
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 1 มิ.ย. 67
การประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ครั้งที่ 77 ได้ปิดฉากลงอย่างราบรื่นเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา ความมุ่งมั่นตั้งใจของไต้หวันในการแสวงหาหนทางเข้าร่วม ได้รับการสนับสนุนจากประชาคมโลกมากกว่าครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา นอกจาก 11 ประเทศพันธมิตรของไต้หวันที่เป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) จะร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันในที่ประชุมใหญ่แล้ว กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี เช็ก ลิทัวเนีย นิวซีแลนด์ เอสโตเนีย ลักเซมเบิร์ก ลัตเวีย อิสราเอล เนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยม ต่างก็ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนไต้หวันด้วย อีกทั้งยังเป็นปีแรกที่รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้มีการระบุถึงไต้หวัน ในขณะที่เนเธอร์แลนด์ก็ได้แสดงจุดยืนให้การสนับสนุนไต้หวันผ่านวิธีการทางอ้อม ด้วยการเน้นย้ำหลักการที่ว่า “มิควรละทิ้งผู้ใดไว้ข้างหลัง” นอกจากนี้ เบลเยี่ยมยังร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันในฐานะประธานหมุนเวียนของสหภาพยุโรปในปีนี้ โดยเรียกร้องต่อ WHO มิให้ละทิ้งผู้ใด หรือพื้นที่ รวมถึงภูมิภาคใดไว้เบื้องหลัง สำหรับประเด็นที่จีนและกลุ่มประเทศที่สนับสนุนจีน จงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงของญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 และญัตติที่ประชุม WHA ฉบับที่ 25.1 เพื่อขัดขวางมิให้ไต้หวันมีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ ทั้งสหรัฐฯ เซนต์คิตส์และเนวิส เซนต์วินเซนต์ ตูวาลูและเบลีซ ล้วนแต่แสดงจุดยืนที่เป็นการประท้วงอย่างเต็มที่ กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณสุข (ไต้หวัน) ขอแสดงความขอบคุณด้วยใจจริง สำหรับพลังเสียงข้างต้นเหล่านี้ที่สนับสนุนไต้หวันอย่างเต็มที่ด้วยความจริงใจ
นอกจากนี้ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ” (G7) “การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศและกลาโหม 2+2 ระหว่างอังกฤษ - ออสเตรเลีย” “สมุดปกน้ำเงินด้านการต่างประเทศ ประจำปี 2567” ที่ประกาศโดยกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น “รายงานติดตามผลการดำเนินการผลักดันไต้หวันเข้าร่วมองค์การอนามัยโลก” ที่รัฐบาลกลางเยอรมนียื่นเสนอให้แก่รัฐสภา รวมไปถึง “รายงานว่าด้วยคำมั่นและจุดยืนในการเข้าร่วมองค์การ WHO ประจำปีนี้” ที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยื่นเสนอให้แก่รัฐสภา ประกอบกับ Mr. Antony Blinken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ Mr. Hayashi Yoshimasa เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น Ms.Hadja Lahbib รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเบลเยี่ยม Ms. Hanke Bruins Slot รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์ Mr. Tobias Billström รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสวีเดน Mr. Franck Riester รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส ต่างก็ทยอยแสดงจุดยืนในการสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วม WHO และ WHA อย่างเปิดเผย นอกจากนี้ สำนักงานตัวแทนรัฐบาลต่างประเทศที่เข้าประจำการในไต้หวัน ทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา เยอรมนี เช็กและลิทัวเนีย ต่างก็ทยอยประกาศจดหมายข่าวที่แสดงจุดยืนให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างหนักแน่น ด้านสภานิติบัญญัติของสหรัฐฯ เช็ก ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ เซนต์คิตส์และเนวิส หมู่เกาะมาร์แชลล์ กัวเตมาลา และรัฐสภายุโรป รวมไปถึง “สโมสรฟอร์โมซา” ในทุกพื้นที่ รวมจำนวนสมาชิกสภากว่า 4,000 คน ต่างก็เสนอข้อเรียกร้องต่อ WHO ให้เปิดรับไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในเร็ววัน
