ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้สัมภาษณ์แก่นิตยสาร TIME
2024-06-14
New Southbound Policy。ปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้สัมภาษณ์แก่นิตยสาร TIME (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้สัมภาษณ์แก่นิตยสาร TIME (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 13 มิ.ย. 67
 
ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่นิตยสาร TIME โดยได้ตอบข้อซักถามสื่อในประเด็นต่างๆ อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ช่องแคบไต้หวัน อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ เป็นต้น
 
สาระสำคัญของเนื้อหาบทสัมภาษณ์ สรุปได้โดยสังเขป ดังนี้ :
 
ถาม : หากมองในแง่อุปสรรค พวกเราทราบมาว่า หลังจากที่ปธนไล่ฯ ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำประเทศคนปัจจุบัน ในเวลา 48 ชั่วโมงต่อมา รัฐบาลจีนได้ออกมาประกาศว่า สาธารณรัฐนาอูรู ประเทศพันธมิตรของไต้หวัน ได้ให้การยอมรับต่อรัฐบาลปักกิ่ง จึงอยากทราบว่า ปธน.ไล่ฯ รู้สึกอย่างไรต่อการยอมรับไต้หวันของนานาชาติและสัดส่วนประเทศพันธมิตรไต้หวันที่ลดน้อยลง
 
ตอบ : ไต้หวันยึดมั่นในหลักการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันด้วยความจริงใจเสมอมา ในการประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนกับกลุ่มประเทศพันธมิตร พวกเราต่างถนอมรักษาความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มประเทศพันธมิตรอย่างเหนียวแน่น และขอขอบคุณเหล่าตัวแทนประเทศพันธมิตรที่ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวัน เพื่อแสวงหาพื้นที่ในเวทีนานาชาติให้ไต้หวันอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ พวกเรายังให้ความสำคัญต่อโครงการความร่วมมือ ระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศพันธมิตร เนื่องจากเป็นการสร้างผลประโยชน์ต่อภาคประชาชนโดยตรง หลักการเช่นนี้ไม่แบ่งแยกพรรคการเมืองใดๆ ไต้หวันยึดมั่นในจุดยืนเช่นนี้เสมอมา แน่นอนว่า หากประเทศพันธมิตรของเราเลือกที่จะหันไปสานสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน พวกเราก็ขออวยพรให้ประสบความราบรื่น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมาตรการของจีนที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อทั้งตนเองและผู้อื่น จึงไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อไต้หวันในการเป็นประภาคารแห่งเสรีภาพ และป้อมปราการแห่งประชาธิปไตยของโลก เพราะฉะนั้น เราจึงไม่รู้สึกเป็นกังวลมากนัก
 
ถาม : การที่ปธน.ไล่ฯ เลือกให้นางสาวเซียวเหม่ยฉิน อดีตผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯ ประจำไต้หวัน ขึ้นเป็นรองปธน. แฝงไว้ด้วยนัยยะบทบาทความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ที่มีต่อการบริหารงานภายใต้การนำของท่าน หรือไม่
 
ตอบ : รองปธน.เซียวฯ สร้างผลสัมฤทธิ์ที่โดดเด่นในระหว่างที่เข้ารับตำแหน่งผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำสหรัฐฯ ซึ่งนอกจากจะได้รับการยอมรับจากประชาชนในไต้หวันแล้ว ยังได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ เพราะฉะนั้น หลังจากที่ นส. เซียวฯ ขึ้นเป็นรองปธน.แล้ว จะสามารถช่วยให้รัฐบาลชุดใหม่ของไต้หวันและสหรัฐฯ จัดตั้งช่องทางความร่วมมือที่เชื่อถือได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในเชิงลึกระหว่างรัฐบาลชุดใหม่และสหรัฐฯ ต่อไป
 
