ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
พาไปดื่มด่ำรสชาติ กาแฟไต้หวัน กับมินิทริปตะลอนไร่กาแฟ ชั้นนำระดับโลก
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2024-05-13

คุณภาพของกาแฟไต้หวัน ไม่แพ้แหล่งผลิตกาแฟที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ ของโลก

คุณภาพของกาแฟไต้หวัน ไม่แพ้แหล่งผลิตกาแฟที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ ของโลก
 

กาแฟไต้หวันกำลังส่งกลิ่นหอมขจรขจาย เมล็ดกาแฟคุณภาพระดับโลกเหล่านี้ เกษตรกรไต้หวันปลูกด้วยวิธีเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) หากคุณได้มีโอกาสไปเยือนไร่กาแฟสักแห่ง อย่าลืมเข้าไปลองดื่มกาแฟซิงเกิลออริจิน (Single Origin Coffee) สักแก้ว แล้วคุณจะพบว่า ทุกสิ่งที่เจ้าของไร่กำลังทำอยู่ก็เพื่อดื่มด่ำกับรสชาติของกาแฟแสนอร่อยสักถ้วยนั่นเอง

 

อาลีซานเป็นสถานท่องเที่ยวชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกดิน รวมทั้งชมทะเลหมอกที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของไต้หวัน ยอดเขาสูงแห่งนี้ เป็นแหล่งผลิตชาที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ปัจจุบันอาลีซานยังเป็นศูนย์รวมไร่กาแฟที่ผลิตเมล็ดกาแฟคุณภาพเยี่ยมของไต้หวันด้วย ในปี ค.ศ. 2023 ไต้หวันได้ร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรเพื่อความเป็นเลิศของกาแฟ (Alliance of Coffee Excellence หรือ ACE) จัดการประกวดสุดยอดกาแฟในรายการ Cup of Excellence (COE) ขึ้นเป็นครั้งแรก ผลการประกวด กาแฟจากอาลีซานคว้า 13 อันดับจาก 20 อันดับสุดยอดกาแฟจากทั่วโลก

 

ย้อนรอยประวัติการเพาะปลูกกาแฟในไต้หวัน

ไต้หวันเหมาะแก่การเพาะปลูกกาแฟหรือไม่? คุณฟางอี๋ตาน  (方怡丹)  ผู้อำนวยการสถานีทดลองการเกษตรสาขาเจียอี้ (Chiayi Agricultural Experiment Branch) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สถาบันวิจัยการเกษตร กระทรวงเกษตรไต้หวัน (Taiwan Agricultural Research Institute, Ministry of Agricultural) เปิดเผยว่า ในปี ค.ศ. 1884 ต้นกาแฟพันธุ์อาราบิก้าถูกนำเข้ามาปลูกในไต้หวันโดยนักธุรกิจชาวอังกฤษ กาแฟและชาสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกัน  พื้นที่เหมาะแก่การปลูกกาแฟได้แก่แถบร้อนชื้นบริเวณเส้นศูนย์สูตร หรือที่เรียกว่า “Coffee Bean Belt”  ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างช่วงละติจูดที่ 23.5 องศาเหนือถึงละติจูดที่ 23.5 องศาใต้

ย้อนไปในปี ค.ศ. 1902 สวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนเหิงชุน (Hengchun Tropical Botanic Garden) ในปัจจุบัน เคยเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลญี่ปุ่นใช้ปลูกกาแฟมาก่อน ขณะนั้นพบว่า ไต้หวันเหมาะแก่การเพาะปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้ามากที่สุด ภายหลังเริ่มมีการเพาะต้นกล้ากาแฟบนภูเขาเหอเปาซาน (荷苞山) ในตำบลกู่เคิง (古坑鄉) เมืองหยุนหลิน และยังได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกไปยังภูเขาหัวซาน (華山) และพื้นที่อื่น ๆ แต่เนื่องจากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กาแฟยังไม่เป็นที่นิยมในไต้หวัน จึงทำให้ไร่กาแฟส่วนใหญ่ถูกทิ้งร้างไป

