ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ตะลึงกับความงามของเกาะแห่งภูเขาสูง เหตุผลที่ทำให้ชาวต่างชาติ ต้องมาเยือนไต้หวันให้ได้
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2024-06-17

คุณหยางจื้อหมิง เป็นที่รู้จักในวงการปีนเขาในชื่อ “บิ๊กหยาง” ใช้ภูเขา ในการแนะนำชาวต่างชาติรู้จักไต้หวัน

คุณหยางจื้อหมิง เป็นที่รู้จักในวงการปีนเขาในชื่อ “บิ๊กหยาง” ใช้ภูเขา ในการแนะนำชาวต่างชาติรู้จักไต้หวัน
 

ชาวต่างชาติจำนวนมากที่พำนักอาศัยอยู่ในไต้หวันเป็นเวลานาน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ชื่นชอบภูเขาของไต้หวันเป็นพิเศษ ภูเขาของไต้หวันมีความพิเศษอย่างไร เหตุใดจึงชนะใจพวกเขา?

 

หากนั่งเครื่องบินจากทางทิศใต้กลับมายังไต้หวัน จะมองเห็นภูเขาสูงโผล่ขึ้นมาเหนือกลุ่มเมฆขาว ตั้งตระหง่านอยู่ไกลลิบ ๆ ทอดตัวเป็นแนวยาวไปจนสุดทางที่ชายฝั่งทะเล

ภูเขา ถือเป็นลักษณะภูมิทัศน์ที่โดดเด่นที่สุดของไต้หวัน โดยพื้นที่ร้อยละ 70 ของไต้หวันเป็นที่ราบสูงและภูเขา ในจำนวนนี้รวมถึงภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 3,000 เมตรขึ้นไปเป็นจำนวนทั้งสิ้น 269 ลูก อาทิ ภูเขาอวี้ซานซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 3,952 เมตร และได้ชื่อว่าเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

นอกจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นภูเขาและป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์แล้ว สภาพแวดล้อมของไต้หวันก็เหมือนกับถูกย่อส่วนให้เล็กลง ยกตัวอย่างเช่น การเดินทางไปยังชายฝั่งทางภาคตะวันออกเพื่อนั่งเรือออกทะเล จะใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น ก็สามารถมองเห็นวาฬและโลมาว่ายผลุบโผล่อยู่กลางทะเลลึก ในยามค่ำคืนยังสามารถขึ้นไปพักแรมบนภูเขาในเขตอุทยานแห่งชาติทาโรโกะได้ สำหรับคนไต้หวันแล้ว นี่เป็นเรื่องธรรมดาที่พบเจอในชีวิตประจำวัน แต่ในสายตาของชาวต่างชาติจำนวนมาก กลับเห็นว่าเป็นเรื่องที่พิเศษเป็นอย่างยิ่ง

จากการที่อายุทางธรณีวิทยาของไต้หวันไม่มากนัก และเป็นเกาะกลางทะเลที่เกิดจากแผ่นเปลือกโลกยูเรเชียกับแผ่นเปลือกโลกทะเลฟิลิปปินส์ เคลื่อนเข้าชนและอัดตัวกัน ทำให้เปลือกโลกถูกดันขึ้นมา ประกอบกับไต้หวันตั้งอยู่บนรอยต่อระหว่างเส้นละติจูดเขตร้อนกับเขตกึ่งร้อนพอดิบพอดี ส่งผลให้มีความหลากหลายทางชีวภาพและธรณีวิทยา โดยเฉพาะลักษณะทางธรณีวิทยา จัดว่ามีความแปลกประหลาดและน่าอัศจรรย์

