ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
หลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นสำหรับบุคลากรทางการเกษตรในแอฟริกาปี 2024 เปิดฉากแล้ว
2024-07-09
New Southbound Policy。หลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นสำหรับบุคลากรทางการเกษตรในแอฟริกาปี 2024 เปิดฉากแล้ว (ภาพจากกระทรวงศึกษาธิการ)
หลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นสำหรับบุคลากรทางการเกษตรในแอฟริกาปี 2024 เปิดฉากแล้ว (ภาพจากกระทรวงศึกษาธิการ)

กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 8 ก.ค. 67
 
เพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาบ่มเพาะบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการเกษตร ผ่านเทคโนโลยีการเกษตรที่โดดเด่นของไต้หวัน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือในด้านการศึกษาแบบทวิภาคี กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้จัด “หลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นเพื่อบ่มเพาะบุคลากรในหน่วยงานการเกษตร ครั้งที่ 2” ภายใต้ “โครงการบ่มเพาะบุคลากรชั้นยอดในกลุ่มประเทศแอฟริกา” ณ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผิงตง (NPUST) ในวันที่ 8 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยมีเจ้าหน้าที่วิจัยเชิงวิชาการ ผู้บรรยายจากสถาบันวิจัยทางการเกษตรแห่งสาธารณรัฐโซมาลีแลนด์ (Somaliland Institute of Agricultural Research) และสถาบันฝึกอบรมการเกษตร (Elsenburg Agricultural Training In-stitute) ในแอฟริกาใต้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร นักวิชาการด้านพืชศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ภาครัฐในกระทรวงการเกษตรของกลุ่มประเทศแอฟริกา จำนวน 25 คน เดินทางมาเข้ารับการฝึกอบรมในไต้หวัน ซึ่งตัวแทนที่เดินทางมาเข้าร่วมในครั้งนี้ มาจาก 8 ประเทศ ได้แก่ เอสวาตินี แทนซาเนีย เคนยา โซมาลีแลนด์ แอฟริกาใต้ นามิเบีย ไนจีเรียและลิเบีย
 
“โครงการบ่มเพาะบุคลากรชั้นยอดในกลุ่มประเทศแอฟริกา” เป็นแผนปฏิบัติการที่ร่วมผลักดันโดยกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเศรษฐการ กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ กระทรวงการเกษตร คณะกรรมการกิจการชาวจีนโพ้นทะเล และกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจัดตั้งขึ้น เพื่อขานรับกับ Agenda 2063 : The Africa We Want ที่กำหนดขึ้นโดยสหภาพแอฟริกา (AU) โดยในส่วนของเป้าหมายด้านการศึกษานั้น ไต้หวันหวังที่จะให้ความช่วยเหลือกลุ่มประเทศแอฟริกาในการบ่มเพาะบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญระดับสูงในสาขาต่างๆ ทั้งการแพทย์ สาธารณสุข การฝึกอบรมคณาจารย์และการฝึกอบรมทางวิชาชีพ เป็นต้น ตลอดจนเป็นการขยายขอบเขตการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาแบบทวิภาคี ระหว่างไต้หวันและหน่วยงานวิชาการและการวิจัยในพื้นที่ด้วย
 
หลักสูตรดังกล่าวมีกำหนดการจัดขึ้นเป็นเวลา 3 สัปดาห์ติดต่อกัน ตั้งแต่วันที่ 8 – 26 ก.ค. 2567 โดยมีเจ้าหน้าที่คณะพืชศาสตร์ คณะสัตววิทยา คณะการเกษตรเขตร้อนและความร่วมมือระหว่างประเทศ คณะอุตสาหกรรมการผลิตเชิงการเกษตร และศูนย์การวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร ร่วมวางแผนหลักสูตรที่เกี่ยวโยงกับเทคโนโลยีการเกษตรและการปศุสัตว์ พร้อมทั้งจัดให้มีการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนและเข้าเยี่ยมชมอุตสาหกรรมการเกษตรและปศุสัตว์ที่เกี่ยวข้องของไต้หวัน เพื่อเสริมสร้างรากฐานความรู้ ศักยภาพการดำเนินงาน และส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจต่อสถานการณ์ตลาดด้านการเกษตรของไต้หวัน นอกจากนี้ ยังได้ติดต่อเชิญเจ้าหน้าที่กองทุนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไต้หวัน (Taiwan ICDF) และกระทรวงการเกษตร มาบรรยายเกี่ยวกับข้อมูลของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อส่งเสริมให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม เป็นสะพานเชื่อมโยงการเจรจาและความร่วมมือกับคณะผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีในพื้นที่ ผ่านการฝึกอบรมทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติต่อไป