
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 15 พ.ค. 67
ประธานร่วม “สโมสรฟอร์โมซา” (Formosa Club) และสมาชิกรัฐสภาของประเทศในภูมิภาคยุโรป ซึ่งรวมถึงรัฐสภายุโรป จำนวน 870 คนจาก 29 ประเทศ ต่างร่วมลงนามในหนังสือเรียกร้องเพื่อยื่นต่อ Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus เลขาธิการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ครั้งที่ 77 และเข้าร่วมการประชุม กลไกและกิจกรรมภายใต้องค์การ WHO นอกจากนี้ยังได้ส่งสำเนาหนังสือเรียกร้องถึง Mr. Charles Michel ประธานคณะมนตรียุโรป Ms. Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และ Mr. Josep Borrell ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง
เนื้อความในหนังสือเรียกร้องระบุว่า แม้ว่าประชาคมโลกจะยอมรับผลสัมฤทธิ์จากการป้องกันโรคระบาดในช่วงระหว่างสถานการณ์โรคโควิด – 19 ของไต้หวัน และไต้หวันได้ยื่นมือให้ความช่วยเหลือสกัดกั้นโรคระบาดแก่นานาประเทศ แต่ถึงกระนั้น ไต้หวันก็ยังไม่สามารถเข้าร่วมการเจรจาความตกลงสถานการณ์โรคระบาดทั่วโลก (pandemic agreement) ขององค์การ WHO ได้ เนื่องจาก WHO กีดกันไต้หวันให้อยู่นอกระบบ จึงทำให้ไต้หวันไม่สามารถได้รับข้อมูลเชิงสาธารณสุขโลกได้อย่างทันท่วงที ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิทธิของประชาชนชาวไต้หวัน ตลอดจนส่งผลให้เครือข่ายด้านสาธารณสุขโลกเกิดช่องโหว่ อันจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางสาธารณสุขโลก ด้วยเหตุนี้ จึงขอเรียกร้องให้ WHO ใช้มาตรการที่เปิดกว้างและยืดหยุ่นมากกว่าเดิม รับฟังเสียงของภาคประชาชนชาวไต้หวันที่ต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาและกำหนดนโยบายสาธารณสุขโลก ตลอดจนเชิญชวนให้ไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA ในฐานะผู้สังเกตการณ์โดยเร็ววัน
ในปีนี้ประจวบกับเป็นวาระการจัดการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาของหลายประเทศในทวีปยุโรป โดยรัฐสภายุโรปมีกำหนดการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในเดือนมิถุนายน 2567 ภายใต้สถานการณ์ที่เหล่าสมาชิกรัฐสภามุ่งมั่นจดจ่ออยู่กับภารกิจการเลือกตั้ง แต่ก็ยังมีเหล่าสมาชิกรัฐสภา จำนวน 870 คนจากกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปและสมาชิกรัฐสภาแคนาดา ร่วมลงนามในหนังสือเรียกร้องข้างต้น แสดงให้เห็นว่า การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมใน WHO และ WHA ถือเป็นฉันทามติขั้นสูงในประชาคมโลก ประกอบกับเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปได้ผ่านญัตติ “รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงร่วมกัน (Common Foreign and Security Policy, CFSP)” เพื่อแสดงจุดยืนว่าด้วยการสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ อย่าง WHO องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เป็นต้น
กต.ไต้หวันรู้สึกยินดีและขอบคุณประเทศหุ้นส่วนในภูมิภาคยุโรปที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ด้วยใจจริง สำหรับการสนับสนุนให้ไต้หวันมีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศด้วยวิธีการที่เป็นรูปธรรม โดยในอนาคต ไต้หวันจะมุ่งพัฒนาความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนกับรัฐสภายุโรปและรัฐสภาของนานาประเทศต่อไป เพื่อร่วมเสริมสร้างความยืดหยุ่นและสวัสดิการด้านสาธารณสุขโลกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นสืบไป