กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 30 มี.ค. 67
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Edward Wong ผู้สื่อข่าวด้านการทูตของหนังสือพิมพ์ The New York Times โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ถูกเผยแพร่ในวันเดียวกันในหัวข้อ “รมว.กต.ไต้หวัน ชี้ ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ต่อยูเครน เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสกัดกั้นการรุกรานจากจีน” (Taiwan’s Top Diplomat Says U.S. Aid to Ukraine Is Critical for Deterring China)
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมา หลายฝ่ายต่างถกเถียงกันในประเด็นที่ว่า สหรัฐฯ จะถอนความช่วยเหลือที่ให้แก่ยูเครนหรือไม่ ซึ่งไต้หวันเห็นว่า คงจะไม่เป็นการดี เนื่องจากสถานการณ์โลกมีความเกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่น จึงไม่สามารถพิจารณาเป็นรายกรณีได้ หากรัสเซียเข้าครอบครองพื้นที่ในยูเครนเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้น จะทำให้ประชาคมโลกเห็นว่า กลุ่มประเทศเผด็จการเป็นฝ่ายที่คว้าชัยชนะไปครอง ในปัจจุบัน รัสเซีย จีน เกาหลีเหนือและอิหร่าน ล้วนเป็นประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ด้วยเหตุนี้ การให้ความสนับสนุนต่อประเทศที่ถูกรุกรานโดยกลุ่มประเทศเผด็จการ จึงนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก
รมว.อู๋ฯ ย้ำด้วยว่า ความมั่นคงของไต้หวันและความมั่นคงของยูเครน มีความเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง หากสหรัฐฯ ยุติการส่งมอบอาวุธให้ยูเครน จะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้รัฐบาลปักกิ่งเข้าใจไปในทิศทางที่ผิดเพี้ยนต่อข้อเท็จจริงได้ และอาจจะทำการเผยแพร่ข่าวปลอมเป็นวงกว้าง ด้วยการกล่าวหาว่า สหรัฐฯ มิใช่พันธมิตรที่พึ่งพาได้ หากยูเครนพ่ายแพ้ต่อสงคราม จีนก็จะมองเห็นจุดอ่อนของสหรัฐฯ ได้ในทันที และตีความว่า หากรัฐบาลปักกิ่งทำการก่อกวนไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ท้ายที่สุด สหรัฐฯ และกลุ่มมิตรประเทศก็จะยั้งมือในการส่งมอบความช่วยเหลือ จึงถือเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมการรุกรานของรัสเซียหรือจีนในทางอ้อม ซึ่งอาจเป็นการกระพือความทะเยอทะยานในการใช้กำลังอาวุธต่อไต้หวันของจีน และส่งเสริมให้เกิดความเป็นไปได้ในการรุกรานไต้หวันในภายภาคหน้าต่อไป
ต่อกรณีที่จีนสั่นคลอนความสามัคคีของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยผ่านการเผยแพร่ข่าวปลอมนั้น รมว.อู๋ฯ แถลงว่า ในปีพ.ศ. 2564 หลังจากที่สหรัฐฯ ถอนความช่วยเหลือออกจากอัฟกานิสถาน รัฐบาลจีนก็ได้ตีแผ่เรื่องราวที่บิดเบือนข้อเท็จจริงผ่านสื่อที่เป็นรัฐวิสาหกิจและโซเชียลมีเดียว่า คำมั่นใดๆ ที่สหรัฐฯ ให้ไว้ ล้วนเป็นสิ่งที่เชื่อถือไม่ได้ ทำให้ในขณะนั้น ภาคประชาสังคมของไต้หวันล้วนได้รับอิทธิพลจากสงครามจิตวิทยาในระลอกใหญ่ นอกจากนี้ จีนยังได้แพร่กระจายข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการรุกรานยูเครนของรัสเซีย โดยเน้นย้ำว่า การขยายตัวของนาโต (NATO Enlargement) เป็นแรงกระตุ้นให้ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ผู้นำรัสเซีย บุกโจมตียูเครน และเชื่อว่าสหรัฐฯ จะไม่ให้การสนับสนุนจนถึงที่สุด
รมว.อู๋ฯ กล่าวอีกว่า สถานการณ์สงครามรัสเซีย - ยูเครนส่งผลให้กลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ที่ต่อต้านลัทธิอำนาจนิยมและแสวงหาหุ้นส่วนที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ต่างก็มุ่งสร้างความสัมพันธ์กับไต้หวันในเชิงลึกมากขึ้นทุกที เนื่องจากการสนับสนุนต่อไต้หวันที่เป็นประชาธิปไตย นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงการหลุดพ้นจากอิทธิพลของการปกครองในระบอบเผด็จการของสหภาพโซเวียตเมื่อครั้งอดีต รวมถึงคำมั่นด้านเศรษฐกิจของจีนภายใต้แผนปฏิบัติการ “โครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21” ล้วนแต่เป็นสัญญาปากเปล่า เมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้จากการประสานความร่วมมือกับไต้หวัน ซึ่งมีความเป็นรูปธรรมมากกว่า โดยอีกปัจจัยที่เป็นกุญแจสำคัญที่สุดคือการที่จีนให้การสนับสนุนรัสเซียในสงครามรัสเซีย - ยูเครน ส่วนไต้หวันก็มุ่งให้ความช่วยเหลือยูเครนอย่างเต็มกำลัง ส่งผลให้กลุ่มประเทศข้างต้นตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก โดยไต้หวัน – กลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก จึงมุ่งยกระดับความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน ภายใต้ความเชื่อมโยงเหล่านี้
ในช่วงท้ายของรายงานข่าวระบุว่า รมว.อู๋ฯ ได้ย้ำถึงความสำคัญในการสนับสนุนไต้หวันของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแนวคิดเช่นเดียวกับเหล่าเจ้าหน้าที่ภาครัฐของไต้หวัน โดยนางสาวเซียวเหม่ยฉิน ว่าที่รองประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ก็ได้เสนอมุมมองที่คล้ายคลึงกัน ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2566 ที่ผ่านมาด้วย