กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 5 ส.ค. 67
เมื่อเผชิญกับความท้าทายจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและการจัดเก็บภาษีคาร์บอน “เศรษฐกิจสีเขียว” ได้กลายมาเป็นทิศทางสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 กรมบริหารนิคมอุตสาหกรรม กระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ณ สวนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์นครไทจง (Taichung Software Park) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือแนวทางการประยุกต์ใช้ทรัพยากรทางการเงินสีเขียว ในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ 2 เป้าหมายหลักขององค์กรธุรกิจ ควบคู่ไปกับการผลักดันระบบเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ โดยได้เชิญเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการ จำนวนกว่า 250 เข้าร่วม
นายเคอจิ้งชาง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการไต้หวัน กล่าวว่า ESG เป็นแนวคิดหลักและดัชนีชี้วัดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน เพื่อรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่รวมถึงปัจจัย “การลดคาร์บอน” จึงจำเป็นต้องได้รับการให้ความสำคัญจากภาคประชาสังคม ซึ่งนอกจากกลุ่มผู้ประกอบการภาคธุรกิจ ต้องมุ่งดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมรูปแบบสีเขียวแล้ว ประชาชนทั่วประเทศยังต้องร่วมจัดตั้งกลไกการดำเนินชีวิตในรูปแบบสีเขียว เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อรับมือกับวิกฤตอัตราการเกิดที่น้อยลง รวมไปถึงผลกระทบทางวัฒนธรรมแรงงานในยุคใหม่ที่เกิดจากกลุ่มคน Gen Z ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับสิทธิแรงงานเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งจัดตั้งสถานประกอบการที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นการสรรสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่มั่นคงปลอดภัย ในส่วนของการบริหารกิจการ ถือเป็นรากฐานสำคัญขององค์กรธุรกิจ โดยมีส่วนเกี่ยวพันกับความน่าเชื่อถือในการบริหารงานขององค์กร อนึ่ง “ความเชื่อมั่นในแบรนด์” ถือเป็นปัจจัยสำคัญของไต้หวันในการก้าวไปสู่ฐานธุรกิจที่สำคัญระดับโลก โดยกระทรวงเศรษฐการจะผนึกกำลังของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่หุ้นส่วนองค์กรในการร่วมเผชิญกับความท้าทายด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ต่อไป
นายเผิงฉี่หมิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมไต้หวัน กล่าวว่า การลดปริมาณคาร์บอน ถือเป็นการพลิกวิกฤตขององค์กรธุรกิจและเป็นกระแสใหม่ของโลก อันจะเห็นได้จากกรณีตัวอย่างในการประยุกต์ใช้แนวทางการลดการปล่อยคาร์บอน ในระหว่างการแข่งขันโอลิมปิก ณ กรุงปารีส ที่จัดขึ้นในช่วงนี้
รมช.เคอฯ และรมว.เผิงฯ กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไต้หวัน มีกำหนดการจัดการประชุมขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคมนี้ โดยคณะกรรมการฯ จะสวมบทบาทที่สำคัญในการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการ เพื่อร่วมพิจารณาวางแผนเชิงกลยุทธ์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อย่างการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และด้านพลังงาน ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นในด้านการรับมือในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไต้หวัน
ภายใต้แนวโน้มการกำหนดราคาคาร์บอน (carbon pricing) และข้อเรียกร้องตามแนวคิด ESG ที่เข้มงวดในระบบห่วงโซ่อุปทาน องค์กรธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายและอุปสรรคที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยการประชุมครั้งนี้จะเริ่มจากการวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจจงหัว (Chung-Hua Institution for Economic Research) และการหยิบยกกรณีตัวอย่างการวางรากฐานในต่างประเทศของบริษัท Swancor Holding Co.,Ltd. โดยระบุให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนแนวคิดของผู้ประกอบการภาคธุรกิจ กำหนดให้ค่าธรรมเนียมภาษีคาร์บอน เป็นแรงกระตุ้นในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางภาคอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการยกระดับศักยภาพการแข่งขันผ่านการบริหารในรูปแบบคาร์บอนต่ำและกลไกการรีไซเคิล ควบคู่ไปกับการขยายฐานธุรกิจไปสู่ต่างประเทศ ตลอดจนเป็นการสร้างคุณูปการด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในระดับโลกต่อไป