
กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 3 มิ.ย. 67
เพื่อให้ความช่วยเหลือขยายตลาดต่างประเทศแก่ผู้ประกอบการสินค้าเอกลักษณ์ในตัวเมืองและพื้นที่ชนบท นายเฉินมี่ซุ่น รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและธุรกิจสตาร์ทอัพ พร้อมด้วยผู้ประกอบการในเขตตัวเมืองและพื้นที่ชนบท 28 ราย ได้นำผลิตภัณฑ์กว่าร้อยรายการ เข้าร่วม “กิจกรรมจับคู่ผลิตภัณฑ์อาหารไต้หวันและกิจกรรมชวนชิม” ที่จัดขึ้น ณ ห้องบอลลูนบริเวณชั้น 4 ของโรงแรม Hotel Gajoen Tokyo ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งสามารถดึงดูดตัวแทนช่องทางจัดจำหน่ายนับร้อยรายของญี่ปุ่นและผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอย่างคึกคัก โดยนางจางสูหลิง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำเมืองโยโกฮาม่า และนายเหอคุณซง รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจประจำสำนักงานฯ ก็ได้เดินทางมาเข้าร่วมด้วย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไต้หวันทำความเข้าใจต่ออุปสงค์ของตลาด ควบคู่ไปกับการจัดตั้งกลไกความเชื่อมโยงระหว่างช่องทางการจัดจำหน่ายของญี่ปุ่นและผู้ประกอบการนำเข้า ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขยายโอกาสธุรกิจในต่างแดนให้แก่ไต้หวัน
นายเฉินมี่ซุ่น กล่าวว่า นับเป็นครั้งที่ 4 ที่มีการจัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจขึ้น โดยสินค้าที่นำเสนอครอบคลุมเอกลักษณ์เฉพาะของไต้หวัน อย่างพายสัปปะรด ขนมนูกัต ใบชาจากทะเลสาบสุริยันจันทรา ชานางงามบูรพา และซอสสูตรพิเศษต่างๆ ที่ชวนให้น้ำลายสอ
กิจกรรมครั้งนี้ได้กระตุ้นให้ผู้ประกอบการและกลุ่มผู้ซื้อสร้างปฏิสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เพื่อทำความเข้าใจต่อความต้องการระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยตัวแทนญี่ปุ่นที่เข้าร่วมในกิจกรรม ยังได้ชี้แนะสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและความชื่นชอบของชาวญี่ปุ่น เพื่อที่จะสามารถวางจำหน่ายตามท้องตลาดในญี่ปุ่นได้อย่างราบรื่น หลังกิจกรรมปิดฉากลง มีตัวแทนผู้ประกอบการญี่ปุ่น จำนวน 54 ราย ที่มีความประสงค์จะเปิดเจรจาทางการค้ากับไต้หวัน โดยสนง.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จะยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในการเชื่อมโยงประสานความร่วมมือและพิธีการทางศุลกากรต่อไป เพื่อผลักดันให้สินค้าคุณภาพของไต้หวัน เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในเวทีนานาชาติ
นอกจากกิจกรรมชวนชิมแล้ว คณะตัวแทนไต้หวันยังได้เข้าพบปะกับผู้ประกอบการ amazon.co.jp , Rakuten , Eslite Spectrum Nihonbashi และบริษัทไปรษณีย์ญี่ปุ่น เพื่อแสวงหาโอกาสความร่วมมือด้านโลจิสติกส์และการจัดจำหน่ายสินค้าตามท้องตลาด โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะจัดตั้งช่องทางการรุกขยายสู่ตลาดญี่ปุ่น ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงในการกักตุนสินค้า และช่วยลดต้นทุนการส่งออกไปญี่ปุ่นของเหล่าผู้ประกอบการไต้หวัน