อย่างไรก็ดี ทัศนียภาพภูเขาของไต้หวันกลับทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้สึกแปลกใหม่และประทับใจ Mike Lo หรือชื่อภาษาจีนคือ หลัวหมิงรุ่ย (羅明瑞) เป็นนักวิ่งจากสาธารณรัฐเช็กที่มาตั้งรกรากอยู่ในไต้หวันเป็นเวลานานหลายปี เนื่องจากชื่นชอบป่าเขาลำเนาไพร จึงตัดสินใจรับหน้าที่อาสาสมัครถาวรประจำอุทยานแห่งชาติทาโรโกะ เขากล่าวว่า “ภูเขาในไต้หวัน มีความเป็นธรรมชาติมาก” คุณหลัวหมิงรุ่ยอธิบายว่า “ตอนที่อยู่ยุโรป เราสามารถเดินเข้าไปในป่าได้ง่าย ๆ แต่ภูเขาในไต้หวัน หากไม่มีเส้นทางเดินป่าก็เป็นเรื่องยากที่จะเข้าไป”

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อเทียบกับอาหารว่าง ชา เครื่องดื่มมือเขย่า ตลาดนัดกลางคืน ตึกไทเป 101 ศาลเจ้าและวัดวาอาราม ซึ่งเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวที่เป็นอัตลักษณ์ของไต้หวันแล้ว ป่าเขาลำเนาไพรในไต้หวันจึงมีความพิเศษที่โดดเด่นมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างฮ่องกง ที่มีชื่อเสียงในเรื่องของอาหารว่าง หรือประเทศไทยที่มีชื่อเสียงในเรื่องของไนท์บาซาร์ มีศาลเจ้าและวัดวาอารามที่เป็นเอกลักษณ์ร่วมกันของชุมชนชาวจีน แต่ภูเขาเป็นสิ่งที่ทำให้ไต้หวันโดดเด่นสะดุดตามากกว่า
 

ไทเปซึ่งเป็นพื้นที่แอ่งกระทะมีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นป่าไม้และภูเขามากมาย อาทิ เสี่ยวหยิวเคิง (ภาพซ้าย) และฉิงเทียนกัง (ภาพขวา) ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวบนภูเขาหยางหมิงซาน ช่วยให้นักท่องเที่ยวมองเห็นอีกด้านหนึ่งของไทเป นอกเหนือจากทัศนียภาพในเขตตัวเมือง

ไทเปซึ่งเป็นพื้นที่แอ่งกระทะมีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นป่าไม้และภูเขามากมาย อาทิ เสี่ยวหยิวเคิง (ภาพซ้าย) และฉิงเทียนกัง (ภาพขวา) ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวบนภูเขาหยางหมิงซาน ช่วยให้นักท่องเที่ยวมองเห็นอีกด้านหนึ่งของไทเป นอกเหนือจากทัศนียภาพในเขตตัวเมือง
 

ทุกคนมีเส้นทางของตนเอง

ผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่เน้นรับ “นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ” เปิดเผยว่า สามารถใช้ภูเขามาเป็นจุดขายสำคัญในการโปรโมทการท่องเที่ยวไต้หวัน

เหตุใดจึงรู้สึกเช่นนั้น? เห็นได้จากการที่กรุงไทเปมีภูเขาล้อมรอบทั้งสี่ด้าน และเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเยือนไต้หวัน

ยามเช้าของวันทำงานวันหนึ่ง ทีมงานของไต้หวันพาโนรามาได้ไปเดินตามคุณหยางจื่อหมิง (楊志明) ผู้ก่อตั้งบริษัท Wildman International Travel & Tours จากประตูทางออกของสถานีรถไฟฟ้าไปจนถึงทางขึ้นภูเขาเซี่ยงซานหรือภูเขาช้าง

เซี่ยงซานเป็น 1 ในภูเขาที่ตั้งอยู่บนเส้นทางเดินป่าซื่อโซ่วซาน และเป็นตัวเลือกสำหรับการเดินออกกำลังกายในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ของชาวไทเปที่ได้รับความนิยมมาก แต่ในวันทำงานเซี่ยงซานจะต่างจากช่วงวันหยุดมาก ตามเส้นทางเดินขึ้นเขาจะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่มีสีสันสดใสสวยงาม และยังได้ยินภาษาต่างประเทศ อาทิ ภาษาญี่ปุ่น เกาหลี อังกฤษ ฝรั่งเศส และภาษาจีนสำเนียงมาเลย์ ปะปนกันตลอดทาง คุณหยางจื่อหมิงกล่าวว่า “หากเป็นคณะนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ที่นี่เป็นจุดท่องเที่ยวที่พวกเขาระบุว่า ต้องมาให้ได้”

