ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 25 ม.ค. 67
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับคณะตัวแทน “กลุ่มพันธมิตรไต้หวันในรัฐสภาสหรัฐฯ” (Congressional Taiwan Caucus) ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ โดยปธน.ไช่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อประธานรัฐสภาสหรัฐฯที่ให้การสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ อย่างไม่แบ่งแยกฝักฝ่ายเสมอมา พร้อมหวังว่า “ร่างกฎหมายว่าด้วยการลดหย่อนและยกเลิกการเก็บภาษีซ้ำซ้อนแบบเร่งด่วน ระหว่างสหรัฐฯ – ไต้หวัน” จะถูกประกาศใช้ในเร็ววัน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการแลกเปลี่ยนแบบเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ต่อไป ปธน.ไช่ฯ กล่าวด้วยว่า ไต้หวันจะก้าวไปบนเส้นทางแห่งประชาธิปไตยอย่างหนักแน่น และจะก้าวไปสู่เวทีโลกต่อไป พร้อมคาดหวังที่จะขยายขอบเขตการแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวันกับนานาประเทศ ผ่านการร่วมแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในกลุ่มประเทศประชาธิปไตย และผลักดันการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองในระดับโลกต่อไป
ปธน.ไช่ฯ แถลงอีกว่า หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อช่วงที่ผ่านมาสำเร็จลงอย่างราบรื่น พวกเราได้รับรู้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐสภาสหรัฐฯ แบบข้ามพรรคนับร้อยต่างก็ร่วมแสดงความยินดีกับไต้หวัน ซึ่งนอกจาก “กลุ่มพันธมิตรไต้หวันในรัฐสภาสหรัฐฯ” ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จะประกาศแถลงการณ์ร่วมในทันทีหลังเสร็จสิ้นการจัดการเลือกตั้ง เพื่อให้การยอมรับต่อการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยของไต้หวัน Mr. Mario Diaz-Balart และ Mr. Ami Bera 2 ประธานร่วมก็ยังได้เดินทางเยือนไต้หวันเพื่อร่วมแสดงความยินดีด้วยตนเอง แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญและความสนับสนุนที่มีต่อไต้หวัน
ประจวบกับปีนี้เป็นวาระครบรอบ 45 ปีของ “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” การเดินทางมาเยือนของคณะตัวแทน จึงมีนัยยะที่สำคัญเพิ่มมากขึ้น ปธน.ไช่ฯ จึงได้ใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อพลังสนับสนุนที่รัฐสภาสหรัฐฯ มีต่อไต้หวันอย่างไม่แบ่งแยกฝักฝ่าย โดยเฉพาะ “กลุ่มพันธมิตรไต้หวันในรัฐสภาสหรัฐฯ” ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ เสมอมา
ปธน.ไช่ฯ ชี้ด้วยว่า ในปี 2562 “กลุ่มพันธมิตรไต้หวันในรัฐสภาสหรัฐฯ” ได้รวบรวมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบข้ามพรรค จำนวน 161 คน ในการร่วมลงนามว่าเพื่อสนับสนุนให้ไต้หวัน - สหรัฐฯ เร่งเจรจาลงนามความตกลงทางการค้าแบบทวิภาคี และในปี 2565 “กลุ่มพันธมิตรไต้หวันในรัฐสภาสหรัฐฯ” ก็ได้รวบรวมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 200 คน ร่วมลงนามสนับสนุนให้รวมไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งใน “โครงสร้างทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก” ของสหรัฐฯ ซึ่งแผนปฏิบัติการเหล่านี้เป็นการปูรากฐานที่สำคัญสำหรับ “แผนริเริ่มทางการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21” ด้วย
Mr. Diaz-Balart ชี้ว่า ตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้ประสานความร่วมมือกับปธน.ไช่ฯ และรัฐบาลไต้หวันในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญร่วมกัน สำหรับประเด็นด้านภาษีซ้ำซ้อนที่ปธน.ไช่ฯ กล่าวถึง เชื่อว่าจะได้รับข่าวดีในเร็ววันนี้
ส่วน Mr. Bera ได้แสดงความขอบคุณต่อปธน.ไช่ฯ ที่มุ่งมั่นธำรงรักษาสันติภาพ เสรีภาพและประชาธิปไตย อย่างต่อเนื่องเสมอมา รัฐสภาสหรัฐฯ ตระหนักดีถึงปัญหาด้านความท้าทายในบริเวณช่องแคบไต้หวันที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคต้องเผชิญร่วมกัน Mr. Bera กล่าวด้วยว่า ผู้ที่มีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในปัจจุบัน ไม่ใช่ประชาชนชาวไต้หวันหรือสหรัฐฯ แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงที่ปรากฎตรงหน้าคือ เกิดจากการคุกคามโดยอำนาจเผด็จการของรัฐบาลปักกิ่ง ด้วยเหตุนี้ กลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่ยึดมั่นในหลักเสรีภาพและประชาธิปไตย จึงควรที่จะมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการเผชิญหน้าร่วมกัน