หลังผ่านสงคราม เวียดนามผงาดขึ้นมาอย่างมีศักยภาพ และเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์อันน่าหลงใหล
ในไต้หวัน พบเห็นร้านอาหารและชาวเวียดนามได้โดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นร้านเฝอ นักศึกษาชาวเวียดนามที่เดินทางมาศึกษาต่อ สวนชาที่หนานโถวหรือแม้แต่โฮมสเตย์บนเกาะเสี่ยวหลิวฉิวทางภาคใต้ของไต้หวัน ล้วนสามารถพบเห็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ชาวเวียดนามที่ทำงานหนักเหล่านี้ได้โดยง่าย
ในไต้หวันเต็มไปด้วยร่องรอยของเวียดนาม ที่เวียดนาม ก็เต็มไปด้วยสินค้าและชาวไต้หวันเช่นกัน
ตลาดในเวียดนาม มีชาไต้หวันแบรนด์ปอเอ่อ กาแฟ Mr. Brown วางจำหน่าย ยังสามารถพบเห็นไก่ทอดไซซ์ยักษ์และร้านชานมไข่มุกแบรนด์ 50 Lan ของไต้หวันด้วยเช่นกัน
แม้จะอยู่ห่างกัน 1,700 กิโลเมตร ไต้หวันกับเวียดนามกลับมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นต่อกัน ความสัมพันธ์ที่ว่านี้ไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นจากปัจจุบัน…
ประเทศเพื่อนบ้านที่คุ้นเคยและแปลกหน้า
เวียดนาม ได้ชื่อว่าเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไต้หวันคุ้นเคยและแปลกหน้ามากที่สุด เช่นเดียวกับไต้หวันที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหลายครั้ง เวียดนามได้รับอิทธิพลจากจีนกว่าพันปี อินเดียสี่ร้อยปี ฝรั่งเศสหนึ่งร้อยปี และจากสหรัฐอเมริกาประมาณสองทศวรรษ ส่งผลให้วัฒนธรรมต่างถิ่นเกิดการปรับตัวและหลอมรวมกับวัฒนธรรมท้องถิ่นในหลากหลายมิติ เป็นความรู้สึกที่ชาวไต้หวันเข้าใจได้ดีทีเดียว
คนเวียดนามมีความเชื่อว่า การตั้งศาลเจ้าที่หรือพระภูมิเจ้าที่โดยวางไว้ติดกับพื้นดิน จะได้รับพลังศักดิ์สิทธิ์จากธาตุดิน จึงมักตั้งศาลขนาดเล็กไว้ที่บริเวณใต้ป้ายร้านที่เขียนด้วยตัวอักษรโรมัน บริเวณทางเข้าร้านหรือภายในบ้าน หากมองใกล้ ๆ จะเห็นตัวอักษรจีนคำว่า “福德正神” (ฝูเต๋อเจิ้งเสิน) เป็นเทพเจ้าที่ดูแลผืนดิน หรือที่ชาวไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋วเรียกว่าตี่จู่เอี้ยะ เวียดนามเคยใช้อักษรจีนเป็นภาษาทางการ เช่นเดียวกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในอดีต จนกระทั่งตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส จึงเปลี่ยนมาใช้อักษรโรมัน ดังนั้น ในโอกาสพิเศษหรือในตำราหนังสือโบราณของเวียดนาม จึงมักพบเห็นตัวอักษรจีนได้ง่าย
เวียดนามมีความอุดมสมบูรณ์ กินข้าวเป็นอาหารหลัก มีผักสดนานาชนิด อาหารในภาพประกอบด้วย : เปาะเปี๊ยะสดเวียดนาม
ความสัมพันธ์ไต้หวัน-เวียดนามแนบแน่น
