สำนักข่าว CNA วันที่ 15 ก.พ. 67
ไต้หวันได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับ 1 ของโลกด้านระบบบริการสุขภาพ (Health Care Index) ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปีซ้อน อย่างไรก็ตาม สมาคม Taiwan College of Healthcare Executive (TCHE) ขอให้ภาคประชาชนทำความเข้าใจต่อความเป็นมาของข้อมูลก่อน จึงจะเกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง ซึ่งไฮไลท์ของผลการจัดอันดับในครั้งนี้ นำเสนอให้เห็นถึงความสะดวกในการเข้ารับการวินิจฉัยทางการแพทย์ และความสมเหตุสมผลของค่ารักษาพยาบาล แต่มิได้หมายรวมถึงดัชนีทางสุขภาพ
จากรายงานที่ประกาศโดยเว็บไซต์คลังข้อมูล Numbeo ไต้หวันครองอันดับ 1 ใน “ผลการประเมินด้านระบบบริการสุขภาพทั่วโลก” ติดต่อกัน 5 ปีซ้อน นายเฉินเจี้ยนเหริน นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เคยระบุไว้ว่า คุณภาพทางการแพทย์ของไต้หวันครองมาตรฐานอันดับหนึ่งในโลก นอกจากนี้ ยังมีความโดดเด่นในเชิงวิชาการและศักยภาพการวิจัยเชิงคลินิก ประกอบกับคลังข้อมูลทางสุขภาพระดับประเทศ คลังตัวอย่างชีวภาพที่ได้จากมนุษย์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการติดต่อสื่อสาร เป็นต้น ส่งผลให้การแพทย์อัจฉริยะและการแพทย์ความแม่นยำสูงของไต้หวัน ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ดร.หงจื่อเหริน ประธานสมาคม TCHE และรองผู้อำนวยการโรงพยาบาล Shin Kong Wu Ho-Su Memorial Hospital ได้เตือนผ่านการประกาศจดหมายข่าวว่า การจัดอันดับระบบบริการสุขภาพทั่วโลกเป็นการสำรวจผ่านระบบออนไลน์บนแพลตฟอร์มคลังข้อมูล กลุ่มเป้าหมายที่เข้ากรอกข้อมูล ส่วนมากเป็นกลุ่มนักธุรกิจหรือนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการเดินทางไปต่างประเทศอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้ เพื่อเข้าสำรวจจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ของสถานพยาบาล รวมไปถึงความสะดวกสบายในการเข้ารับการรักษาทางการแพทย์
ดร.หงฯ กล่าวว่า การตีความผลการจัดอันดับในทิศทางที่ถูกต้องคือ การเข้าถึงบริการทางการแพทย์และความสมเหตุสมผลของค่ารักษาในไต้หวัน ครองอันดับ 1 ของโลก “ซึ่งความเป็นจริงก็เป็นไปตามนั้นอย่างไม่มีข้อกังขา” แต่ถึงกระนั้น จากผลการสำรวจมิสามารถอนุมานได้ว่าดัชนีชี้วัดทางสุขภาพของไต้หวัน จะครองอันดับ 1 ของโลกด้วย เนื่องจากในทางการแพทย์นั้น นอกจากจะต้องผลักดันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างครอบคลุมแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องได้รับการรักษาที่ดีเยี่ยมด้วย
ในด้านดัชนีสุขภาพนั้น ไต้หวันยังสามารถพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปได้อีกมาก ดร.หงฯ หยิบยกตัวอย่างข้อมูลสถิติจากวารสารการแพทย์ The Lancet ที่ระบุว่า อายุขัยโดยเฉลี่ยของไต้หวัน อัตราการเสียชีวิตของทารกเกิดใหม่ อัตราการเสียชีวิตที่ป้องกันได้ อัตราการตายเฉพาะโรค และอัตราการรอดชีวิต 5 ปีของผู้ป่วยมะเร็ง ไต้หวันอยู่ในอันดับประมาณ 35 – 37 ซึ่งหากนับเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชียแล้ว ยังเป็นรองญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ดร.หงฯ กล่าวสรุปไว้ช่วงท้ายว่า “ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ ถือเป็นการลงทุน มิใช่ต้นทุน”
มีเพียงการเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายทางการแพทย์เท่านั้น จึงจะสามารถนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาและเทคโนโลยีใหม่ ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งการปรับปรุงพัฒนาสภาพแวดล้อมทางการแพทย์ จะทำให้สามารถยกระดับกลไกการดูแลสุขภาพของภาคประชาชน ดร.หงฯ เคยระบุไว้หลายครั้งว่า รายจ่ายด้านสุขภาพในปัจจุบัน (Current Health Expenditure, CHE) ของไต้หวัน ครองสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) เพียงร้อยละ 6 ซึ่งยังตามหลังประเทศอื่นอีกมาก ดร.หงฯ จึงคาดหวังที่จะเห็นรัฐบาลยกระดับ CHE ให้มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 8 ให้ได้ในอนาคตอันใกล้นี้