นอกจากหินยักษ์ 6 ก้อนบริเวณข้างเส้นทางเดินขึ้นเขา ที่เป็นเป้าหมายของบรรดานักท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นระเบียงชมวิวที่สามารถมองเห็นอาคารไทเป 101 ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พวกเขาเดินทางมาที่นี่ ในยามพลบค่ำยังมีโอกาสได้เห็นชาวต่างชาติรวมกลุ่มกันแบกขนม น้ำ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขึ้นมาจัดปาร์ตี้กันที่ระเบียงชมวิวแห่งนี้

สามารถกล่าวได้ว่า ชาวไทเปซึ่งดำรงชีวิตอยู่ในเมืองที่ถูกโอบล้อมด้วยขุนเขา ไม่มีอะไรจะมีความสุขมากไปกว่านี้อีกแล้ว นอกจากเส้นทางเดินป่าซื่อโซ่วซานที่การคมนาคมสะดวกสบายแล้ว เพียงแค่เคยชินกับการเดินป่าปีนเขา ก็สามารถค้นหาและเชื่อมโยงเส้นทางภูเขาแถบชานเมืองที่ใกล้กับย่านที่พักอาศัยของตนเองได้อย่างง่ายดาย คุณกัวไต้ฉี (郭岱奇) ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท Edison Tours เล่าว่า “พื้นที่ทางตอนใต้มีเส้นทางเดินป่าเมาคง เขตซื่อหลินและเทียนหมู่ก็มีเส้นทางโบราณเทียนหมู่ และเส้นทางเดินป่าของอุทยานแห่งชาติหยางหมิงซาน”

เพื่อขานรับกระแสความนิยมการเดินเขาในไต้หวัน หน่วยงานภาครัฐทุกระดับ ตั้งแต่ส่วนกลางไปจนถึงส่วนท้องถิ่นได้จัดให้มีการรวบรวมจำนวน บูรณาการ และเชื่อมโยงทรัพยากรที่เป็นเส้นทางเดินป่าในทุกพื้นที่ของไต้หวัน คุณกัวไต้ฉีเปิดเผยว่า ไม่ว่าสภาพร่างกายของคุณจะเป็นอย่างไร ทำการออกกำลังกายเป็นประจำจนเป็นนิสัยหรือไม่ มีความประสงค์อะไร ยินดีที่จะพกพาอุปกรณ์ติดตัวไปด้วยหรือไม่ ต้องการโปรแกรมการเดินทางแบบไปกลับภายใน 1 วันหรือแบบหลายวัน หรือแม้กระทั่งชื่นชอบกิจกรรมบางอย่างเป็นพิเศษ อาทิ ต้องการชมนก ชมผีเสื้อ อยากปีนยอดเขาที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ อยากชมภูมิประเทศที่เป็นธารน้ำแข็งหรือสัมผัสวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองไต้หวัน ในไต้หวันซึ่งเป็นดินแดนที่มีทรัพยากรภูเขาและป่าไม้ที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ “ทุกคนสามารถค้นพบเส้นทางของตนเองได้”

บริษัท Edison Tours ทำธุรกิจหลักเกี่ยวกับการปีนเขาของนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเป็นเวลา 36 ปีแล้ว คุณกัวไต้ฉี วิเคราะห์ว่า ร้อยละ 70 ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนไต้หวันจะเดินทางมายังไทเป เฉพาะเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ของไทเป ไม่ว่าจะเป็นการอุ่นเครื่องก่อนไปปีนภูเขาที่มีชื่อเสียง หรือแค่ต้องการชมทิวทัศน์ตามธรรมชาติ ไทเปมีสถานที่ท่องเที่ยวมากพอสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวแบบไปกลับภายในเวลาครึ่งวันหรือหนึ่งวัน

 