ถาม : ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ปธน.ไล่ฯ ได้ระบุว่า ไต้หวันมีความประสงค์ที่จะพลิกฟื้นกลไกการเจรจาระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน การค้าและการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเคารพและเท่าเทียมกัน จึงอยากทราบว่าท่านได้ตั้งนิยามของ “ความเคารพและเท่าเทียมกัน” กับจีนไว้อย่างไร
ตอบ : ประการแรก สาธารณรัฐประชาชนจีนต้องตระหนักเห็นถึงการคงอยู่ของสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และจะต้องทำการแลกเปลี่ยนและประสานความร่วมมือกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากภาคประชาชนชาวไต้หวัน ด้วยความจริงใจ ประการที่สอง ทุกประเด็นความร่วมมือจะต้องตั้งอยู่บนหลักการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน อาทิเช่น ไต้หวันเปิดให้ประชาชนเดินทางไปท่องเที่ยวในจีน จีนเองก็ควรเปิดให้ประชาชนเดินทางมาท่องเที่ยวที่ไต้หวัน หรือการที่พวกเราเปิดโอกาสให้นักศึกษาไต้หวันเดินทางไปเข้าศึกษาในจีน จีนเองก็ควรเปิดให้นักศึกษาของตัวเองเดินทางมาเข้ารับการศึกษาในไต้หวันได้ด้วยเช่นกัน และประการสุดท้าย ในระหว่างที่จีน - ไต้หวัน ทำการแลกเปลี่ยนและประสานความร่วมมือกัน ก็ควรยึดมั่นในแนวคิดหลักที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งก็คือการสร้างความผาสุกให้แก่ประชาชนในสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ตลอดจนร่วมบรรลุเป้าหมายด้านสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันในอนาคต
 
ถาม : ต่อกรณีที่ปธน.ไล่ฯ ได้แถลงไว้ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ว่า สองฝั่งช่องแคบไต้หวันมิได้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้รัฐบาลจีน จนก่อให้เกิดการซ้อมรบ ซึ่งพรรคฝ่ายค้านจำนวนหนึ่งของไต้หวัน คิดเห็นว่า คำกล่าวนี้เป็นการทลายกำแพงความไม่ชัดเจนของกลยุทธ์ทางการเมืองระหว่างสองฝั่งช่องแคบตลอดช่วงที่ผ่านมา และเป็นการส่งผลกระทบต่อสันติภาพและเสถียรภาพในสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ไม่ทราบว่า ปธน.ไล่ฯ มีความคิดเห็นอย่างไรต่อกรณีข้างต้นนี้
 
ตอบ : ข้าพเจ้ากล่าวตามข้อเท็จจริง และข้อเท็จจริงนี้ ข้าพเจ้ามิใช่คนแรกที่กล่าวออกมา และไม่มีเจตนาสร้างความท้าทายใดๆ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายมิได้เป็นส่วนหนึ่งของกัน อดีตปธน.ไช่อิงเหวินจึงได้ยื่นเสนอหลัก 4 ประการในระหว่างพิธีฉลองวันชาติ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในปีพ.ศ. 2564 นอกจากนี้ อดีตปธน.หม่าอิงจิ่วก็ยังเคยระบุไว้ว่า สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง สองฝ่งช่องแคบไต้หวันมิใช่ส่วนหนึ่งของกัน อีกทั้งข้าพเจ้าได้อ้างอิงบทบัญญัติในกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตราที่ 2 และ 3 มาประกอบการชี้แจงข้อเท็จจริงข้างต้น ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ไต้หวันมีประชาชน ดินแดน อำนาจอธิปไตยและรัฐบาลเป็นของตนเอง จึงถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเองในเชิงกฎหมายระหว่างประเทศ โดยวัตถุประสงค์ของพวกเราคือการส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความสามัคคีกัน
 
ถาม : เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา Mr. Antony Blinken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางเข้าเยี่ยมคารวะปธน.สีจิ้นผิง ผู้นำจีน โดยมีข่าวกรองหลุดมาว่า ในช่วงที่พูดคุยกันถึงสถานภาพของไต้หวันและการให้สนับสนุนไต้หวันของรัฐบาลสหรัฐฯ ปธน.สีฯ มีปฏิกริยาตอบสนองอย่างเห็นได้ชัด ไม่ทราบว่า ปธน.ไล่ฯ รู้สึกกังวลต่อปฏิกริยาของปธน.สีฯ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไต้หวันหรือไม่
 
ตอบ : สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน เป็นปัจจัยสำคัญของความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของโลก ข้าพเจ้าได้ถ่ายทอดแนวคิดนี้ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในพิธีสาบานตน โดยข้าพเจ้าจะยืนหยัดในหลัก 4 ประการของปธน.ไช่ฯ ที่จะไม่ยอมจำนน พร้อมมุ่งรักษาสถานภาพเดิมในปัจจุบัน และรับผิดชอบต่อหน้าที่ของไต้หวันอย่างดีที่สุด
 