ในช่วงทศวรรษที่ 1950 ราคากาแฟทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น กาแฟกลับมาได้รับความนิยมในหมู่ชาวไต้หวันอีกครั้ง รัฐบาลไต้หวันได้มีการนำเมล็ดพันธุ์ที่ทนต่อโรคราสนิมและเทคนิคการเพาะปลูกจากฮาวายเข้ามาเผยแพร่ในประเทศ ภายหลังเนื่องจากรัฐบาลไม่ได้มีการผลักดันอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้การปลูกกาแฟในไต้หวันหยุดชะงัก

วันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1999 ไต้หวันได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุแผ่นดินไหวที่เมืองหนานโถว เหตุการณ์ครั้งนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในไต้หวัน เพื่อเป็นการพลิกฟื้นความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ รัฐบาลไต้หวันจึงผลักดันนโยบาย “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” (One Town One Product หรือ OTOP)  ขึ้น ตำบลกู่เคิงซึ่งอดีตเคยเป็นพื้นที่เพาะปลูกกาแฟ จึงมีกาแฟเป็นผลิตภัณฑ์หลักประจำตำบล ในปี ค.ศ. 2003 เมืองหยุนหลินจัดงาน “เทศกาลกาแฟไต้หวัน” (Taiwan Coffee Festival) ขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้กาแฟกู่เคิงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ภายหลังกู่เคิงได้รับการขนานนามว่าเป็น “ถิ่นกำเนิดของกาแฟไต้หวัน” ด้วย

ในปี ค.ศ. 2021 ไต้หวันร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรเพื่อความเป็นเลิศของกาแฟ จัดงานประมูลเมล็ดกาแฟ PCA Reserve Coffee Bidding ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยสามารถดึงดูดผู้ประกอบการจาก 14 ประเทศเข้าร่วมการประมูล หนึ่งในนั้นได้แก่บริษัท Blue Bottle Coffee ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น  APPLE ของวงการกาแฟ ต่อมาในปี ค.ศ. 2023 ไต้หวันจัดงานประมูลเมล็ดกาแฟ Cup of Excellence (COE) ขึ้น งานดังกล่าวยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับงานประกาศรางวัลออสการ์ของวงการกาแฟเลยทีเดียว นี่จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า คุณภาพของกาแฟไต้หวันได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั่วโลก
 

รสชาติของกาแฟจะแตกต่างออกไปตามกรรมวิธีแปรรูป ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปแบบเปียก (Wet Process หรือ Washed Process) การแปรรูปแบบแห้งตามธรรมชาติ (Natural Process หรือ Dry Process) ตลอดจนการแปรรูปแบบผสมหรือแบบน้ำผึ้ง (Honey Process)

รสชาติของกาแฟจะแตกต่างออกไปตามกรรมวิธีแปรรูป ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปแบบเปียก (Wet Process หรือ Washed Process) การแปรรูปแบบแห้งตามธรรมชาติ (Natural Process หรือ Dry Process) ตลอดจนการแปรรูปแบบผสมหรือแบบน้ำผึ้ง (Honey Process)
 

พฤติกรรมการบริโภคกาแฟในไต้หวัน

วัฒนธรรมการบริโภคกาแฟเป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่ทำให้ไต้หวันกลายเป็นแหล่งผลิตกาแฟคุณภาพชั้นยอด จากสถิติขององค์การกาแฟระหว่างประเทศ (ICO) พบว่า ในปี ค.ศ. 2021 ชาวไต้หวันบริโภคกาแฟราว 2,850 ล้านแก้ว หรือเฉลี่ยคนละ 122 แก้วต่อปี