เดินไปตามเส้นทางโบราณ ชวนให้นึกถึงเรื่องราวในยุคอดีต

เมื่อการคมนาคมมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การท่องเที่ยวเชิงลึกกลายเป็นกระแสนิยมในยุคปัจจุบัน ในระยะหลายปีมานี้ เส้นทางโบราณที่มีบทบาทสำคัญในด้านการคมนาคมในยุคที่ยังไม่มีทางหลวงและทางรถไฟ ได้กลายเป็นเส้นทางยอดนิยมที่ใช้ในการสำรวจไต้หวันในเชิงลึกของนักท่องเที่ยวจากทั้งในและต่างประเทศ

เส้นทางโบราณตั้นหลาน (淡蘭古道) ที่เชื่อมโยงกรุงไทเป เมืองจีหลง และเมืองอี๋หลานเข้าด้วยกัน มีชื่อเสียงในเรื่องดอกหญ้าสีเงิน (Silver Grass) ที่จะบานสะพรั่งในฤดูใบไม้ร่วงและยังสามารถนำไปเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องราวของ Dr. George Leslie Mackay มิชชันนารีชาวแคนาดาที่ใช้วิธีการเดินเท้าไปตามเส้นทางนี้ เพื่อเผยแผ่ศาสนาในไต้หวัน ซึ่งสามารถเรียกความสนใจของนักท่องเที่ยวที่มาจากทวีปอเมริกาเหนือได้ไม่น้อย นอกจากนี้ยังมีเส้นทางโบราณฮาเผินเยว่ (哈盆越嶺古道) ซึ่งใช้ในการเดินทางไปมาระหว่างนครนิวไทเปกับเมืองอี๋หลาน และเส้นทางโบราณฝูปาเยว่หลิ่ง (福巴越嶺古道) ที่เริ่มจากเขตอูไหลในนครนิวไทเปตรงดิ่งไปถึงภูเขาลาลาซานในนครเถาหยวน ในอดีตเป็นสถานที่ที่ใช้สำหรับการล่าสัตว์และการทำพิธีแต่งงานของชนเผ่าอาตายาล (Atayal) นอกจากทัศนียภาพของป่าเขาลำเนาไพรแล้ว วัฒนธรรมของชนพื้นเมืองที่ฝังรากลึก ยิ่งดึงดูดให้ผู้คนรู้สึกหลงใหลมากยิ่งขึ้น

ในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซบเซาอย่างหนัก คุณหยางจื้อหมิงได้ช่วยเหลือรัฐบาลในการวางแผนและผลักดันเส้นทางเดินป่าระดับประเทศหลายเส้นทาง เนื่องจากเขามักต้องพาคณะนักท่องเที่ยวเดินทางไปปีนเขาที่เนปาล มาเลเซียหรือเปรู อย่างน้อย 10 วันหรือไม่ก็นานถึงครึ่งเดือน เส้นทางคลาสสิกที่มีชื่อเสียงระดับโลกในอุดมคติของเขาก็คือ เส้นทางแสวงบุญ Camino de Santiago ในสเปน เส้นทางโบราณคุมะโนะโคโด (Kumano Kodo) ในญี่ปุ่น และเส้นทางเดินป่า MacLehose Trail ในฮ่องกง เขาจึงหวังว่า จะมีเส้นทางสักสายหนึ่งที่สามารถเป็นตัวแทนไต้หวัน เพื่อแนะนำให้ไต้หวันเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ

ในจำนวนนี้ เส้นทางสีเขียวซานไห่เจิ้น (山海圳綠道) ที่ตลอดเส้นทางต้องใช้เวลาในการเดินเท้านานถึง 10 วัน เริ่มออกเดินทางจากอุทยานแห่งชาติไถเจียงในนครไถหนาน ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 0 เมตร มุ่งหน้าปีนป่ายเพื่อพิชิตยอดเขาอวี้ซานซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในไต้หวันด้วยความสูงจากระดับน้ำทะเล 3,952 เมตร คุณหยางจื้อหมิงมีความเห็นว่า “เส้นทางสายนี้จัดว่ามีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงมากบนเวทีโลก”

