กระทรวงคมนาคม วันที่ 1 ส.ค. 67
จากรายงานผลการสำรวจแนวโน้มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเยือนไต้หวัน ในช่วงหลังยุคโควิด – 19 นักท่องเที่ยวที่เยือนไต้หวันได้รับอิทธิพลจากสื่อโซเชียลและการบอกต่อ ส่งผลให้ตัดสินใจภายในระยะเวลาอันสั้น และเลือกที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวแบบอิสระเพิ่มมากขึ้น กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ได้รับการดึงดูดจากอาหารเลิศรสในท้องถิ่น และสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นแลนด์มาร์คในพื้นที่ทางตอนเหนือของไต้หวัน พร้อมทั้งมุ่งเน้นการสัมผัสประสบการณ์ มากกว่าการชอปปิ้งทั่วไป จึงจะเห็นได้ว่า กำลังซื้อของกลุ่มเป้าหมายลดลง แต่จำนวนวันที่พำนักในไต้หวันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกำลังซื้อในภาพรวมได้ฟื้นตัวขึ้นร้อยละ 60 ของช่วงก่อนสถานการณ์โควิด – 19
ในปี พ.ศ. 2566 กรมการท่องเที่ยวมุ่งผลักดันการเปลี่ยนผ่าน “ความยั่งยืน” และ “ดิจิทัล” ควบคู่กัน โดยในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จัดสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวคุณภาพสูง และการให้บริการในรูปแบบนวัตกรรม ควบคู่ไปกับการมุ่งประชาสัมพันธ์ “แผนเพิ่มการดึงดูดนักท่องเที่ยวนานาชาติ” ด้วยการสังเกตพฤติกรรมความชื่นชอบของกลุ่มเป้าหมายและการผลักดันในรูปแบบพิเศษ ผสมผสานเข้ากับมาตรการต่างๆ อย่างการจัดนิทรรศการการท่องเที่ยวในต่างประเทศ การโฆษณาในรูปแบบดิจิทัล การจัดทำสื่อโฆษณากลางแจ้ง และการเพิ่มการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเชียล เพื่อวัตถุประสงค์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งตลอดทั้งปี พ.ศ. 2566 ยอดนักท่องเที่ยวที่เดินทางเยือนไต้หวัน มีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 6.49 ล้านคนครั้ง และยอดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีมูลค่าสูงถึง 8,661 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 26.98 ล้านเหรียญไต้หวัน)
ตลอดปีพ.ศ 2566 ยอดการใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเยือนไต้หวัน อยู่ที่ประมาณวันละ 180.67 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.78 เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการใช้จ่ายเพื่อชอปปิง ลดลง16.59 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณร้อยละ 32.06) ในขณะที่การใช้จ่ายด้านความบันเทิงเพิ่มสูงขึ้น 5.37 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวขึ้นกว่าร้อยละ 89.05 แสดงให้เห็นว่ากลุ่มนักท่องเที่ยว หันมาให้ความสำคัญกับการสัมผัสประสบการณ์ในระหว่างการเดินทางเพิ่มขึ้น และลดทอนการชอปปิงที่ไม่จำเป็นลง
หลังยุคโควิด – 19 ตลาดนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเป้าหมายมุ่งใต้ใหม่ ครองสัดส่วนมากสุดที่ร้อยละ 37 ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ไต้หวันประมาณ 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ในปี พ.ศ.2566 กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเยือนไต้หวัน มักจะเลือกเดินทางในรูปแบบอิสระ ซึ่งครองสัดส่วนร้อยละ 88 ขยายตัวขึ้นร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2562 แสดงให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวใส่ใจในการท่องเที่ยวรูปแบบกลุ่มย่อยที่คำนึงถึงมาตรการป้องกันโรคระบาด
“อาหารเลิศรสและอาหารทานเล่นในท้องถิ่น” และ “สถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ” เป็นปัจจัยหลักที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเยือนไต้หวัน และยังคงมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นทุกปี นอกจากนี้ กรมการท่องเที่ยวยังได้ผลักดัน “มิชลินไกด์” (MICHELIN Guide) ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาลิ้มรสความอร่อยในไต้หวัน พร้อมทั้งสัมผัสกับไมตรีจิตในผืนแผ่นดินนี้
อัตราความพึงพอใจในภาพรวมของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนไต้หวัน สูงถึง 97% โดยการท่องเที่ยวแบบสัมผัสประสบการณ์ในทุกรายการ ต่างได้รับความพึงพอใจในระดับสูง โดยเกณฑ์การประเมินที่ได้รับคะแนนสูงสุด ได้แก่ ความเป็นมิตรของชาวไต้หวัน การคมนาคมภายในประเทศที่สะดวกสบาย ความปลอดภัยทางสังคมและสภาพแวดล้อมด้านนันทนาการที่ปลอดภัย