กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 13 มิ.ย. 67
สำนักงานส่งเสริมรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ภายใต้กระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัด “การประชุมปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำด้วยนวัตกรรมดิจิทัลของกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC)” โดยเชิญเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนผู้ประกอบการจากญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เปรู ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย เดินทางมาเข้าร่วม รวมถึงตัวแทนผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ เช่น บริษัท Merck KGaA และ Siemens Aktiengesellschaft มาร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย ซึ่งนอกจากการเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสีเขียวในกลุ่มเศรษฐกิจเอเปคแล้ว ยังนำวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้าร่วมโครงการมาฝึกซ้อมเชิงปฏิบัติ และใช้โซลูชั่นนวัตกรรมคาร์บอนต่ำเพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
นายเหอจิ้นชาง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวว่า การรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล มีความสำคัญยิ่ง ในปี พ.ศ. 2565 รัฐบาลไต้หวันได้ประกาศ “แผนแม่บทการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของไต้หวัน ภายในปี 2593” เพื่อมุ่งผลักดันระบบห่วงโซ่อุปทานที่เพียงพอต่อการตอบสนองความต้องการทางอุตสาหกรรม และข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสีเขียวในระดับสากล ภายใต้เป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลจึงได้ส่งเสริมให้โรงงานที่เป็นศูนย์กลางของผู้ประกอบการต้นน้ำและปลายน้ำมาร่วมดำเนินภารกิจการลดการปล่อยคาร์บอน ด้วยการผนึกทรัพยากรร่วมกับสมาคมทางอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs จัดตั้งกลไกการตรวจสอบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (CFV) และยกระดับศักยภาพการลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรเงินอุดหนุนและกองทุนสินเชื่อที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรเทาความกดดันทางการเงินในภารกิจการเปลี่ยนผ่าน ทั้งนี้ เพื่อเร่งผลักดันให้องค์กรและธุรกิจก้าวสู่ความเป็นองค์กรอัจฉริยะ หรือเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำโดยเร็ววัน
สนง.ส่งเสริม SMEs ชี้ว่า การประชุมปฏิบัติการในครั้งนี้ได้เชิญผู้ประกอบการและกลุ่มสตาร์ทอัพที่ได้รับรางวัลจาก “การประกวดเทคโนโลยีสีเขียว” มาเข้าร่วม เพื่อร่วมแบ่งปันประสบการณ์ทางความร่วมมือผ่านเทคโนโลยีสีเขียว พร้อมทั้งนำเสนอโซลูชันด้านนวัตกรรมคาร์บอนต่ำในรูปแบบต่างๆ เชื่อว่าการประชุมปฏิบัติการในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs มองเห็นทิศทางในการสร้างความยืดหยุ่นของพลังงานสีเขียว ตลอดจนยกระดับให้กลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิง เข้ามีส่วนร่วมในระบบห่วงโซ่อุปทาน ผ่านการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัล
สนง.ส่งเสริม SMEs ชี้อีกว่า การประชุมครั้งนี้ได้เชิญผู้ประกอบการและนักวิชาการจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกของ APEC ไปเยี่ยมชมธุรกิจต้นแบบด้านการปล่อยคาร์บอนต่ำและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เช่นบริษัท HUSHAN Autoparts Inc. และ O'right Inc. เป็นต้น
สนง.ส่งเสริม SMEs เห็นว่า เพื่อรับมือกับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านในสองด้าน คือเทคโนโลยีดิจิทัลและพลังงานสีเขียว ในอนาคต สนง.SMEs จะมุ่งประสานความร่วมมือกับบรรดาเขตเศรษฐกิจภายใต้กรอบเอเปค และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว เพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันด้านพลังงานสีเขียว อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการขยายตัวและยอมรับซึ่งกันและกันอย่างยั่งยืนต่อไป