ยนผ่านของพลังงาน เป็นต้น ผ่านกลไกความร่วมมืออย่างการเจรจาหุ้นส่วนเพื่อความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ (Taiwan-US Economic Prosperity Partnership Dialogue, EPPD) และกรอบความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนทางเทคโนโลยี (TTIC) โดยกลไกการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ อย่างมีระบบแบบแผน สามารถช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ให้ดำเนินไปในทิศทางเชิงลึกได้
 
Mr. Keith Krach ประธานสถาบันวิจัย Krach Institute for Tech Diplomacy กล่าวว่า ในระหว่างที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบกิจการทางเศรษฐกิจและการทูตของสหรัฐฯ การคิดค้นแผนพัฒนาและบริหารกลยุทธ์ความมั่นคงทางเศรษฐกิจระดับโลก ถือเป็นภารกิจสำคัญของตน ซึ่งไต้หวันเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญภายใต้แผนกลยุทธ์ข้างต้น เนื่องจากไต้หวันเป็นต้นแบบด้านเสรีภาพและเป็นแกนหลักสำคัญในด้านประชาธิปไตย ซึ่งมีศักยภาพสูงในด้านนวัตกรรมและความเจริญรุ่งเรืองด้านประชาธิปไตย จึงไม่สามารถมองข้ามได้
 
Mr. Krach กล่าวอีกว่า เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2566 ตนเคยเดินทางเยือนไต้หวัน เพื่อประกาศข่าวการจัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมและความเจริญรุ่งเรืองของไต้หวัน” (TCIP) ของสถาบันวิจัย Krach Institute for Tech Diplomacy โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เชื่อถือได้ ในการผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวันและการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อยกระดับสถานภาพของไต้หวันในเวทีนานาชาติ
 
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการด้านความมั่นคงทางเทคโนโลยีระดับโลก (Global Tech Security Commission) ที่ Mr. Krach เป็นประธานร่วม มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งเครือข่ายทางเทคโนโลยีที่เชื่อถือได้ระดับโลก โดยไต้หวันเป็นหุ้นส่วนทางความร่วมมือที่ไว้วางใจได้ การเดินทางมาในครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการสร้างความสัมพันธ์ทางความร่วมมือกับไต้หวันในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน