กระทรวงสิ่งแวดล้อม วันที่ 27 มิ.ย. 67
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไต้หวันมุ่งวิจัยและตรวจสอบมลพิษทรัพยากรดินและน้ำ รวมถึงเทคโนโลยีการบำบัดอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งนำเข้าเทคโนโลยีการอนุรักษ์ของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว มำทำการพัฒนา ปรับปรุงและประยุกต์ใช้ในพื้นที่ ทำให้สามารถมีบทบาทที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถแบ่งปันประสบการณ์ให้แก่กลุ่มประเทศในเอเชีย - แปซิฟิก กรมพัฒนาสิ่งแวดล้อม กระทรวงสิ่งแวดล้อม (Ministry of Environment, MOENV) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ และออสเตรเลีย รวม 7 คนเดินทางมาเยือนไต้หวัน ภายใต้ความตกลงทางความร่วมมือด้านการอนุรักษ์ ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ในระหว่างวันที่ 27 – 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อร่วมจัด “งานสัมมนานานาชาติด้านการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการบำบัดดินและน้ำบาดาล ปี 2567” (2024 International Technical Exchange on Emerging Contaminants and Remedial Practice) ณ มหาวิทยาลัยเฉิงกง (NCKU) ในนครไถหนาน ซึ่งสามารถดึงดูดผู้ประกอบการภาครัฐและภาคเอกชน จากทั้งในและต่างประเทศ เข้าร่วมเป็นจำนวนกว่า 200 คน โดยใช้โอกาสนี้ในการจับทิศทางเทคโนโลยีการบริหารจัดการที่ทันสมัยในการดักจับสารมลพิษอุบัติใหม่ และแนวโน้มการพัฒนาแผนกลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการ
นายเผิงชี่หมิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม กล่าวระหว่างพิธีเปิดงานสัมมนาว่า ทรัพยากรดินและน้ำบาดาลที่มีคุณภาพ เป็นรากฐานแห่งการคุ้มครองสุขภาพของมวลมนุษยชนและระบบนิเวศที่ดี ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ การขจัดความหิวโหยตามบทบัญญัติ SDG2 การจัดการน้ำและการสุขาภิบาลที่ยั่งยืน ตามบทบัญญัติ SDG6 และระบบนิเวศบนบกตามบทบัญญัติ SDG 15 โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนซึ่งเกิดจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยในระหว่างที่เราวางแผนจัดการบำบัดฟื้นฟู จำเป็นต้องพิจารณาแนวทางและเครื่องมือในทิศทางแห่งพลังงานสีเขียว ความยั่งยืนและความยืดหยุ่น เพื่อการรับมือ นอกจากนี้ พวกเรายังต้องคำนึงถึงความท้าทายในแนวทางการบริหารจัดการสารมลพิษอุบัติใหม่ ซึ่งขณะนี้ MOENV ได้ทำการสำรวจและจัดการกับมลพิษเหล่านี้ในเบื้องต้นแล้ว
Ms. Jane Nishida ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency, EPA) ของสหรัฐฯ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา EPA ได้มุ่งประสานความร่วมมือกับกระทรวงสิ่งแวดล้อมของไต้หวันอย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมเสริมสร้างกลไกการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Ms. Nishida เน้นย้ำว่า มลพิษในดินและน้ำบาดาล ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสุขภาพของมวลมนุษยชาติ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เด็กและกลุ่มคนวัยชรา ด้วยเหตุนี้ การเสริมสร้างศักยภาพการบำบัดแหล่งต้นตอมลพิษ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดย Ms. Jane หวังที่จะเห็นทุกฝ่ายร่วมแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญกันด้วยความเป็นมืออาชีพในระหว่างการประชุมเชิงวิชาการ เพื่อร่วมปกป้องสภาพแวดล้อมในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ให้คงคุณภาพที่ยั่งยืนต่อไป
โฟกัสสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือการจัดแสดงเทคโนโลยีบำบัดมลพิษในดินและน้ำบาดาลที่ทันสมัยและเทคโนโลยีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวม 12 รายการ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจาการวิจัยพัฒนาของกระทรวงสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการร่วมวิจัยและพัฒนาของแวดวงวิชาการและอุตสาหกรรม อาทิ “แผนกลยุทธ์และแนวทางการสร้างระบบรั้วอัจฉริยะเพื่อบริหารจัดการการปล่อยมลพิษ” “อุปกรณ์เก็บตัวอย่างจากน้ำบาดาลแบบพาสซีฟ” และ “เทคโนโลยีการล้างดินที่เป็นพิษ” เป็นต้น โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม ได้อธิบายถึงหลักทฤษฎีและผลสัมฤทธิ์ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ตัวแทนเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ออสเตรเลียและคณะทำงานด้านการบำบัดมลพิษในดินและน้ำบาดาลในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก (ReSAG) ด้วย