ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ทำเนียบปธน.และกต.ไต้หวัน ขอบคุณกลุ่ม G7 ที่สนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมกิจการระหว่างประเทศ พร้อมรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน อย่างเป็นรูปธรรม
2024-06-17
New Southbound Policy。ทำเนียบปธน.และกต.ไต้หวัน ขอบคุณกลุ่ม G7 ที่สนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมกิจการระหว่างประเทศ พร้อมรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน อย่างเป็นรูปธรรม (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ทำเนียบปธน.และกต.ไต้หวัน ขอบคุณกลุ่ม G7 ที่สนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมกิจการระหว่างประเทศ พร้อมรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน อย่างเป็นรูปธรรม (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดีและกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 15 มิ.ย. 67
 
การประชุมสุดยอดของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (G7) มีกำหนดการเปิดฉากในช่วงระหว่างวันที่ 13 -  15 มิ.ย. ที่ผ่านมา ณ แคว้นปุลยา ประเทศอิตาลี และได้มีการประกาศแถลงการณ์หลังเสร็จสิ้นการประชุม โดยระบุว่า สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถขาดได้ในด้านความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองในระดับสากล G7 จึงขอสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศอย่างมีความหมาย ซึ่งครั้งนี้นับเป็นปีที่ 4 ที่การประชุมสุดยอด G7 ได้ประกาศเน้นย้ำถึงความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ผ่านแถลงการณ์ และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการบัญญัติข้อความว่าด้วยการสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศอย่างมีความหมาย โดยเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา นางกัวหย่าฮุ่ย โฆษกทำเนียบประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ชี้ว่า กลุ่มประเทศ G7 ได้ให้การสนับสนุนสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ด้วยวิธีการที่เป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมในกิจการระหว่างประเทศ ทำเนียบปธน.ไต้หวันและกระทรวงการต่างประเทศ จึงขอแสดงความขอบคุณด้วยใจจริง มา ณ ที่นี้ด้วย
 
โฆษกกัวฯ กล่าวว่า แถลงการณ์ข้างต้นย้ำว่า พวกเราต่อต้านการใช้กำลังอาวุธและการสร้างแรงกดดันจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในปัจจุบัน พร้อมกันนี้ ยังได้เฝ้าจับตาต่อพฤติกรรมของจีนในพื้นที่ทะเลจีนใต้ ที่สร้างความวุ่นวายโกลาหลในด้านเสรีภาพการเดินเรือในเขตน่านน้ำสากล นอกจากนี้ กลุ่ม G7 ยังได้เฝ้าจับตาต่อความมั่นคงและความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งแสดงความเป็นกังวลต่อพฤติกรรมและนโยบายระบบเศรษฐกิจที่ใช้รูปแบบที่ไม่ใช่เศรษฐกิจแบบตลาด (non-market economy) ของจีน ซึ่งทำให้เกิดการบิดเบือนของรูปแบบตลาดและมีกำลังการผลิตที่เกินความต้องการ โดยจะประยุกต์ใช้มาตรการการรับมืออย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการผลักดัน “การกำจัดความเสี่ยง” และการกระจายความหลากหลายของระบบห่วงโซ่อุปทาน
 
โฆษกกัวฯ ย้ำว่า ไต้หวันเป็นดินแดนในแนวหน้าที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย แม้จะต้องเผชิญหน้ากับกลยุทธ์พื้นที่สีเทาและภัยคุกคามทางกลาโหมจากจีน รวมไปถึงแรงกดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่สลับซับซ้อน ไต้หวันจะยังคงมุ่งประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อธำรงไว้ซึ่งค่านิยมด้านประชาธิปไตย เสรีภาพ หลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน ให้คงอยู่ต่อไป