ถาม : นับตั้งแต่ครั้งที่แล้วที่เรามีโอกาสได้พูดคุยกัน ปัญหาเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบัน ยังคงประสบกับภาวะถดถอยอย่างต่อเนื่อง ปธน.ไล่ฯ เกรงหรือไม่ว่า ประเด็นปัญหาข้างต้นนี้จะส่งผลให้ไต้หวันมีความเปราะบางเพิ่มมากขึ้น หรือท่านคิดว่า นี่อาจเป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือระหว่างกัน
 
ตอบ : ข้าพเจ้าเชื่ออยู่เสมอว่า จีนที่เปี่ยมด้วยเสถียรภาพจะนำพามาซึ่งไต้หวันที่มีความมั่นคง ส่วนไต้หวันที่เจริญรุ่งเรืองก็สามารถขับเคลื่อนความก้าวหน้าของจีนได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น จึงไม่รู้สึกยินดีที่เห็นว่า จีนกำลังประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย สังคมภายในเกิดความโกลาหล ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน - จีน เป็นผลพลอยได้ที่เกิดจากการแบ่งงานในระบบห่วงโซ่อุปทานโลก รัฐบาลชุดใหม่ของไต้หวันยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือแก่จีน เพื่อส่งเสริมให้เกิดสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในช่องแคบไต้หวัน รวมไปถึงสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในสองฝั่งช่องแคบไต้หวันต่อไป
 
ถาม : ไต้หวันมีบทบาทที่สำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานด้านเซมิคอนดักเตอร์ แผ่นชิปขั้นสูงมากกว่าร้อยละ 90 ถูกผลิตขึ้นในไต้หวัน สหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการจำกัดการส่งออกแผ่นชิปวงจรรวมต่อจีน ประกอบกับสัดส่วนการลงทุนในจีนของไต้หวันก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ในไต้หวันอย่างบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Co.,Ltd. (TSMC) ต่างได้รับอานิสงส์จากกฎหมายแผ่นชิปวงจรรวมสหรัฐฯ และทยอยกระจายความเสี่ยงด้านการบริหารธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะโยกย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปสู่สหรัฐฯ ปธน.ไล่ฯ คิดว่า มาตรการเหล่านี้จะเพิ่มความเสี่ยงของความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้นหรือไม่
 
ตอบ : ในยุคสมัยที่ระบบอัจฉริยะเข้ามามีบทบาทสำคัญ เซมิคอนดักเตอร์เป็นผลิตภัณฑ์เชิงอุตสาหกรรมที่สำคัญ ในอนาคต หากปัจจัย 4 ได้เปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยี หรือระบบอัจฉริยะ ก็จะต้องใช้ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์เป็นองค์ประกอบสำคัญ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นอุตสาหกรรมที่ทั่วโลกแบ่งสัดส่วนหน้าที่ร่วมกัน เริ่มตั้งแต่การวิจัยพัฒนา การออกแบบ การผลิตและวัสดุตั้งต้น รวมไปถึงเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่แผ่ขยายกิ่งก้านสาขาไปสู่ทั่วโลก

ข้าพเจ้าเห็นว่า การแบ่งหน้าที่ของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ ขึ้นอยู่กับปัจจัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์เป็นหลัก การวางรากฐานภายใต้ระบบห่วงโซ่อุปทานโลก มิได้จำกัดเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง จึงไม่ควรเกิดเป็นความขัดแย้งอันเนื่องมาจากสาเหตุดังกล่าว
 
ถาม : เมื่อเดือนที่แล้วที่เกิดภัยแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในเมืองฮัวเหลียน รัฐบาลจีนได้ออกมาแถลงว่า ยินดีที่จะส่งมอบความช่วยเหลือแต่ถูกปฏิเสธ ซึ่งขณะนั้น ปธน.ไล่ฯ ยังไม่ได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง ท่านคิดว่านั่นเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องหรือไม่ ท่านคิดว่า นี่เป็นโอกาสการรักษาความสัมพันธ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวันหรือไม่
 
