กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 12 ก.ค. 67
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2567 คณะรัฐมนตรีไทยมีมติอนุมัติมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา(Free Visa) ให้แก่นักท่องเที่ยวจาก 93 ประเทศทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงไต้หวันด้วย และจะสามารถพำนักในประเทศไทยได้ไม่เกิน 60 วันต่อครั้ง โดยเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลไทย ได้ออกประกาศว่า มาตรการยกเว้นการตรวจลงตราข้างต้นจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.ของปีนี้เป็นต้นไป โดยมาตรการดังกล่าวนี้จะเข้ามาแทนที่มาตรการฟรีวีซ่าแบบชั่วคราวที่รัฐบาลไทยได้ประกาศไปเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเดิมทีได้กำหนดให้พำนักในประเทศไทยได้ไม่เกิน 30 วันต่อครั้ง ก็มีการขยายระยะเวลาออกไปเป็นไม่เกิน 60 วันต่อครั้ง และหากมิได้มีการประกาศยกเลิก มาตรการข้างต้นนี้ก็จะมีผลบังคับใช้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขอแสดงความรู้สึกยินดีด้วยใจจริง
การยกระดับความสะดวกในการเดินทางเยือนต่างประเทศของประชาชนชาวไต้หวัน เป็นภารกิจที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานตัวแทนรัฐบาลในต่างแดน ประเทศไทยถือเป็นประเทศหุ้นส่วนสำคัญใน “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” ของไต้หวัน และเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวในต่างประเทศยอดนิยมของชาวไต้หวัน ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - ไทย มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างคึกคักในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษาและการเกษตร เป็นต้น
กต.ไต้หวันยังได้กำชับให้ประชาชนให้ความเคารพต่อกฎระเบียบในพื้นที่ ในระหว่างที่พำนักอาศัยในประเทศไทย และระมัดระวังความปลอดภัยของตนเอง หากมีเรื่องด่วนที่ต้องการขอความช่วยเหลือ สามารถติดต่อไปยังหมายเลขโทรศัพท์ของสำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันในประเทศไทยที่ +66-81-666-4006 (หรือเบอร์โทรภายในประเทศไทย:081-666-4006) หรือให้ญาติมิตรติดต่อมายัง “ศูนย์ติดต่อประสานงานเร่งด่วนของกต.ไต้หวัน” ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์: 0800-085-095 เพื่อขอรับความช่วยเหลือที่จำเป็น
ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - ไทย : จากรายงานสถิติของกรมศุลกากรไทย พบว่า ในปี พ.ศ. 2566 มูลค่าการค้าระหว่างไทย – ไต้หวัน มีมูลค่าสูงถึง 21,401 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าจากไต้หวันของไทยคิดเป็นมูลค่า 16,604 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.41 เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยไต้หวันเป็นแหล่งนำเข้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของไทย สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้า ได้แก่ วงจรรวม (IC) และแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) สำหรับการส่งออกจากไทยสู่ไต้หวัน มีมูลค่า 4,797 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตขึ้นร้อยละ 1.65 จากปี 2565 ไต้หวันเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 15 ของไทย โดยสินค้าสำคัญ ได้แก่ วงจรรวม (IC) เครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์หน่วยความจำ เป็นต้น
ในด้านการลงทุน จากรายงานของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทย พบว่า ในปี 2566 ผู้ประกอบการไต้หวันได้รับการอนุมัติเข้าลงทุนในไทยเป็นจำนวน 94 โครงการ ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 1,323 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แม้ว่าจะเป็นสัดส่วนที่น้อยลงจากปีที่แล้วร้อยละ 2.45 แต่ยังถือเป็นแหล่งเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของไทย นอกจากนี้ จากสถิติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไต้หวัน นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2495 เป็นต้นมา จนถึงเดือนธ.ค. 2566 มูลค่าการลงทุนจากไทยในไต้หวัน มียอดสะสมรวม 1,216 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากทั้งหมด 486 โครงการ ซึ่งเฉพาะในปี 2566 มูลค่าการลงทุนจากไทยในไต้หวันก็ได้รับการอนุมัติเป็นมูลค่ารวม12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก 29 โครงการ
นอกจากผู้ประกอบการไต้หวันจะเข้าลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยาง เหล็กและปิโตรเคมีแล้ว ยังมีอุตสาหกรรมการผลิตของผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในอุตสาหกรรมดั้งเดิม ซึ่งครอบคลุมถึง การเพาะเลี้ยงปลาและกุ้ง สิ่งทอ เครื่องจักรกล สินค้านำเข้า - ส่งออก เครื่องประดับ และอาหารแปรรูป เป็นต้น เห็นได้ชัดว่า ในปัจจุบันการลงทุนของไต้หวันได้เปลี่ยนจากอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น สินค้าเกษตร สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ สินแร่ที่มิใช่โลหะ และผลิตภัณฑ์โลหะ มาเป็นการให้บริการทางการเงินหรือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แล้ว
ในด้านแรงงาน ตราบจนปี 2566 มีแรงงานไทยในไต้หวัน จำนวน 67,939 คน ส่วนมากเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งไต้หวัน - ไทย ยังได้หมุนเวียนจัดการประชุมหารือกิจการแรงงานแบบทวิภาคีอยู่เป็นประจำ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่ให้ความสนใจร่วมกัน
ในด้านการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวไต้หวันที่เดินทางไปท่องเที่ยวในไทย ในช่วงก่อนสถานการณ์โรคโควิด - 19 มีจำนวนประมาณ 830,000 คนต่อปี ส่วนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางมาเยือนท่องเที่ยวในไต้หวัน มีจำนวน 410,000 คนต่อปี โดยในปี 2566 ยอดนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันที่เดินทางท่องเที่ยวในไทย มีจำนวนกว่า 770,000 คน ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางเยือนไต้หวันมีจำนวน 390,000 คน จึงจะเห็นได้ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวได้กลับมาอยู่ในจำนวนที่ใกล้เคียงตามเดิม ในสัดส่วนร้อยละ 94
ในภาคการเกษตร ไต้หวัน – ไทยยังได้ประสานความร่วมมือกันในด้านการเกษตรอย่างใกล้ชิด อันจะเห็นได้จากการที่ทั้งสองฝ่ายหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางการเกษตร ระหว่างไต้หวัน - ไทย นอกจากนี้ ไต้หวันยังได้ให้การสนับสนุนความสัมพันธ์ทางความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการผลิตเชิงการเกษตรของ “มูลนิธิโครงการหลวง” ของไทย ซึ่งสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยที่พำนักอาศัยในพื้นที่เขตภูเขาทางภาคเหนือของไทย ตราบจนปัจจุบัน ความร่วมมือแบบทวิภาคีได้ดำเนินมาเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว และมีผลสัมฤทธิ์ที่เด่นชัด พร้อมทั้งมีการนำประสบการณ์ความร่วมมือทางการเกษตรข้างต้น ไปต่อยอดในการให้ความช่วยเหลือในการเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรในเขตภูเขาของประเทศอื่น เช่น ลาว เวียดนาม และภูฏาน ด้วย