การที่ชาวไต้หวันนิยมดื่มกาแฟ ส่งผลให้อุตสาหกรรมกาแฟเกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจขึ้น จากการสังเกตของคุณหลินเจ๋อหาว (林哲豪)  ประธานกลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตกาแฟไต้หวัน (The Coffee Industrial Alliance of Taiwan หรือ CIAT) พบว่า ไต้หวันมีนักชิมกาแฟมืออาชีพที่ได้รับประกาศนียบัตร    Q arabica grader จากสถาบันเพื่อพัฒนาคุณภาพกาแฟ (Coffee Quality Institute หรือ CQI) มากถึง 671 คน ซึ่งประกาศนียบัตรนี้จะมอบให้แก่ผู้ที่ผ่านการอบรมและผ่านการสอบการพิจารณาคุณภาพของเมล็ดกาแฟอาราบิก้าภายใต้มาตรฐานของ CQI เท่านั้น

นอกจากนี้ ไต้หวันยังมีสัดส่วนจำนวนร้านกาแฟที่คั่วเมล็ดกาแฟเอง รวมถึงนักคั่วเมล็ดกาแฟ (Coffee Roaster) ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นสูงมาก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้นไต้หวันยังเป็นประเทศที่สามารถหากาแฟคั่วสดไม่เกิน  1 สัปดาห์ดื่มได้ตามร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้น้อยมากในต่างประเทศ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไต้หวันได้กลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ ที่ประมูลเมล็ดกาแฟมากที่สุดในงาน Best of Panama (BOP) นอกจากนี้ซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ยังได้เปิดตัวกาแฟเกรดพรีเมียมของตนเอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมีรสนิยมในการดื่มกาแฟที่มีคุณภาพและราคาสูงมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันกาแฟไต้หวันกำลังพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์เกรดพรีเมียมที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ในแบบฉบับของไต้หวัน

 

ไร่โจวจู๋หยวน กับปณิธานไร่กาแฟอายุร้อยปี

ทริปตะลอนไร่กาแฟครั้งนี้เริ่มต้นที่ไร่โจวจู๋หยวน (鄒築園) ที่อยู่ในชุมชน Lalauya ซึ่งเป็นชุมชนของชนพื้นเมืองเผ่าโจว (Tsou) ในหมู่บ้านเล่อเหย่ (樂野村) ตำบลอาลีซาน (阿里山鄉) หน้าร้านประดับรูปปั้นนักรบเผ่าโจวที่หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ยืนถือหอกและเหน็บมีดล่าสัตว์ไว้ที่เอว ลักษณะคล้ายกับ “นักรบเกษตรกร” (戰鬥農民) ตามคำพรรณนาของคุณฟางเจิ้งหลุน (方政倫) ผู้เป็นเจ้าของไร่

ในปี ค.ศ. 2007 กาแฟของคุณฟางเจิ้งหลุนได้รับรางวัลชนะเลิศในรายการ The 2007 Taiwan Specialty Coffee Evaluation ต่อมาในปี ค.ศ. 2022 เมล็ดกาแฟเกอิชาที่ผ่านการแปรรูปแบบแห้ง (Natural Process หรือ Dry Process) ของคุณฟางเจิ้งหลุนได้รับรางวัลเกียรติยศสูงสุดในรายการ The Alishan Coffee Evaluation & Assessment ทั้งยังถูกประมูลไปในราคา 520,000 เหรียญไต้หวันต่อน้ำหนัก 5 กิโลกรัม ทำลายสถิติราคาการประมูลเมล็ดกาแฟทั่วโลก

เนื่องจากไต้หวันเป็นเกาะแห่งเทคโนโลยี คุณฟางเจิ้งหลุนจึงได้นำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะมาช่วยในการเพาะปลูกกาแฟเกรดพรีเมียม ไร่กาแฟของคุณฟางเจิ้งหลุนมีเครื่องตรวจวัดปริมาณแร่ธาตุ อุณหภูมิ และความชื้นในดิน ที่สามารถส่งผลการตรวจวัดไปยังแอปพลิเคชัน เพียงอ่านตัวเลขจากแอปพลิเคชันเขาก็สามารถวางแผนจัดการต้นกาแฟในไร่ได้ทั้งหมด ทำให้เขามีเวลาในการสำรวจไร่กาแฟมากยิ่งขึ้น และนั่นทำให้เขาได้ค้นพบสิ่งพิเศษมากมาย ที่สามารถเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมกาแฟของไต้หวันได้

