
กระทรวงการเกษตร วันที่ 8 พ.ค. 67
เพื่อขยายการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีและการค้าสินค้าเกษตร ระหว่างไต้หวัน - ลิทัวเนีย เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา นางตู้เหวินเจิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเกษตร (Ministry of Agriculture, MOA) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และ Mr. Vytenis Tomkus รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเกษตร สาธารณรัฐลิทัวเนีย ได้ร่วมจัดการประชุมว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร ระหว่างไต้หวัน - ลิทัวเนีย ครั้งที่ 2 โดยนางหวังเสวี่ยหง ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำลิทัวเนีย และ Mr. Paulius Lukauskas ผู้อำนวยการสำนักงานการค้าลิทัวเนียในไต้หวัน ต่างเข้าร่วมกล่าวปราศรัยในฐานะตัวแทนภาครัฐของทั้งสองฝ่าย โดยในปีนี้เป็นปีแรกที่กระทรวงการเกษตรจัดคณะตัวแทนเดินทางเยือนกรุงวิลนีอัสของลิทัวเนีย เพื่อพิจารณานโยบายด้านการเกษตรที่สำคัญๆ นวัตกรรมทางเทคโนโลยี แนวทางการขยายตลาดและกิจกรรมการประชาสัมพันธ์ทางการค้า เพื่อส่งเสริมการสร้างความร่วมมือทางการเกษตร รวมถึงการค้าและการลงทุนแบบทวิภาคี
MOA ชี้ว่า นอกจากในการประชุมครั้งที่ 2 จะมีการอภิปรายในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญร่วมกัน เช่น การค้าและการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ยังมีการประสานความร่วมมือกันในด้านการเพาะพันธุ์พืช เทคโนโลยีการเพาะปลูกแบบคาร์บอนต่ำ และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เป็นต้น อีกทั้งยังร่วมแลกเปลี่ยนกันในประเด็นการเผชิญหน้ากับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการที่เจ้าหน้าที่ลิทัวเนียร่วมแบ่งปันเทคโนโลยีการเพาะปลูกโดยไม่ไถพรวน ซึ่งเป็นการลดการปล่อยคาร์บอน ถือเป็นทิศทางหลักในการเกษตรระดับสูงที่ไต้หวันเรียนรู้จากกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป นอกจากนี้ ไต้หวันยังได้ร่วมแบ่งปันนโยบายการลดปริมาณสารเคมีกำจัดแมลง และการรับมือกับการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่ทนต่อความร้อนภายใต้สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนสุดขีด รวมถึงเทคโนโลยีการเพาะปลูก เป็นต้น โดยทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมอภิปรายกันในประเด็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายการเกษตรที่ยั่งยืนด้วย
นอกจากนี้ คณะตัวแทน MOA ยังได้เข้าเยี่ยมชมบริษัท Leafood ผู้ประกอบการลิทัวเนียที่นำเทคโนโลยีการเกษตรแนวดิ่ง (Vertical Farming) ที่เรียนรู้มาจากไต้หวันเข้าสู่กระบวนการผลิต ทำให้กลายเป็นฟาร์มเกษตรพืชผักแนวดิ่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป อันเกิดจากการร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการไต้หวัน – ลิทัวเนีย อีกทั้งยังถือเป็นระบบห่วงโซ่อุปทานพืชผักที่ป้อนเข้าสู่ตลาดในเมืองหลวงตลอดทั้งปีอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเป็นการสร้างคุณประโยชน์ในการจัดตั้งสภาพแวดล้อมการผลิตเชิงการเกษตรที่เปี่ยมด้วยความยืดหยุ่นและมีความเป็นอัจฉริยะ
MOA แถลงว่า ในปี 2566 ไต้หวัน – ลิทัวเนียได้ร่วมลงนาม “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางการเกษตร ระหว่างไต้หวัน - ลิทัวเนีย” ณ กรุงไทเป พร้อมทั้งเปิดการประชุมว่าด้วยความร่วมมือทางการเกษตรระดับรัฐมนตรี ระหว่างไต้หวัน - ลิทัวเนีย ครั้งที่ 1 เพื่อกระตุ้นการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำตาลไซรัปและสินค้าอาหารแปรรูปของไต้หวัน ให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า โดยผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ของลิทัวเนีย ที่ส่งออกมาจำหน่ายยังไต้หวัน ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเช่นกัน นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคของลิทัวเนีย ก็ผ่านการรับรองจากหน่วยงานไต้หวัน ทำให้มีโอกาสที่จะส่งออกมายังไต้หวัน แสดงให้เห็นว่า การเจรจาและความร่วมมือ ระหว่างไต้หวัน – ลิทัวเนีย เป็นการกระตุ้นการบริหารงานภาครัฐ รวมไปถึงทำความเข้าใจต่อความต้องการและกฎระเบียบด้านอุตสาหกรรมของทั้งสองฝ่าย พร้อมทั้งขยายขอบเขตทางการค้าและความร่วมมือทางผลิตภัณฑ์การเกษตรแบบทวิภาคี หน่วยงานการเกษตรไต้หวัน - ลิทัวเนีย ต่างเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนทางความร่วมมือที่สำคัญในการตีตลาดสู่สหภาพยุโรป (EU) และภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก พร้อมทั้งประสานความร่วมมือในการวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร รวมถึงการกำหนดกฎระเบียบและการประสานบริหารจัดการ เพื่อแสวงหาโอกาสทางการค้าให้แก่ผลิตผลทางการเกษตรที่สดใหม่ และผลิตภัณฑ์แปรรูป รวมถึงผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงวัย ทั้งนี้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการด้านการเกษตรของทั้งสองฝ่ายต่อไป
MOA ย้ำว่า เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การยกระดับศักยภาพการแข่งขันและความทรหดด้านการเกษตร ถือเป็นภารกิจที่สำคัญในปัจจุบัน โดยไต้หวัน – ลิทัวเนียต่างยึดมั่นในค่านิยมด้านเสรีภาพและประชาธิปไตย พร้อมทั้งให้ความเคารพต่อกลไกการตลาดรูปแบบใหม่ โดยทั้งสองฝ่ายจะมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือในเชิงลึก ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางความร่วมมือที่เชื่อถือได้ และเรียนรู้ผลสัมฤทธิ์และประสบการณ์การวิจัยเชิงการเกษตรในสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง ทั้งนี้ เพื่อเร่งพัฒนาศักยภาพการวิจัยและพัฒนาของทั้งสองฝ่าย ตลอดจนกระตุ้นการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางการเกษตรที่ยั่งยืนและเปี่ยมด้วยความเป็นอัจฉริยะ เพื่อเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันอย่างยั่งยืนสืบไป