อีกเส้นทางหนึ่งที่จัดเป็นตัวแทนของไต้หวันก็คือ เส้นทางแห่งการบูร (樟之細路) เป็นเส้นทางสายเล็ก ๆ บนภูเขาที่เชื่อมระหว่างเขตหลงถานในนครเถาหยวนกับเขตตงซื่อในนครไทจง เส้นทางสายนี้สะท้อนให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันของบรรพบุรุษ รวมถึงประวัติความเป็นมาของอุตสาหกรรมการบูรในไต้หวัน โดยนับตั้งแต่ช่วงปลายสมัยราชวงศ์ชิงเป็นต้นมาจนถึงยุคที่ไต้หวันถูกญี่ปุ่นยึดครอง ไต้หวันเคยเป็นแหล่งผลิตการบูรที่สำคัญของโลก การบูรที่ผลิตขึ้นที่นี่ถูกลำเลียงไปทั่วโลกผ่านแม่น้ำตั้นสุ่ย ในยุคที่เฟื่องฟูถึงขีดสุด ปริมาณการผลิตครองสัดส่วนร้อยละ 70 ของการผลิตทั่วโลก ทำให้ประวัติความเป็นมาของอุตสาหกรรมนี้ สามารถเรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เช่นกัน
 

การบีบอัดกันของแผ่นเปลือกโลก ประกอบกับกัดเซาะเป็นเวลายาวนานของกระแสน้ำเชี่ยวกราก ทำให้เกิดเป็นหน้าผาหินอ่อนสูงชันภายในอุทยานแห่งชาติทาโรโกะ ซึ่งจัดเป็นทัศนียภาพที่หาดูได้ยากของโลก

การบีบอัดกันของแผ่นเปลือกโลก ประกอบกับกัดเซาะเป็นเวลายาวนานของกระแสน้ำเชี่ยวกราก ทำให้เกิดเป็นหน้าผาหินอ่อนสูงชันภายในอุทยานแห่งชาติทาโรโกะ ซึ่งจัดเป็นทัศนียภาพที่หาดูได้ยากของโลก
 

ทัศนียภาพขุนเขาอันงดงามที่ไม่ควรพลาด

“คุณรู้ไหมว่า ภูเขาอวี้ซานในไต้หวันสูงกว่าภูเขาไฟฟูจิในญี่ปุ่นซะอีก!” นี่เป็นประโยคที่คุณกัวไต้ฉีมักพูดจนติดปากในยามที่เขาเข้าร่วมนิทรรศการการออกกำลังกายกลางแจ้ง และการท่องเที่ยวระดับนานาชาติ

ไต้หวันมีภูเขาชื่อดังอะไรบ้างที่นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ควรพลาด?

อวี้ซานเป็นตัวแทนของภูเขาในไต้หวันที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเนื่องจากเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ จากภูมิประเทศที่สูงชันทำให้ตลอดเส้นทางสามารถชมความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของทัศนียภาพป่าไม้ที่หลากหลาย อาทิ ป่าไม้ใบกว้าง (broad-leaved forests ) ป่าสนใบกว้าง (conifer-broadleaf forest) และป่าสน (Coniferous forest) ไปจนถึงป่าไม้เขตหนาวบนภูเขาสูง เส้นทางช่วง 200 เมตรสุดท้ายก่อนที่จะพิชิตยอดเขาเป็นหินกรวดที่เกิดจากการผุกร่อนของหินผาซึ่งพบเห็นได้ยากมาก ข้อเสียเพียงอย่างเดียวคือ รีสอร์ตผายหยุน (排雲山莊) บนภูเขาสงวนห้องพักไว้สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพียง 24 ห้องต่อวัน ทำให้นักปีนเขามักพูดติดตลกว่า “การพิชิตยอดเขาอวี้ซานไม่ใช่เรื่องยาก แต่การจับสลากได้ห้องพักนั้นเป็นเรื่องที่ยากกว่ามาก!”

