สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง วันที่ 19 ก.ค. 67
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 กระทรวงมหาดไทย สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ประกาศ รายงานผลการสำรวจความต้องการด้านชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2566 พบว่า ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่กว่าร้อยละ 92.1 ต่างรู้สึกมีความสุขในการใช้ชีวิตที่ไต้หวัน และกว่าร้อยละ 94.8 ที่มีความพึงพอใจในการประกอบอาชีพในไต้หวัน ซึ่งในจำนวนนี้ ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เคยเข้าร่วมมาตรการการบริการดูแลภายใต้หน่วยงานภาครัฐ มีสัดส่วนร้อยละ 62.9 และ 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ทั้งหมดในไต้หวัน ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม ในภาพรวม กลุ่มเป้าหมายล้วนสามารถปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตในไต้หวันได้อย่างราบรื่น และมุ่งอุทิศคุณประโยชน์ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมการกุศล ก้าวสู่บทบาทของการเป็นพลังใหม่ในการพัฒนาประเทศ
นางหลิวซื่อฟาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า ในปัจจุบัน ยอดผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ย้ายถิ่นเข้ามาพำนักในไต้หวัน อันเนื่องมาจากการสมรส มีจำนวนกว่า 600,000 คน เพื่อทำความเข้าใจกับสถานการณ์ความเป็นอยู่ของกลุ่มเป้าหมาย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา จึงได้มีการจัดทำ “การสำรวจความต้องการด้านชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม” ขึ้น 5 ปีต่อครั้ง ซึ่งในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 5 แล้ว โดยจากกลุ่มตัวอย่างร่วมหมื่นคน พบว่า นอกจากอัตราการเข้าร่วมระบบประกันสุขภาพของกลุ่มเป้าหมาย รายได้ครัวเรือนและสถานการณ์การเข้าร่วมมาตรการการบริการดูแลที่จัดโดยหน่วยงานภาครัฐ ที่ล้วนเพิ่มสูงขึ้นแล้ว มาตรการการดูแลและการส่งมอบความช่วยเหลือโดยหน่วยงานระดับต่างๆ ของภาครัฐและกลุ่มองค์กรเอกชน ต่างก็บังเกิดประสิทธิผลที่เด่นชัด ประกอบกับกฎหมายว่าด้วยผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ที่ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) วาระที่ 3 ไปเมื่อช่วงที่ผ่านมา ได้มีการเพิ่มคำจำกัดความของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ โดยรัฐบาลจะจัดทำนโยบายผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นต่อไป
รายงานผลการสำรวจในครั้งนี้ ระบุว่า กลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่อยู่ในช่วงวัย 45 – 64 ปี ครองสัดส่วนร้อยละ 45.6 รองลงมาคือช่วงวัย 35 – 44 ปี ครองสัดส่วนร้อยละ 41.1 กลุ่มเป้าหมายที่เข้าประกอบอาชีพในภาคอุตสาหกรรมบริการ ครองสัดส่วนร้อยละ 60.5 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่คล้ายคลึงกับประชากรไต้หวัน ส่วนการเข้าสู่ตลาดแรงงานในภาพรวม ครองสัดส่วนร้อยละ 75 ซึ่งสูงกว่าประชากรไต้หวันในร้อยละ 59.2 รายได้ครัวเรือนโดยเฉลี่ยมีการยกระดับขึ้นร้อยละ 18.2 หรือประมาณ 9,576 เหรียญไต้หวัน จากปี พ.ศ.2561 นอกจากนี้ ภายใต้มาตรการการผลักดันโอกาสการเข้าสู่สายงานอาชีพของกลุ่มเป้าหมายโดยหน่วยงานภาครัฐ ผู้ตอบแบบสอบถามที่พึงพอใจในการประกอบอาชีพในไต้หวัน มีสัดส่วนสูงถึง 94.8 โดยผู้ที่ได้รับใบรับรองความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพก็สูงขึ้นจากเดิม 6.1% ในปี 2561 เป็น 8.7% ในปีนี้
การสำรวจครั้งนี้ ยังได้มีการสอบถามความคิดเห็นที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในบั้นปลายของกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป โดยมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 77.3 ที่เลือกจะใช้ชีวิตบั้นปลายในไต้หวัน ส่วนอีก 15.6% ยังไม่ได้ตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม กลุ่มเป้าหมายคาดหวังว่ารัฐบาลจะส่งมอบความช่วยเหลือและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบการดูแลระยะยาวและการประกอบอาชีพสำหรับกลุ่มคนสูงวัย
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ค่ายฝึกอบรมทางพหุวัฒนธรรมสำหรับบุตรกลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2567 ได้จัดพิธีปิดการอบรมอย่างสมบูรณ์และราบรื่น โดยในปีนี้มีบุตรกลุ่มเป้าหมายและบุตรชาวไต้หวัน จำนวน 31 คน ที่มีภูมิหลังทางวัฒนธรรมแบบข้ามพรมแดน เข้าร่วมระดมสมอง พร้อมสรรสร้าง “แผนแม่บทนวัตกรรมเพื่อสังคมเชิงพาณิชย์” ที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ซึ่งผสมผสานเข้ากับองค์ประกอบทางนวัตกรรมเพื่อสังคม ซึ่งผลสัมฤทธิ์ที่ได้นำเสนอต่างสร้างความประทับใจให้แก่บรรดาแขกผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมพิธีดังกล่าวเป็นอย่างมาก
นายจงจิ่งคุณ ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไต้หวัน กล่าวว่า ค่ายฝึกอบรมในปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยส่งเสริมให้เหล่าผู้เข้าอบรมร่วมสำรวจวัฒนธรรมของประเทศมาตุภูมิ ผสมผสานเข้ากับแนวคิดด้านนวัตกรรม ความยั่งยืน ความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ รวมไปถึงการประยุกต์ใช้สัญชาติเดิมของบิดา – มารดา หรือมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับชาติ เชื่อมโยงเข้ากับตัวอักษร รูปภาพและผลงานวีดิทัศน์ นำเสนอออกมาในรูปลักษณ์ที่แปลกใหม่ทางพหุวัฒนธรรมและนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยเวทีการประกาศผลงานในครั้งนี้ คณะกรรมการได้คัดเลือกทีมผู้เข้าร่วมประกวดที่สร้างผลงานยอดเยี่ยมจำนวน 3 ทีม ซึ่งจะได้รับเงินรางวัล จำนวน 6,000 เหรียญไต้หวัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้เหล่าเยาวชนเพียรพยายามต่อไป