So’ngna เป็นกาแฟสายพันธุ์ใหม่ที่คุณฟางเจิ้งหลุนค้นพบ หลังจากที่เขาสังเกตเห็นลักษณะที่แตกต่างของใบและผลบนต้นกาแฟชนิดหนึ่ง เขาได้นำมันไปตรวจ DNA และพบว่า เป็นกาแฟสายพันธุ์ใหม่ที่มีถิ่นกำเนิดจากทวีปแอฟริกา พร้อมกันนี้ยังได้ตั้งชื่อกาแฟสายพันธุ์นิรนามนี้ว่า  So’ngna ซึ่งมีความหมายว่า “ดีที่สุด” ในภาษาโจว คุณฟางเจิ้งหลุนเชื่อเสมอว่า การสังเกตอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เขาได้ค้นพบกาแฟสายพันธุ์ใหม่ ๆ ดังนั้นการจะค้นพบกาแฟสายพันธุ์เฉพาะถิ่นของไต้หวันจึงเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินจริงอย่างแน่นอน

เมื่อคุณมาเยี่ยมชมไร่โจวจู๋หยวน คุณจะได้เรียนรู้กระบวนการผลิตเมล็ดกาแฟเกรดพรีเมียมทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นตอนการบริหารจัดการไร่ไปจนถึงขั้นตอนการแปรรูป
 

คุณสวี่ติ้งเยว่ เจ้าของร้านกาแฟจัวอู่ คิดค้นวิธีการดื่มกาแฟที่ไม่เหมือนใคร โดยเสิร์ฟคล้ายกับการดื่มชาแบบโบราณ คือแยกแก้วดมกลิ่นกาแฟและแก้วจิบกาแฟออกจากกัน (ภาพโดย : หลินหมิงเซวียน)

คุณสวี่ติ้งเยว่ เจ้าของร้านกาแฟจัวอู่ คิดค้นวิธีการดื่มกาแฟที่ไม่เหมือนใคร โดยเสิร์ฟคล้ายกับการดื่มชาแบบโบราณ คือแยกแก้วดมกลิ่นกาแฟและแก้วจิบกาแฟออกจากกัน (ภาพโดย : หลินหมิงเซวียน)
 

ไร่กาแฟจัวอู่ซาน กับการรอคอยเมล็ดกาแฟที่ผลิตออกมาใหม่

หมู่บ้านฉาซาน (茶山村) ซึ่งอยู่ทางใต้สุดของตำบลอาลีซาน เป็นที่ตั้งของไร่กาแฟจัวอู่ซาน (卓武山農場) ในปี ค.ศ. 2021 เมล็ดกาแฟเกอิชาที่ผ่านการแปรรูปแบบแห้งของไร่แห่งนี้ ถูกประมูลไปในราคาสูงถึง 500.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปอนด์ (หรือเท่ากับ 30,820 เหรียญไต้หวันต่อกิโลกรัม) ทำสถิติราคาประมูลสูงสุดของ PCA

คุณสวี่จวิ้นหรง (許峻榮) เจ้าของไร่วัย 70 ปี ก่อนที่จะปลูกกาแฟ เขาเคยปลูกชามาเป็นเวลากว่า 37 ปี  ในปี ค.ศ. 2001 คุณสวี่เปลี่ยนมาปลูกกาแฟตามคำแนะนำของคุณสวี่ติ้งเย่ (許定燁) ผู้เป็นลูกชาย เนื่องจากไร่ชาของเขาประสบปัญหาถูกคุกคามจากแมลงศัตรูพืช

นอกจากคุณสวี่จวิ้นหรงจะมีความชำนาญในด้านการบริหารจัดการไร่แล้ว เขายังมีความรู้ในด้านการต่อกิ่งด้วย คุณสวี่จวิ้นหรงต่อกิ่งกาแฟพันธุ์เกอิชาเข้ากับสายพันธุ์ทิปปิก้า (Typica) จนได้ผลผลิตกาแฟ Sun-dried Geisha ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง

นอกจากนี้ คุณสวี่ต้าเย่ผู้เป็นลูกชายยังได้ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ นำวิธีทำการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming) มาบริหารจัดการไร่ โดยมีการสุ่มตัวอย่างดิน กิ่ง ก้าน ใบ และผลกาแฟ ในเวลาที่ต่างกันมาตรวจสอบ ซึ่งการทำการเกษตรด้วยวิธีดังกล่าว จะสามารถเพิ่มผลผลิตกาแฟทั้งปริมาณและคุณภาพอย่างมาก คุณสวี่ต้าเย่กล่าวว่า วิธีทำการเกษตรแบบแม่นยำทำให้เขารู้ว่าต้องทำอะไรในเวลาที่เหมาะสม โดยอาศัยความรู้และหลักการทางวิทยาศาสตร์

จัวอู่คาเฟ (Zhuo-Wu CAF'E) ตั้งอยู่ในตัวเมืองเจียอี้ ที่คาเฟแห่งนี้ นอกจากจะมีโอกาสได้ลิ้มลองรสชาติกาแฟต้นตำรับที่ส่งตรงจากไร่กาแฟจัวอู่ซานแล้ว ยังจะได้สัมผัสกับวัฒนธรรมการดื่มกาแฟที่เต็มไปด้วยความพิถีพิถัน ทางร้านจะแยกแก้วไว้สำหรับดื่มและสำหรับดมกลิ่นคล้ายกับในวัฒนธรรมการดื่มชา เพื่อให้ลูกค้าได้เปิดประสาทสัมผัสทั้งห้าจากกลิ่นอะโรมาก่อนที่จะเริ่มจิบกาแฟ  กาแฟเกอิชาที่ผ่านกรรมวิธีแปรรูปแบบเปียก (Wet Process หรือ Washed Process) ของคาเฟแห่งนี้ จะมีกลิ่นหวานอมเปรี้ยวของผลไม้ตระกูลซิตรัส เมื่อดื่มเข้าไปแล้วจะสัมผัสได้ถึงรสชาติที่เข้มข้นและนุ่มละมุน รวมถึงจะมีรสชาติของผลไม้ตระกูลเบอร์รีอ่อน ๆ ด้วย ขณะที่กาแฟสายพันธุ์ SL34 ที่ผ่านกรรมวิธีแปรรูปแบบเปียกด้วยน้ำแร่ภูเขา จะมีรสกลมกล่อม ติดหวานเล็กน้อย มีกลิ่นหอมของชาและดอกไม้ รวมถึงกลิ่นผลไม้บางชนิด เช่น บ๊วย ส้ม และเมล่อนเป็นต้น

คุณสวี่ติ้งเย่เล่าว่า สิ่งที่เขาทำคือการหมั่นทดลองและเก็บรวบรวมข้อมูลต่อไปเรื่อย ๆ ครั้นเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว เขาจะตั้งตารอคอยเมล็ดกาแฟที่เติบโตขึ้นมาใหม่ มันทำให้เขารู้สึกเหมือนถูกลอตเตอรี่

 

ซึมซับวัฒนธรรมชนเผ่าโจวกับการจิบกาแฟที่ร้าน Peisu coffee

คุณเฉินจี๋หัว (陳吉華 หรือ Mo’o’e ‘Akuyayana)  ซึ่งเป็นคุณพ่อของคุณเฉินอวี๋อัน (陳瑜安 หรือ Lupi’i ‘Akuyayana)  เจ้าของร้านกาแฟ Peisu coffee กล่าวทักทายพวกเราอย่างอบอุ่นด้วยภาษาโจวว่า “Aveoveoyu!”