ประเทศเพื่อนบ้านที่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกันนี้ ปัจจุบันคือหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญของไต้หวัน ในฐานะที่เป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนในต่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองของไต้หวัน เวียดนามมีนักธุรกิจและครอบครัวชาวไต้หวันที่อาศัยและทำงานทั้งในระยะสั้นและประจำมากถึง 90,000 คน โดยเฉพาะเวียดนามใต้ที่มีการพัฒนาก่อน กล่าวได้ว่าเป็นดั่งศูนย์รวมนักธุรกิจชาวไต้หวันเลยก็ว่าได้ เนื่องจากมีจำนวนมาก เวียดนามจึงมีสมาคมนักธุรกิจไต้หวันทั้งหมด 14 สาขา สมาคมนักธุรกิจชาวไต้หวันที่จังหวัดบิ่ญเซืองมีสมาชิกมากถึง 600 คน ครองอันดับหนึ่งในบรรดาสมาคมนักธุรกิจไต้หวันทั่วโลก “การจัดประชุมของพวกเขาในแต่ละครั้ง ยังต้องแบ่งเป็นเขต แบ่งถึง 5 รอบเลยเชียวล่ะ” หานกว๋อเย่า (韓國耀) ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำนครโฮจิมินห์กล่าวด้วยเสียงหัวเราะ
เมื่อมองย้อนกลับมา ในไต้หวันมีคู่สมรสชาวเวียดนามประมาณ 110,000 คน ลูกหลานของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ 100,000 คน แรงงานชาวเวียดนามกว่า 250,000 คน และนักศึกษาชาวเวียดนามอีก 20,000 คน ชาวเวียดนามที่มากมายเช่นนี้ จึงส่งผลให้พวกเขากลายเป็นกลุ่มประชากรที่โดดเด่นที่สุดของกลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่
จะเห็นได้ว่า จากรากฐานความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างไต้หวันกับเวียดนาม ทำให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายมีการเดินทางไปมาหาสู่กันบ่อยมาก จากสถิติของกรมส่งเสริมการท่องเที่ยวไต้หวัน ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม พ.ศ. 2566 นักท่องเที่ยวจากเวียดนามเป็นนักท่องเที่ยวรายใหญ่อันดับ 5 ของไต้หวัน และนักท่องเที่ยวไต้หวันก็เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่อันดับ 4 ที่เดินทางเยือนเวียดนามด้วยเช่นกัน
เริ่มต้นจากยุคก่อนประวัติศาสตร์
ความแน่นแฟ้นในการแลกเปลี่ยนกันระหว่างไต้หวันกับเวียดนาม กำลังก้าวสู่จุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ แต่หากย้อนกลับไป สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นหลังจากไต้หวันประกาศใช้นโยบายมุ่งใต้ใหม่อย่างแน่นอน
หงเสี่ยวฉุน (洪曉純) นักวิจัยอาวุโส ภาควิชาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยออสเตรเลีย เคยขุดพบต่างหูหยกที่มาจากหมู่บ้านเฟิงเถียนในเมืองฮัวเหลียนของไต้หวัน บริเวณทางตอนใต้ของเวียดนาม หลักฐานชิ้นนี้แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างไต้หวันกับเวียดนามที่สามารถสืบย้อนหลังไปได้ถึง 2,000 กว่าปีก่อน
อาจารย์เจี่ยงเหวยเหวิน (蔣為文) จากภาควิชาวรรณคดีไต้หวัน มหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมเปรียบเทียบไต้หวัน-เวียดนาม และมีความรู้ด้านประวัติศาสตร์เวียดนามอย่างลึกซึ้ง ได้บอกเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับเวียดนามที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 บริษัทอินเดียตะวันออกที่ชาวดัตช์ก่อตั้ง ขยายการค้ามายังภูมิภาคตะวันออกไกล ในตอนนั้นชาวเวียดนามจำนวนหนึ่งเดินทางเข้ามาไต้หวันทางตอนเหนือพร้อมกับชาวดัตช์ และร่วมบูรณะป้อมปราการซาน โดมินโก (Fort San Domingo) หรือในภาษาจีนนิยมเรียกว่า ป้อมปราการหงเหมาเฉิง นอกจากนี้ ชาวเวียดนามยังเคยเป็นทหารภายใต้การบังคับบัญชาของชาวดัตช์อีกด้วย