ตอบ : ไต้หวันรู้สึกขอบคุณสำหรับความห่วงใยและการให้สนับสนุนจากประชาคมโลก การช่วยเหลือซึ่งกันและกันในโลกนานาชาติ สามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดวัฏจักรที่ดีงาม อย่างไรก็ตาม จีนได้ยื่นเสนอส่งมอบบ้านรูปแบบ Prefabricated Building จำนวน 100 หลัง แต่เนื่องจากความช่วยเหลือดังกล่าวไม่สอดคล้องต่อความต้องการของกลุ่มผู้ประสบภัยในเมืองฮัวเหลียน จึงไม่ได้รับไว้
 
ถาม : มีสมาชิกพรรคฝ่ายค้านจำนวนหนึ่งคาดหวังที่จะเปิดการเจรจาภายใต้ “ความตกลงทางการค้าและการบริการ ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน” เพื่อเสริมสร้างกลไกการบูรณาการทางเศรษฐกิจกับจีน อยากทราบว่า เหตุใดท่านจึงไม่เห็นด้วยต่อการเปิดการเจรจาความตกลงข้างต้นขึ้นใหม่
 
ตอบ : สาเหตุเนื่องมาจากจังหวะเวลานั้นได้พ้นผ่านไปแล้ว ทั้งนี้ เป็นผลอันเนื่องมาจากการที่ผู้ประกอบการไต้หวันจำนวนมากได้ทยอยโยกย้ายฐานธุรกิจออกจากจีน เขตเศรษฐกิจในอนาคตของไต้หวันและเขตเศรษฐกิจในปัจจุบันของจีน มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
 
ถาม : จากรายงานในระยะที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งกำลังมุ่งคว้าพลังเสียงสนับสนุนจากกลุ่มประเทศทางซีกโลกใต้ “Global South” สำหรับการอ้างสิทธิ์ในไต้หวัน โดยในจำนวนนี้ มี 28 ประเทศที่ยืนหยัดให้การสนับสนุนจีนผลักดันการผนวกรวมดินแดน ปธน.ไล่ฯ คิดว่าในประชาคมโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศทางซีกโลกใต้ การชนะการอภิปรายเรื่องอำนาจอธิปไตยของไต้หวัน มีความสำคัญเพียงใด
 
ตอบ : ข้าพเจ้าหวังที่จะเห็นประเทศทั่วโลกให้ความเคารพต่อการตัดสินใจร่วมกันของประชาชนชาวไต้หวัน เจตจำนงของประชาชนชาวไต้หวัน ไม่ควรขึ้นอยู่กับการตัดสินใจจากเสียงข้างมาก หรือการได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงและภัยคุกคามจากสงคราม
 
ถาม : ในด้านกิจการภายในประเทศ เมื่อต้องผชิญกับการที่เศรษฐกิจชะลอตัว ภาวะเงินเฟ้อทวีความรุนแรงขึ้น ในขณะที่เงินเดือนไม่ได้ปรับเพิ่มตาม ไม่ทราบว่า ท่านมีแนวทางใดในการให้ความช่วยเหลือประชาชนไต้หวัน
 
ตอบ : ข้าพเจ้าค่อนข้างให้ความสำคัญกับมาตรฐานค่าตอบแทนของกลุ่มแรงงานรากหญ้าเป็นอย่างมาก รวมถึงชีวิตประจำวันของพวกเขา อีกทั้งยังให้ความสนใจต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางฐานะ โดยหวังที่จะสร้างอนาคตที่ดียิ่งขึ้นให้แก่คนรุ่นหลัง เพราะฉะนั้น ในส่วนของกฎหมายค่าตอบแทนขั้นพื้นฐานซึ่งผ่านความเห็นชอบในระหว่างที่ ปธน.ไช่ฯ ยังอยู่ในตำแหน่งนั้น ในอนาคต ข้าพเจ้าจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเต็มที่ ด้วยการปรับอัตราค่าตอบแทนขั้นพื้นฐาน ตามอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ แต่สิ่งที่สำคัญคือพวกเราต้องช่วยกันยกระดับอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านของระบบเศรษฐกิจ

ในระหว่างการหาเสียง ข้าพเจ้าได้เสนอโครงการความหวังแห่งชาติ ด้วยการจัดสรรงบประมาณในการลงทุนให้มากขึ้นในภาคประชาสังคม เพื่อดูแลทั้งคนรุ่นใหม่และผู้สูงวัย รวมถึงทุกคนในสังคมที่ต้องการการดูแล มุ่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางฐานะ ดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน การพัฒนาของคนรุ่นใหม่ในอนาคตต่อไป