ร้าน Peisu coffee ซ่อนตัวอยู่หลังชุมชน Tfuya ของชนเผ่าโจวในหมู่บ้านต๋าปัง (達邦村) ตำบลอาลีซาน

คุณเฉินอวี๋อันจากบ้านไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงมานานหลายปี ครั้งหนึ่งเมื่อเธอมีโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด เธอตกใจมากที่เห็นเส้นผมของคุณพ่อเปลี่ยนเป็นสีขาว เธอรู้ทันทีว่าตัวเองนั้นอยู่ไกลจากบ้านมาก มันถึงเวลาที่ต้องกลับบ้านแล้ว เธอยังจำได้ดีว่า ทุกครั้งที่กลับบ้าน เธอมักจะนั่งจิบกาแฟและพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ กลิ่นหอมของกาแฟเปรียบเสมือนกลิ่นอายบ้านเกิดเมืองนอน ดังนั้นเธอจึงตัดสินใจว่าจะทำอะไรสักอย่างที่เกี่ยวข้องกับกาแฟ

Peisu coffee ไม่เพียงแต่เป็นสถานที่รวมตัวของสมาชิกในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเป็นร้านกาแฟที่รวบรวมกลิ่นอายวัฒนธรรมของเผ่าโจวเอาไว้ด้วย มีตำนานเล่าว่า เทพเจ้า Hamo ของเผ่าโจว ได้ทิ้งรอยเท้าสองข้างเอาไว้ในป่าเขา ชาวโจวจึงได้ตั้งรกรากอยู่ที่นั่น ชุมชน Tfuya เป็นดินแดนแห่งแรกที่เทพเจ้า Hamo ได้ทิ้งรอยเท้าเอาไว้ คุณเฉินอวี๋อันเจ้าของร้าน Peisu coffee ได้ออกแบบแผนนำเที่ยวในชุมชน เพื่อให้ลูกค้าได้ดื่มด่ำกับรสชาติกาแฟไปพร้อม ๆ กับการซึมซับวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย ความมุ่งมั่นในการสร้างธุรกิจในบ้านเกิดของเธอ ทำให้ Peisu coffee ได้รับเลือกเป็นสถานีพัฒนาเยาวชน ทำหน้าที่สนับสนุนและให้คำชี้แนะเยาวชนที่มีจิตสำนึกรักบ้านเกิดเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น

ดังนั้นผู้ที่มาเยือนคาเฟแห่งนี้ นอกจากจะได้ดื่มด่ำรสชาติกาแฟที่มีกลิ่นอายของบ้านเกิดเมืองนอนแล้ว ยังได้สัมผัสกับรสชาติของวัฒนธรรมพื้นเมืองอีกด้วย
 

พาไปดื่มด่ำรสชาติ กาแฟไต้หวัน
 

ไร่กาแฟซงเยว่ กับภารกิจเฟ้นหาเมล็ดกาแฟที่ดีที่สุด

เมื่อลัดเลาะขึ้นไปตามทางหลวงเฉาหลิ่ง (草嶺公路)  จะมาถึงตำบลกู่เคิง ซึ่งเป็น “ถิ่นกำเนิดของกาแฟไต้หวัน” พื้นที่ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตรแห่งนี้ ก็เป็นที่ตั้งของร้าน กาแฟซงเยว่ (嵩岳咖啡) บ้านตระกูลกัวเป็นบ้านทรงโบราณที่ประกอบด้วยตัวอาคาร 3 ด้านเชื่อมติดกัน เป็นบ้านทรงเกือกม้าหรือบ้านสามหลังล้อมลานที่ภาษาจีนเรียกว่า ซานเหอย่วน (三合院)  คุณกัวจางเซิ่ง (郭章盛)  เจ้าของไร่เล่าพลางยิ้มว่า พื้นเพครอบครัวของเขาเป็นชาวไร่ชาวสวน หากมองจากบริเวณลานของร้านจะเห็นสถานที่ทดลองกาแฟ นอกจากนี้ยังสามารถมองเห็นเทือกเขาอาลีซานและยอดเขาเจียหนานหยุนฟง (嘉南雲峰) ซึ่งเป็นพรมแดนกั้นระหว่างเจียอี้ หนานโถว และหยุนหลินอีกด้วย การจิบกาแฟไต้หวันซักถ้วยบนพื้นหินในบ้านโบราณแห่งนี้ช่างเป็นประสบการณ์ที่พิเศษยิ่ง