ยอดเขาที่สูงเป็นอันดับที่ 2 ของไต้หวันคือเสวี่ยซาน ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังจากทัศนียภาพที่เป็นธารน้ำแข็งวงแหวน โดยในแนวเทือกเขาเดียวกันยังรวมถึงภูเขาต้าเสวี่ยซาน ซึ่งเป็นแหล่งชมนกที่ขึ้นชื่อและยังมีหุบเขาทาโรโกะที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นหุบเขาหินอ่อนสีขาว 1 ใน 2 แห่งของโลก (อีกแห่งหนึ่งอยู่ในประเทศอิตาลี) มีความลึกถึง 800 เมตร ถือเป็นเอกลักษณ์ที่มีความพิเศษเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน

สำหรับคุณหยางจื้อหมิงที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกชมรมปีนเขาตั้งแต่ช่วงที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ได้แนะนำภูเขาหนานหูต้าซานเป็นอันดับแรก คุณหยางจื้อหมิงเล่าว่า “ในวงการปีนเขามีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่งที่กล่าวว่า “หนานหูคือราชาแห่งขุนเขา” เพราะที่ภูเขาหนานหูต้าซาน มีทัศนียภาพขุนเขาที่สูงใหญ่ หน้าผาสูงชัน ก้อนหินรูปทรงแปลกตา อาทิตย์อัสดง ทะเลหมอก ป่าสน ลำธาร น้ำตกและธารน้ำแข็งวงแหวน ให้ได้ชมในคราวเดียวกัน “สภาพแวดล้อมที่มีความพิเศษนี้ ทำให้ยากที่จะมีสิ่งใดมาแทนที่”

ดังสุภาษิตที่กล่าวว่า เหล่าวีรบุรุษมักมีความเห็นตรงกัน เพื่อยืนยันความคิดเห็นของตนเอง คุณหยางจื้อหมิงได้หยิบยกคำบรรยายเกี่ยวกับภูเขาหนานหูต้าซานสั้น ๆ ตอนหนึ่งซึ่งเป็นตำนานอิงประวัติศาสตร์ ในยุคที่ไต้หวันถูกญี่ปุ่นยึดครอง ทาดาโอะ คาโนะ (Tadao Kano) นักธรรมชาติวิทยาชาวญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในไต้หวัน ได้เชิญ คาโอรุ ทานากะ (Kaoru Tanaka) อาจารย์ของเขาที่ญี่ปุ่นให้เดินทางมาไต้หวัน เนื่องจากเป็นการเดินทางระยะไกล คาโอรุ ทานากะจึงขอให้ทาดาโอะ คาโนะ เลือกภูเขาที่เป็นตัวแทนที่ดีที่สุดของไต้หวันลูกหนึ่ง ซึ่งทาดาโอะ คาโนะก็เลือกภูเขาหนานหูต้าซาน ต่อมาอาจารย์กับลูกศิษย์คู่นี้ได้ค้นพบธารน้ำแข็งวงแหวน 12 วง และธรณีสัณฐานอื่น ๆ ที่เกิดจากธารน้ำแข็ง บนภูเขาที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของธารน้ำแข็งลูกนี้

ความยิ่งใหญ่อลังการของทัศนียภาพแห่งขุนเขาไม่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้อย่างลึกซึ้งด้วยคำพูดเพียงไม่กี่ประโยค จึงทำให้ผู้คนเกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเดินทางไปเยือนให้ได้สักครั้ง ดั่งสุภาษิตที่ว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” ซึ่งคุณหยางจื้อหมิงถึงกับอุทานออกมาด้วยความชื่นชมว่า “สวยงามมาก ๆ”

จะเห็นได้ว่า การเที่ยวชมแบบฉาบฉวยเพียงไม่กี่วัน ไม่เพียงพอที่จะชื่นชมความงามของขุนเขาแห่งนี้ นักท่องเที่ยวแบบหมู่คณะที่เดินทางมาปีนเขา ต้องวางแผนอย่างน้อย 10 วันหรือครึ่งเดือนขึ้นไป นักท่องเที่ยวต่างชาติบางคนถึงกับลองสเตย์หรือท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว (Long stay tourism) เพราะที่นี่มีสิ่งที่ทำให้พวกเขาเต็มใจที่จะเดินทางไกลเพื่อมาเยือนให้ได้

 

เพิ่มเติม

ตะลึงกับความงามของเกาะแห่งภูเขาสูง เหตุผลที่ทำให้ชาวต่างชาติ ต้องมาเยือนไต้หวันให้ได้