ครั้งหนึ่งเฉินซ่างชวน (陳上川-Tran Thuong Xuyen) นายทหารผู้ใต้บังคับบัญชาของเจิ้งเฉินกง จอมทัพในสมัยราชวงศ์ หมิง เคยนำทหาร 3,000 นาย ไปเข้าร่วมกับราชวงศ์เหงียนในเวียดนามเหนือ เพราะต้องการโค่นล้มราชวงศ์ชิง ฟื้นฟูราชวงศ์ หมิง ต่อมาคนกลุ่มนี้ กลายเป็นที่รู้จักกันในนาม “มิงห์เฮือง” (Minh Hương) และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการในราชวงศ์เหงียน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการบุกเบิกพื้นที่เวียดนามทางภาคใต้ ด้วยเหตุนี้ หลังจากเสียชีวิต เฉินซ่างชวนจึงได้รับการยกย่องให้เป็น “เทพชั้นสูง” ทุกวันนี้สามารถพบเห็นรูปปั้นของเฉินซ่างชวนได้ในวัดมิงห์เฮือง (Minh Huong Gia Thanh Temple) ที่ตั้งอยู่ในนครโฮจิมินห์ หรือวัดซินหลินถิง (Tan Lan Temple) และวัดจีนโบราณชีฝู่ (Chùa Ông - Thất Phủ Cổ Miếu) ในเมืองเบียนฮวา โดยช่วงปลายเดือนสิบตามปฏิทินจันทรคติจีน จะมีการจัดพิธีบวงสรวงและมีขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านอีกด้วย
รถบัสสองชั้นนำเที่ยวตัวเมืองโฮจิมินห์ หานกว๋อเย่า ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำนครโฮจิมินห์ กล่าวเชิญชวนชาวเวียดนามไปเที่ยวไต้หวัน
ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยระหว่างไต้หวัน-เวียดนาม
ในศตวรรษที่ 20 เป็นห้วงเวลาที่ภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจระหว่างประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ส่งผลให้ไต้หวันกับเวียดนามเคยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันอย่างมาก
ขณะเกิดสงครามเวียดนาม ในปี พ.ศ. 2509 ไชน่าแอร์ไลน์ สายการบินของไต้หวันได้เลือกไซ่ง่อน (นครโฮจิมินห์ในปัจจุบัน) เป็นเส้นทางการบินระหว่างประเทศเส้นทางแรก
จิตรกรชาวไต้หวัน หลิวฉีเหว่ย (劉其偉) และกวีนักรบชาวไต้หวันหลายท่าน อาทิ ล่อฟู (洛夫) หย่าเสียน (瘂弦) จางม่อ (張默) ก่วนก่วน (管管) ฯลฯ ต่างเคยสร้างสรรค์ผลงานที่เกี่ยวข้องกับเวียดนามเอาไว้ขณะเป็นทหารประจำการอยู่ที่นครโฮจิมินห์ ซึ่งการพูดคุยและแลกเปลี่ยนกับแวดวงวรรณกรรมท้องถิ่นของพวกเขา ได้ส่งอิทธิพลต่อนักกวีภาษาจีนในเวียดนามเป็นอย่างมาก
ยุคที่ไต้หวันยังตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น เจ้าชายเกื่องเด๋ (Cuong De) รัชทายาทแห่งราชวงศ์เหงียนของเวียดนาม ได้รับเชิญเสด็จมายังไต้หวันในปี พ.ศ. 2482 ภายใต้การสนับสนุนของญี่ปุ่น