ปัจจุบันคุณกัวจางเซิ่งอายุ 60 ปี เขาสนใจศึกษาเรื่องพืชตั้งแต่วัยเด็ก มีความสามารถในการต่อกิ่งตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ชั้นประถม นอกจากนี้เขายังชอบไปที่ภูเขาเหอเปาเพื่อหาต้นกาแฟมาลองปลูกที่บ้านอีกด้วย

หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงเมื่อวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1999 ตำบลกู่เคิงได้กลายเป็นแหล่งผลิตกาแฟที่มีชื่อเสียง คุณกัวจางเซิ่งเองก็ได้หันมาปลูกกาแฟอย่างจริงจังด้วย ในการจัดการประกวดคุณภาพกาแฟของสมาคมกาแฟพิเศษแห่งสหรัฐฯ (The Specialty Coffee Association of America หรือ SCAA) เมื่อปี ค.ศ. 2010 กาแฟของคุณกัวจางเซิ่งคว้าอันดับสูงสุดในบรรดากาแฟที่เข้าร่วมการแข่งขันจากไต้หวัน การประกวดครั้งนั้นเพิ่มความมั่นใจให้แก่เขาเป็นอย่างมาก จากนั้นเป็นต้นมา กาแฟของเขาก็สามารถคว้ารางวัลมาได้ทุกปี

และเพื่อเป็นการปรับปรุงคุณภาพของเมล็ดกาแฟ ลูกชายทั้งสามคนของคุณกัวจางเจิ้ง ได้เข้ารับการฝึกอบรมและทดสอบการพิจารณาคุณภาพของเมล็ดกาแฟ จนกลายเป็นนักชิมรสชาติกาแฟมืออาชีพที่มีประกาศนียบัตร Q grader รับรอง เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว สมาชิกในครอบครัวจะรวมตัวกันเพื่อเฟ้นหากาแฟที่มีความโดดเด่นมากที่สุด

กาแฟจากยอดเขาเจียหนานหยุนฟงซึ่งอยู่ใกล้เทือกเขา อาลีซาน จะมีกลิ่นของชาอูหลง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์พิเศษของกาแฟจากเขาลูกนี้ ในปี ค.ศ. 2023 คุณกัวจางเซิ่งเข้าร่วมการคัดเกรดกาแฟ Taiwan Coffee Assortment & Grading system หรือ TCAGs ที่กระทรวงเกษตรไต้หวันจัดขึ้นเป็นครั้งแรก กาแฟเกอิชาที่ผ่านกรรมวิธีแปรรูปแบบเปียกของคุณกัวจางเซิ่ง ถูกจัดอยู่ในเกรดคัดสรรคุณภาพพิเศษ มีกลิ่นหอมของดอกไม้และรสชาติหวานอมเปรี้ยว คุณกัวจางเซิ่งเล่าว่า รสชาติของมันประหนึ่งน้ำผลไม้ รสชาติสะอาด มีความเกลี้ยงเกลา (Clean Cup) จนคณะกรรมการชาวสิงคโปร์อยากซื้อกลับไปด้วย

เมื่อคุณมาเยือนไร่กาแฟไต้หวัน คุณจะมีโอกาสได้ดื่มกาแฟคุณภาพที่เจ้าของไร่ต่างทุ่มเทให้กับมันมาทั้งชีวิต ดังนั้นจึงคุ้มค่ากับการข้ามน้ำข้ามทะเลนับพันไมล์เพื่อมาลองลิ้มชิมรสกาแฟอย่างแน่นอน

 

เพิ่มเติม

พาไปดื่มด่ำรสชาติ กาแฟไต้หวัน กับมินิทริปตะลอนไร่กาแฟ ชั้นนำระดับโลก