ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 8 ส.ค. 67
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ทำหน้าที่เป็นประธาน “การประชุมคณะกรรมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ครั้งที่ 1” โดยได้มอบหนังสือแต่งตั้งสมาชิกคณะกรรมการในฐานะประธาน พร้อมทั้งชี้แจงพันธกิจของคณะกรรมการ ในการยึดมั่นหลักการ “ก้าวข้ามขอบเขต” “ก้าวข้ามยุคสมัย” และ “ก้าวข้ามความคิดเห็นส่วนตัว” แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการหลอมรวมฉันทามติของสังคม ผ่านการเสวนาในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในประเทศ มีความสามัคคีในการเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ที่เกี่ยวพันกับการพัฒนาของประเทศและทั่วโลกในอนาคต
ปธน.ไล่ฯ ย้ำว่า ประเด็นด้านพลังงานเป็นประเด็นที่มีความสลับซับซ้อน แค่เพียงการเลือกระหว่าง “การยกเลิกพลังงานนิวเคลียร์” หรือ “รักษาไว้ซึ่งพลังงานนิวเคลียร์” ก็ถือเป็น “ตัวเลือก” ที่มีความหลากหลายในการกำหนดนโยบายการบริหารปกครองประเทศ และเป็น “ตัวเลือกที่สามารถเลือกตอบได้หลายประเด็น” โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นคณะกรรมการที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ร่วมกันเผชิญกับปัญหา ยื่นเสนอนโยบายที่มีความเป็นไปได้ และแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการร่างพิจารณาแผนกลยุทธ์ด้านการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการหลอมรวมฉันทามติของภาคประชาสังคม อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติที่ยั่งยืนต่อไป
สุนทรพจน์ของปธน.ไล่ฯ มีสาระสำคัญดังนี้ :
เพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสถานการณ์โรคระบาดระดับสากล รวมไปถึงสถานการณ์ความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา หลังจากที่ข้าพเจ้าเข้าดำรงตำแหน่งมาเป็นระยะเวลา 1 เดือน ก็ได้ประกาศจัดตั้ง “คณะกรรมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ” “คณะกรรมการความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม” และ “คณะกรรมการส่งเสริมไต้หวันสุขภาพดี” ขึ้น ณ ทำเนียบประธานาธิบดี
หวังว่าคณะกรรมการทั้ง 3 คณะข้างต้นนี้ จะมีบทบาทสำคัญใน 3 มิติ อันได้แก่ “การจัดตั้งแพลตฟอร์มการเข้ามีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม” “สะพานเชื่อมโยงการหารือแลกเปลี่ยนในภาคประชาสังคม” และ “กลไกแห่งประสิทธิผลของนโยบาย”
ณ ที่นี้ ขอหยิบยกกรณีตัวอย่างของคณะกรรมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีเข้าร่วมในกิจการข้างต้น รวม 8 คน โดยมีนายเผิงฉี่หมิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ
แต่เนื่องจากการบริหารสภาพภูมิอากาศระดับชาติ ครอบคลุมทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง จึงจำเป็นต้องพึ่งพาความมุ่งมั่นพยายามร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ด้วยเหตุนี้ สมาชิกคณะที่ไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐ จึงมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 65 โดยมีสมาชิกที่เป็นสตรีคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.5
ในการเปิดการประชุมครั้งแรกนี้ ได้มีการเปิดอภิปรายในประเด็นที่ภาคประชาสังคมให้ความสนใจร่วมกัน โดยเริ่มต้นการประชุมด้วยการรับฟัง “รายงานการประเมินผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อไต้หวันและทั่วโลก” ของกระทรวงสิ่งแวดล้อม ต่อมาเป็นการรายงาน “ความท้าทายและการเปลี่ยนผ่านด้านอุปสงค์และอุปทานของพลังงานไฟฟ้าในไต้หวัน” โดยนายเจิงเหวินเซิง ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท Taipower
ภายใต้ผลกระทบที่เกิดจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเตือนว่า อากาศร้อนระอุซึ่งมวลมนุษยชาติกำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้ ถือว่าเป็น “จะเป็นฤดูร้อนที่เย็นที่สุดแล้วในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่นี้”
สังเกตเห็นได้ว่า ภัยแล้งและวาตภัยในรอบศตวรรษนี้ ทวีความสลับซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น ในช่วงระหว่างการบริหารปกครองของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ศูนย์รับมือภัยแล้งและอุทกภัย ต้องยื่นมือเข้าให้ความช่วยเหลือภัยพิบัติทางธรรมชาติแล้วไม่ต่ำกว่า 19 ครั้ง
เมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้ว พายุไต้ฝุ่นแคมีส่งผลให้เกิดพายุฝนกระหน่ำครั้งรุนแรงใน 4 พื้นที่ทางภาคใต้ของไต้หวัน ซึ่งปริมาณน้ำฝนสะสมในพื้นที่ราบและพื้นที่เขตภูเขา อยู่ในระดับเดียวกับพายุไต้ฝุ่นมรกตที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2552 และมีบางเขตพื้นที่ที่รุนแรงหนักกว่าวาตภัยจากพายุไต้ฝุ่นมรกต จากรายงานของกระทรวงเกษตร คาดการณ์ว่ามูลค่าความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรและเครื่องมืออุปกรณ์ของภาคเอกชน อาจสูงถึงระดับพันล้านเหรียญไต้หวัน
ข้าพเจ้าทราบดีว่า เสถียรภาพการส่งจ่ายกำลังไฟฟ้าของไต้หวัน นอกจากจะเป็นประเด็นที่ภาคประชาสังคมให้ความสำคัญแล้ว ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ระบบห่วงโซ่อุปทานโลกให้ความสนใจ ซึ่งในระยะนี้ มีหลายฝ่ายต่างร่วมอภิปรายกันในประเด็นที่เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ด้วย
ข้าพเจ้าหวังว่า จากการร่วมเปิดอภิปรายของคณะกรรมการในครั้งนี้ จะช่วยทำให้ประชาชนชาวไต้หวันจำนวน 23 ล้านคน ได้ตระหนักว่า พวกเราสามารถมีจุดยืนที่แตกต่างได้ แต่พวกเรามีไต้หวันเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น พวกเราสามารถมีความคิดเห็นที่แตกต่างได้ แต่พวกเรามีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งก็คือการพัฒนาประเทศชาติให้มีความยั่งยืนสืบไป