เจ้าชายเกื่องเด๋ ผู้ที่ต้องการปลดปล่อยเวียดนามจากการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส จึงได้ก่อตั้งกลุ่มเพื่อนร่วมชาติขึ้นที่ไต้หวัน โดยตั้งสำนักงานกระจายเสียงในกรุงไทเป (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์รำลึก 228) ครั้งหนึ่งท่านเคยไปรับประทานอาหารที่ร้านเผิงไหลเก๋อ (蓬萊閣) ร้านอาหารชื่อดังของไต้หวัน และไปแช่บ่อน้ำพุร้อนที่เขตเป่ยโถว ด้วยความชื่นชอบการถ่ายภาพ ท่านจึงเคยคลุกคลีและสนิทสนมกับเผิงรุ่ยหลิน (彭瑞麟) ช่างภาพอาวุโสชาวไต้หวัน ภาพถ่ายสำคัญหลายภาพที่เจ้าชายเกื่องเด๋ทิ้งไว้ ล้วนถ่ายโดยเผิงรุ่ยหลิน เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ ไม่ค่อยมีคนรู้จัก จนกระทั่งถูกคุณหงเต๋อชิง (洪德青) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเดินทางไปอาศัยที่นครโฮจิมินห์กับสามีนักการทูตค้นพบ และเธอได้เขียนเรื่องราวในช่วงประวัติศาสตร์ดังกล่าวในหนังสือที่ชื่อว่า “เมื่อเจ้าชายแห่งเวียดนามเดินเข้าไปในสตูดิโอถ่ายภาพของเผิงรุ่ยหลิน”
ความรุ่งโรจน์แบบติดจรวด
ในฐานะประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน เวียดนามได้เข้าร่วม RCEP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค) และ CPTPP (ความตกลงแบบครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรี และด้วยความที่อยู่ติดกับจีน จึงมีข้อได้เปรียบในการพัฒนาอย่างมาก โดยปัจจุบัน ไต้หวันเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับสี่ของเวียดนาม รองจากสิงคโปร์ เกาหลีใต้และญี่ปุ่น แต่ข้อมูลจากนักธุรกิจไต้หวันในเวียดนามเผยว่า บริษัทไต้หวันมักลงทุนในเวียดนามผ่านช่องทางการลงทุนต่างประเทศ ซึ่งตัวเลขที่แท้จริงของนักธุรกิจไต้หวันที่ลงทุนในเวียดนาม อาจมีมูลค่าสูงแตะอันดับหนึ่งหรืออันดับสองก็เป็นได้
บริษัทไต้หวันที่ไปลงทุนในเวียดนามยุคแรก ๆ มองเห็นข้อได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานที่ต่ำและที่ดินราคาถูก บริษัทแรก ๆ ที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามหลังจากเวียดนามเปิดประเทศ จึงมักเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก เช่น อุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมสิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ไม้ และจักรยาน เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ตั้งโรงงานอยู่ในเขตอุตสาหกรรมจังหวัดด่งนาย จังหวัดบิ่ญเซือง ซึ่งอยู่ติดกับนครโฮจิมินห์
โรงงานเหล่านี้ส่วนมากมีขนาดใหญ่ ใช้แรงงานเยอะ แต่ละโรงงานมีพนักงานมากถึงหลักหมื่นคน ดังนั้น “หากจะกล่าวว่า บริษัทของนักธุรกิจไต้หวันเลี้ยงพนักงานมากที่สุดในเวียดนามก็คงไม่เกินจริง” หยวนจี้ฝาน (袁濟凡) ผู้ก่อตั้งเครือ Eternal Prowess Group ประธานสมาคมนักธุรกิจไต้หวันประจำนครโฮจิมินห์กล่าว ยกตัวอย่างเช่น บริษัทเป่าเฉิง (Pou Chen Group) ผู้ผลิตรองเท้ากีฬารายใหญ่ของโลกสัญชาติไต้หวัน มีพนักงานเวียดนามหลายหมื่นคน ไม่ว่าจะเป็นการประกาศจ่ายเงินโบนัสประจำปีหรือการปรับลดจำนวนพนักงาน มักกลายเป็นข่าวใหญ่ที่ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายเลยทีเดียว
เวียดนามมีวัฒนธรรมอาหารริมทางที่หลากหลาย และอร่อยน่าลิ้มลองจนผู้คนทนความเย้ายวนไม่ได้
แผ่นดินเวียดนามมีเสน่ห์
เวียดนามทำให้คุณหงเต๋อชิง (洪德青) เริ่มต้นชีวิตการเป็นนักเขียน หนังสือเรื่อง “เสียงรอยเท้ามุ่งใต้” (南向跫音) กลายเป็นผลงานที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากผู้คนที่ต้องการเจาะลึกการเดินทางในเวียดนาม ในขณะที่หนังสือเรื่อง “เมื่อเจ้าชายแห่งเวียดนามเดินเข้าไปในสตูดิโอถ่ายภาพของเผิงรุ่ยหลิน” เป็นการนำเสนอเหตุการณ์ที่น่าสนใจทางประวัติศาสตร์ในยุคสมัยหนึ่ง ผ่านภาพถ่าย การเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้อย่างล้ำลึก
เลี่ยวหยุนจัง (廖雲章) สื่อมวลชนที่มีความสนใจในประเด็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายาวนาน ด้วยความที่อยากเข้าใจจดหมายของแรงงานเวียดนามที่ทำงานเป็นผู้อนุบาลในบ้านของเธอ เธอจึงพักงานของตนเองชั่วคราว และเดินทางไปเรียนภาษาระยะสั้นที่มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์นครโฮจิมินห์ เธอได้รวบรวมประสบการณ์ที่พบเจอ ผสมผสานมุมมองของผู้หญิง เขียนหนังสือเรื่อง “พเนจรในไซ่ง่อนหนึ่งร้อยวัน” (Xin Chào Sài Gòn) ความผูกพันและความสัมพันธ์กับผู้คนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่อยู่เวียดนาม ได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่ผลักดันเธอไปสู่ความสนใจและห่วงใยในประเด็นเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาจนถึงทุกวันนี้
เจี่ยงเหวยเหวิน (蔣為文) ผู้ที่ทำวิจัยเปรียบเทียบระหว่างไต้หวันกับเวียดนามมานานกว่า 20 ปี ในตอนแรกเริ่มเขาสนใจเวียดนามจากการวิจัยด้านภาษาศาสตร์ ต่อมาเขาค้นพบว่า แม้อิทธิพลของวัฒนธรรมต่างชาติจะแข็งแกร่งเพียงใด แต่ชาวเวียดนามก็ยังมีความมุ่งมั่นรักษาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนเอาไว้ ความเชื่อมั่นในตนเองและความยืดหยุ่นทางชนชาติเช่นนี้ เป็นคุณลักษณะที่ไต้หวันควรเรียนรู้ ดังนั้น นอกเหนือจากการวิจัยทางวิชาการแล้ว เขายังมีความกระตือรือร้นในการจัดงานสัมมนา กิจกรรมการบรรยายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านองค์กรเอกชน อาทิ สมาคมวัฒนธรรมไต้หวัน-เวียดนาม สมาคมนักเขียนภาษาไต้หวัน (Taiwanese Pen) เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในภาคประชาชน ระหว่างไต้หวันกับเวียดนาม ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป
ถึงแม้จะมีภูมิหลังที่แตกต่างกัน แต่พวกเขาต่างค้นพบสิ่งที่ทำให้ตนเองทุ่มเทให้กับผืนแผ่นดินนี้ ชาวไต้หวันที่ตั้งรกรากหรือพำนักอาศัยอยู่ในเวียดนามมาอย่างยาวนานมักจะพูดเสมอว่า “แผ่นดินเวียดนามมีเสน่ห์ ดึงดูดผู้คนได้นะ”
เพิ่มเติม