คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ วันที่ 18 มิ.ย. 67
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. สถาบัน IMD (International Institute for Management Development) แห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของโลกประจำปี 2567 (IMD World Competitiveness Yearbook) พบว่า ไต้หวันอยู่ในอันดับที่ 8 จากทั้งหมด 67 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ถือเป็นอันดับ 1 มาเป็นเวลาติดต่อกัน 4 ปีซ้อน หากนับเฉพาะเขตเศรษฐกิจที่มีประชากรจำนวนมากกว่า 20 ล้านคนขึ้นไป
โดยในจำนวน 4 ปัจจัยที่ใช้ในการจัดอันดับ คือ “ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ” “ประสิทธิภาพของภาครัฐ” และ “โครงสร้างพื้นฐาน” ต่างอยู่ในอันดับที่ 6, 8 และ 10 ของโลกตามลำดับ โดยมีเพียงปัจจัยด้าน “ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ” ที่มีอันดับลดลง 6 อันดับ มาอยู่ในลำดับที่ 26 ของโลก โดยสาเหตุหลักมาจากการที่ในปี 2566 อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ความต้องการในตลาดเกิดการชะลอตัว โดยที่ผู้ผลิตภายในประเทศต่างก็ทยอยปรับเปลี่ยนสินค้าคงคลังจนส่งผลกระทบต่อการส่งออก อีกทั้งผู้ประกอบการก็เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น โดยหากมองเฉพาะในดัชนีย่อย ไต้หวันถูกจัดให้อยู่ใน 3 อันดับแรกของโลกในดัชนีย่อย รวม 18 รายการ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของผู้ประกอบการไต้หวันและความโดดเด่นด้านการวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยี
1.ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ : มีอันดับลดลงจากอันดับที่ 20 มาสู่อันดับที่ 26 ในปีนี้
ผลการจัดอันดับในดัชนีรองอย่าง “ระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ” และ “การค้าระหว่างประเทศ” ล้วนเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลให้การประเมินประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจมีอันดับลดลง ไต้หวันเป็นเขตเศรษฐกิจเปิดกว้างขนาดเล็ก ที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศค่อนข้างสูง และได้รับผลกระทบจากปัจจัยความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศทั่วโลกในปี 2566 ส่งผลให้ประสิทธิภาพด้านการส่งออกและความเชื่อมั่นในการลงทุนของผู้ประกอบการภายในประเทศถดถอยลง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนผลการจัดอันดับของดัชนี “การลงทุนระหว่างประเทศ” และ “การจ้างงาน” ต่างขยับขึ้นหน้ามาอยู่ในอันดับ 4 และ 2 ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศและการยกระดับอัตราว่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้น
ส่วนดัชนีย่อยอย่าง “ดัชนีความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ” และ “ความทรหดทางเศรษฐกิจ” อยู่ในอันดับ 2 และ 5 ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าไต้หวันได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกในการบรรลุความหลากหลายของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการส่งเสริมศักยภาพด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ
2. “ประสิทธิภาพของภาครัฐ” มีอันดับลดลงจากอันดับที่ 6 มาสู่อันดับที่ 8
ในส่วนของดัชนีรองอย่าง “นโยบายภาษี” “โครงสร้างระบอบการบริหาร” และ “โครงสร้างทางสังคม” ต่างมีอันดับที่ดีขึ้น สำหรับ “กฎระเบียบด้านเศรษฐกิจและการพาณิชย์” มีอันดับเทียบเท่ากับปีที่แล้ว ในส่วนของ “แนวโน้มสถานการณ์ทางการเงิน” มีอันดับลดลงจากอันดับที่ 1 มาสู่อันดับที่ 7 สาเหตุหลักมาจากอัตราเงินเฟ้อและแรงกดดันของอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงที่ทั่วโลก ประกอบกับศักยภาพของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแรงลง ทำให้หนี้สาธารณะมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นในทุกระดับของหน่วยงานภาครัฐ
3. “ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ” มีอันดับลดลงจากอันดับที่ 4 มาสู่อันดับที่ 6
ดัชนีรองอย่าง “ศักยภาพและประสิทธิภาพการผลิต” “ตลาดแรงงาน” และ “การบริหารจัดการ” มีอันดับที่ลดลงจากปีที่แล้ว 1 – 2 อันดับ โดยรัฐบาลจะมุ่งผลักดันนโยบายด้านบุคลากรที่เปี่ยมศักยภาพทางการแข่งขันระดับสากลให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านบุคลากร สำหรับดัชนีย่อย เช่น “ความเชื่อมั่นของภาคประชาสังคมต่อผู้บริหารธุรกิจ” “คุณสมบัติเชิงผู้ประกอบการของผู้จัดการทั่วไป” ต่างอยู่ในอันดับ 1 ของโลก “การตอบสนองของภาคธุรกิจที่รวดเร็วและมีความยืดหยุ่นสูง” และ “การให้ความสำคัญต่อเสียงตอบรับของกลุ่มผู้บริโภคจากผู้ประกอบการ” ต่างก็อยู่อันดับ 2 ของโลก และ “การควบคุมการดำเนินงานของบริษัทโดยคณะกรรมการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ” อยู่ในอันดับที่ 3
4. “โครงสร้างพื้นฐาน” ที่ขยับขึ้นจากอันดับที่ 12 มาสู่อันดับที่ 10
ดัชนีรองอย่าง “โครงสร้างพื้นฐาน” ขยับขึ้น 7 อันดับมาอยู่ในอันดับที่ 30 สะท้อนให้เห็นถึงการที่ผู้บริหารในภาคธุรกิจให้การยอมรับต่อการบริหารจัดการของเมืองหลวง การขนส่งทางอากาศ รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสินค้าและแรงงานในไต้หวัน นอกจากนี้ เนื่องด้วยมาตรการปิดพรมแดนถูกประกาศยกเลิกเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนที่พำนักในต่างแดนกลับมาฟื้นสถานภาพในทะเบียนบ้านในไต้หวัน ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของการที่ผลการจัดอันดับดีขึ้น ส่วนด้าน “การศึกษา” ก็ขยับตัวขึ้น 3 อันดับมาสู่อันดับที่ 14 “โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี” และ “โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์” ต่างคงอันดับเดิมอยู่ใน 10 อันดับแรก โดยที่ “การแพทย์และสภาพแวดล้อม” ยังคงรักษาอันดับเดิมในอันดับที่ 24
ในส่วนของปัจจัยย่อยด้าน “จำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาต่อประชากร 1,000 คน” “อัตราส่วนของรายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาต่อ GDP” “อัตราส่วนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคธุรกิจต่อ GDP” และ “อัตราส่วนของเทคโนโลยีระดับกลางถึงสูงต่อมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิต” ต่างก็ยังคงอยู่ใน 3 อันดับแรกของโลก