กระทรวงมหาดไทย วันที่ 17 ก.ค. 67
กฎหมายว่าด้วยผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ที่ได้รับความสนใจจากทุกฝ่าย ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) วาระที่ 3 แล้วเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 หลังจากที่พรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านได้หารือกันเป็นเวลานาน นางหลิวซื่อฟาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (Ministry of the Interior, MOI) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้แสดงความขอบคุณสำหรับการสนับสนุนของสมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่ร่วมกันพิจารณาและลงมติรับรองภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยกฎหมายฉบับนี้ระบุชัดเจนเกี่ยวกับหลักประกันทางสิทธิประโยชน์ด้านการประกอบอาชีพ การแปลภาษาและการเข้าถึงสื่อ โดย MOI จะกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น เร่งบรรลุภารกิจต่างๆ อย่างกระตือรือร้นต่อไป
รมว.หลิวฯ กล่าวว่า สาระสำคัญของกฎหมายฉบันนี้คือ การเพิ่มคำจำกัดความของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ที่นอกเหนือจากการย้ายถิ่นเนื่องจากการสมรส ขยายไปสู่การย้ายถิ่นของผู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและการย้ายถิ่นของผู้ที่มีทักษะฝีมือ บ่งชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลไต้หวันให้การต้อนรับมิตรสหายจากทั่วโลกเข้ามาพำนักในไต้หวัน เพื่อสร้างคุณูปการให้แก่ผืนแผ่นดินนี้ นอกจากนี้ กฎหมายข้างต้นยังกำหนดชัดเจนว่า รัฐบาลต้องจัดแนะแนวด้านการปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตในไต้หวัน และสร้างหลักประกันด้านสิทธิในการประกอบอาชีพ และกลไกการดูแลและให้บริการกลุ่มเป้าหมาย รวม 8 มิติ อนึ่ง เพื่อส่งเสริมให้ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ร่วมแสดงความคิดเห็น รัฐบาลจึงได้จัดตั้งกลไกการบริการด้านการแปลภาษาให้แก่กลุ่มเป้าหมายเมื่อยามที่ต้องการ นอกจากนี้คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อการพัฒนาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ต้องมีตัวแทนของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่หรือบุตรผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รุ่นที่ 2 พร้อมส่งเสริมให้เข้าร่วมในกิจการสาธารณะ เพื่อกระตุ้นการแลกเปลี่ยนแบบพหุวัฒนธรรม โดยหลักประกันทุกประการของกลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ จะได้รับการดำเนินการในทิศทางที่เป็นรูปธรรมและตามกระบวนการทางนิติบัญญัติ
หลังจากที่กฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไป รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นจะต้องทำการทบทวนและแก้ไขกฎระเบียบและมาตรการต่างๆ เพื่อสรรสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและมีความหลากหลาย ทั้งนี้ เพื่อสร้างหลักประกันที่ครอบคลุมสมบูรณ์ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ครอบครัวของเหล่าผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ พำนักอาศัยในไต้หวันได้อย่างไร้กังวล เนื่องจากกิจการด้านการย้ายถิ่น มีความหลากหลายและเกี่ยวโยงกับหลายหน่วยงาน ทั้งสาธารณสุข แรงงาน การศึกษาและวัฒนธรรม เพื่อยกระดับประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐ ระดับชั้นและภารกิจของการประชุมเพื่อประสานงานและหารือกิจการที่เกี่ยวข้องกับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ภายใต้สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในอนาคตจะมีการปรับเปลี่ยนเพื่อรับมือกับประเด็นปัญหาแบบข้ามหน่วยงาน อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