ในระหว่างที่พำนักอยู่ในกรุงเจนีวา “คณะปฏิบัติการด้านสาธารณสุขของไต้หวัน” ที่นำโดยนายชิวไท่หยวน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวัน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนและสร้างปฏิสัมพันธ์กับคณะตัวแทนรวมถึงคณะผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศทั่วโลกอย่างกระตือรือร้น โดยสธ.ไต้หวันและกองทุนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไต้หวัน (Taiwan ICDF) ยังได้ประสานความร่วมมือจัดการประชุมเสวนาทางความเชี่ยวชาญในประเด็นต่างๆ อาทิ สถานการณ์โรคระบาด สุขภาพช่องปาก การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic care) และการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งได้รับเสียงตอบรับในทางบวกอย่างล้นหลาม
ในระหว่างนี้ นายเจียงฉี่เฉิน รองประธานสภานิติบัญญัติไต้หวันและนางเฉินจิงฮุย นายหวังเจิ้งสวี่ และนางหลินอี้จวิน จากคณะผู้ตรวจการณ์ของสภานิติบัญญัติไต้หวัน ก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อย่างกระตือรือร้น พร้อมทั้งจัดการแลกเปลี่ยนทางการทูตระหว่างรัฐสภา เพื่อแสดงให้ประชาคมโลกตระหนักว่า ทุกฝ่ายในไต้หวันต่างสนับสนุนแผนผลักดันของรัฐบาลอย่างสามัคคี โดยไม่แบ่งแยกฝักฝ่าย เพื่อแสวงหาพลังสนับสนุนจากนานาประเทศทั่วโลก
ขณะนี้ ผลงานวีดิทัศน์เรื่อง “บ้านหลังที่สองของฉัน” (My Second Home) ของกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) มียอดผู้เข้าชมจำนวนทั้งสิ้น 26.96 ล้านคนแล้ว โดยสื่อนานาชาติได้ตีพิมพ์เผยแพร่บทความพิเศษกว่า 373 ฉบับ ซึ่งเป็นบทความที่มาจากคอลัมน์พิเศษของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บทความที่เรียบเรียงโดยสำนักงานตัวแทนไต้หวันในต่างแดน บทวิจารณ์ที่เป็นมิตรต่อไต้หวันที่เรียบเรียงโดยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญของนานาประเทศ รวมไปถึงสกู๊ปข่าวและรายงานข่าวต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ เฟซบุ๊กแฟนเพจของกต.ไต้หวันและสำนักงานตัวแทนไต้หวันในต่างแดน รวมไปถึงอินสตราแกรม (IG) , Threads และแพลตฟอร์ม X ยังได้มีการโพสต์ข้อความ รวมจำนวน 2,772 ฉบับ ซึ่งมีจำนวนผู้เข้าถึงสะสมรวม 21.99 ล้านคน ในจำนวนนี้ ประกอบด้วย Ms. Nancy Pelosi ประธานสภาผู้แทนราษฎรกิตติมศักดิ์ของสหรัฐฯ Mr.Ben Cardin ประธานคณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯ Mr. James Risch ประธานคณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศของพรรครีพับลิกันแห่งวุฒิสภาสหรัฐฯ ต่างก็ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวัน ผ่านโซเชียลมีเดีย ด้วยการติดสโลแกน “#TaiwanCanHelp” “#LetTaiwanHelp” “#TaiwanDelivers” และ “#CountTaiwanIn”
แผนผลักดันของรัฐบาลไต้หวันในปีนี้ ได้รับเสียงตอบรับที่ดีและเพิ่มขึ้นมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความสมเหตุสมผลในการเข้าร่วม WHO และ WHA ของไต้หวัน โดยไต้หวันมีศักยภาพและมีความสมัครใจในการประสานความร่วมมือกับนานาประเทศทั่วโลก เพื่อร่วมบรรลุเป้าหมาย “สุขภาพดีถ้วนหน้า เป็นหน้าที่ของเราทุกคน” (Health for All, All for Health) ท้ายนี้ กต.ไต้หวันขอเรียกร้องให้สำนักเลขาธิการ WHO อย่าได้ละเลยหรือมองข้ามเสียงสนับสนุนไต้หวันจากประชาคมโลก พร้อมยืนหยัดในหลักการความเป็นกลางและความเชี่ยวชาญ รวมทั้งคาดหวังที่จะเห็น WHO เชิญให้ไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA ในฐานะผู้สังเกตการณ์โดยเร็ววัน ตลอดจนเปิดรับไต้หวันให้เข้ามีส่วนร่วมในการประชุม กลไกและกิจกรรมต่างๆ ภายใต้องค์การ WHO อย่างครอบคลุมต่อไป