กระทรวงการต่างประเทศ
นายวินสตัน ปีเตอร์ส (Winston Peters) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนางจูดิธ คอลลินส์ (Judith Collins) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของประเทศนิวซีแลนด์ เดินทางเยือนออสเตรเลียระหว่างวันที่ 31 มกราคม- 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในระหว่างนี้ ได้เข้าร่วม“การประชุมร่วมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมระหว่างออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์”(Australia-New Zealand Ministerial Consultations – ANZMIN) ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีนายริชาร์ด มาลส์ (The Honourable Richard Marles) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนางสาวเพนนี หว่อง (Penny Wong) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลียเข้าร่วมประชุมด้วย หลังการประชุม ทั้งสองฝ่ายได้ออกแถลงการณ์ร่วม เน้นย้ำความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพบนช่องแคบไต้หวัน และแสดงจุดยืนที่มีร่วมกันในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานะปัจจุบันของช่องแคบไต้หวันจากการกระทำของฝ่ายใดเพียงฝ่ายเดียว กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง
นับตั้งแต่แอนโธนี อัลบานีส (Anthony Albanese) เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐบาลออสเตรเลียได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพของช่องแคบไต้หวัน ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานะปัจจุบันของช่องแคบไต้หวันจากการกระทำของฝ่ายใดเพียงฝ่ายเดียว และสนับสนุนให้ไต้หวันมีส่วนร่วมบนเวทีนานาชาติอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่นิวซีแลนด์เสร็จสิ้นการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 รัฐบาลผสมที่นำโดยนายกรัฐมนตรีคนใหม่คริสโตเฟอร์ ลักซอน (Christopher Luxo) ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่ต้องการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกอย่างแข็งขัน อีกทั้งในครั้งนี้ยังร่วมกับออสเตรเลียแสดงความกังวลต่อเสถียรภาพบริเวณช่องแคบไต้หวัน กระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้ง อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ข้างต้น แสดงเห็นว่า ไต้หวันมีอิทธิพลและบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและโลก เห็นได้ว่าประเทศประชาธิปไตยให้การสนับสนุนไต้หวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ รัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จะกระชับความร่วมมือกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศอื่นๆ ที่มีอุดมการณ์คล้ายคลึงกัน เพื่อธำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพบนช่องแคบไต้หวันและภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ขยายพื้นที่ระหว่างประเทศของไต้หวัน ปกป้องระบอบประชาธิปไตยและค่านิยมที่มีร่วมกัน ตลอดจนระเบียบโลกที่อยู่บนพื้นฐานของกฎกติการะหว่างประเทศต่อไป