กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 28 พ.ค. 67
การประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ครั้งที่ 77 ที่เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา 11 ประเทศพันธมิตรของไต้หวันที่เป็นประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) ต่างยื่นเสนอ “ญัตติว่าด้วยการเชิญไต้หวันเข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก” ในฐานะผู้สังเกตการณ์ พร้อมทั้งมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของ 4 ประเทศ ที่ประกอบด้วย หมู่เกาะมาร์แชลล์ เซนต์ลูเซีย เบลีซและเซนต์วินเซนต์ เข้าร่วม “การประชุมอภิปรายทั่วไปรูปแบบ 2 ต่อ 2” ที่จัดขึ้นในระหว่าง “การประชุมคณะกรรมการ” และ “การประชุมใหญ่” เพื่อร่วมหารือกับรัฐบาลจีนและกลุ่มประเทศที่สนับสนุนจีน อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รู้สึกเสียใจและไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งต่อการที่ที่ประชุมใหญ่มิได้กำหนดให้ญัตติที่เสนอโดยกลุ่มประเทศพันธมิตรของไต้หวัน เข้าสู่วาระการประชุมในปีนี้
ในระหว่างการประชุมอภิปราย 4 รมว.สธ.ของประเทศพันธมิตรต่างทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวัน ด้วยการเรียกร้องให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนในการเข้าสู่ระบบสาธารณสุขโลกของไต้หวัน โดยกลุ่มรมว.สธ.ของประเทศพันธมิตรต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนทางสาธารณสุขโลกที่มีความรับผิดชอบ ซึ่งสามารถสร้างคุณประโยชน์แก่ประชาคมโลกได้ จึงขอเรียกร้องให้ WHO และกลุ่มประเทศสมาชิกร่วมให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมในการประชุม กลไกและกิจกรรมภายใต้องค์การ WHO และการประชุม WHA ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบรรลุสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามมาตรฐานขั้นสูงที่ระบุไว้ในกฎบัตรของ WHO ตลอดจนเป็นการบรรลุเป้าหมายของการประชุม WHA ในปีนี้ที่ว่า “สุขภาพดีถ้วนหน้า เป็นหน้าที่ของเราทุกคน” (Health for All, All for Health)
ตัวแทนรัฐบาลจีน คิวบาและปากีสถาน ก็ยังคงหยิบยกคำกล่าวอ้างแบบซ้ำเดิมในระหว่างการประชุมอภิปราย อีกทั้งยังใช้เครื่องมือทางการเมืองมาเป็นปัจจัยต่อรองในระบบความมั่นคงทางสาธารณสุข โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสับสน สะท้อนให้เห็นถึงแก่นแท้ของจีนที่ไร้ซึ่งความปราณี ซึ่งนอกจากจะมองข้ามสิทธิด้านสุขภาพของประชาชนชาวไต้หวันและมวลมนุษยชาติทั่วโลกแล้ว ยังเป็นการทำลายจิตวิญญาณของ WHO ที่มุ่งมั่นธำรงรักษาไว้ นับตั้งแต่ที่มีการก่อตั้งมาอีกด้วย
กต.ไต้หวันแสดงจุดยืนว่า สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสาธารณรัฐประชาชนจีน มิได้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน “หลักการจีนเดียว” ที่จีนกล่าวอ้าง มิใช่ฉันทามติและแนวทางที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก รัฐบาลจีนจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงของญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 และญัตติที่ประชุม WHA ฉบับที่ 25.1 เพื่อขัดขวางมิให้ไต้หวันมีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั้น ญัตติ 2 ฉบับข้างต้น มิได้มีการระบุไว้ว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน และมิได้มอบอำนาจให้จีนเป็นตัวแทนของไต้หวันในระบบสหประชาชาติ มีเพียงรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งโดยภาคประชาชนชาวไต้หวัน จึงจะมีสิทธิเป็นตัวแทนของภาคประชาชนชาวไต้หวันใน WHO รวมถึงระบบสหประชาติและองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ได้ โดยจีนไม่มีสิทธิแทรกแซงและสร้างข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น
กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกับไต้หวัน ต่างได้ทยอยเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนไต้หวัน ในระหว่างการประชุมอภิปรายทั่วไปในวันแรก อาทิ ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยมในฐานะตัวแทนสหภาพยุโรป (EU) และประเทศสมาชิก ต่างได้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวัน โดยในจำนวนนี้ ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนีและออสเตรเลีย ยังได้มีการระบุถึงไต้หวันอย่างชัดเจนต่อเนื่องจากเมื่อปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งเน้นย้ำความสำคัญทางความร่วมมือกับหุ้นส่วนต่างๆ ที่ครอบคลุมไปถึงไต้หวัน ตลอดจนแสดงจุดยืนว่าด้วยการยอมรับให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการประชุม กิจกรรมและกลไกภายใต้องค์การ WHO และการประชุม WHA ส่วนตัวแทนเนเธอร์แลนด์ระบุว่า ไม่ควรละทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง และพร้อมให้การสนับสนุนทุกฝ่ายที่สามารถอุทิศคุณประโยชน์ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขโลกในการเข้ามีส่วนร่วมอย่างเปิดกว้าง สำหรับตัวแทนเบลเยี่ยมได้กล่าวแสดงความคิดเห็นในฐานะประธานหมุนเวียนของสหภาพยุโรปในปีนี้ โดยเน้นย้ำว่า WHO ควรสวมบทบาทในการส่งเสริมการประสานงานและความร่วมมือในรูปแบบการยอมรับซึ่งกันและกัน โดยเรียกร้องมิให้ WHO ละทิ้งผู้ใดหรือพื้นที่ภูมิภาคใดไว้เบื้องหลัง ซึ่งสอดคล้องกับแผนผลักดันการเข้าร่วม WHO และ WHA ของไต้หวัน
กต.ไต้หวันขอขอบคุณประเทศพันธมิตรและกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ที่ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนไต้หวันในเวทีการประชุม WHA อย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงพลังเสียงสนับสนุนไต้หวันที่ทวีความหนักแน่นเพิ่มมากขึ้นในทุกปี หลังจากนี้ กต.ไต้หวันจะประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศพันธมิตรและบรรดาประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันต่อไป เพื่อกระตุ้นความมั่นคงทางสาธารณสุขโลก ตลอดจนเรียกร้องให้ WHO เคารพในหลักการความเป็นกลางและความเชี่ยวชาญ ตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในกฎบัตรของ WHO ตลอดจนตระหนักถึงข้อเรียกร้องของทุกฝ่ายที่ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วม WHO และ WHA ปฏิเสธทุกการกระทำที่เป็นการขัดขวางอันเนื่องมาจากเหตุผลทางการเมืองของจีน ด้วยการเปิดรับไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA ในฐานะผู้สังเกตการณ์ รวมไปถึงการประชุม กลไกและกิจกรรมใดๆ ภายใต้องค์การ WHO