กระทรวงคมนาคม วันที่ 15 ส.ค. 67
สถาบันการขนส่ง (Institute of Transportation, MOTC) เข้าร่วมการประกวดแผนปฏิบัติการด้านพลังงานรูปแบบอัจฉริยะในชุมชนของคณะปฏิบัติการด้านพลังงาน ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) (2024 6th APEC Energy Smart Communities Initiative (ESCI) ครั้งที่ 6 ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยคณะทำงานของไต้หวันได้ยื่นเสนอแผนริเริ่ม ภายใต้หัวข้อ “แผนโซลูชันด้านรถบัสพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบอัจฉริยะที่ยั่งยืน : สรรสร้างอนาคตการบริหารพลังงานในเมืองอัจฉริยะ” ซึ่งผลการประกวดที่ประกาศเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ปี 2567 ปรากฏว่า MOTC ได้รับรางวัลชนะเลิศในประเภทการคมนาคมขนส่งรูปแบบอัจฉริยะ จาก APEC-ESCI 2024 โดยหน่วยงานเจ้าภาพ APEC ได้ติดต่อเชิญให้เจ้าหน้าที่ MOTC เข้าร่วมพิธีประกาศมอบรางวัล ณ เมืองลิมา สาธารณรัฐเปรู ในวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีนายหลินจี้กั๋ว ประธานสถาบัน MOTC นำคณะตัวแทนจากไต้หวันเดินทางไปเข้ารับรางวัล พร้อมทั้งร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์และประสบการณ์ของไต้หวัน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ 13 เขตเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบ APEC
การประกวด ESCI ภายใต้กรอบ APEC เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 หลังจากที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามาอดีตผู้นำสหรัฐฯ และนายนาโอโตะ คัง (Kan Naoto) อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ร่วมยื่นเสนอ “แผนปฏิบัติการด้านพลังงานรูปแบบอัจฉริยะในชุมชน” (Energy Smart Communities Initiative,ESCI APEC) โดยได้ติดต่อเชิญเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก เข้ามีส่วนร่วม ผ่านการเสนอแผนโครงการเข้าร่วมประกวดและการแชร์ทรัพยากรความรู้ ทั้งนี้ เพื่อมุ่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนผ่านสู่ก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
MOTC ประยุกต์ใช้ :
(1) เทคโนโลยีดิจิทัลและแนวคิดด้านนวัตกรรมในการมุ่งผลักดัน “นโยบายการเปลี่ยนผ่านสู่รถบัสพลังงานไฟฟ้าทั่วเมือง ภายในปี พ.ศ.2573”
(2) ข้อมูลแบบ Open Data ของรัฐบาล ระบบชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าและแนวคิดด้านเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน โดยเปิดให้เสาชาร์จบางส่วนให้ยานพาหนะไฟฟ้าอื่นๆ มาใช้ร่วมกันได้ ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาเสาชาร์จไม่เพียงพอต่อการรองรับความต้องการของยานยนต์พลังงานไฟฟ้าภายในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อช่วยบรรเทาความกังวลใจในการขับขี่ยานยนต์ของผู้ใช้รถ
(3) เสนอให้รถบัสพลังงานไฟฟ้า 10,000 คัน สวมบทบาทเป็นอุปกรณ์กักเก็บพลังงานแบบเคลื่อนที่ได้ เพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้พลังงานไฟฟ้าในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและโครงข่ายไฟฟ้าระดับภูมิภาค อาทิ สถานพยาบาลและสถานีตำรวจ เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นด้านการบริหารพลังงานไฟฟ้าในเมืองอัจฉริยะ ตลอดจนยื่นเสนอแนวคิดด้านนวัตกรรม 3+1 ทั้งนี้ เพื่อปรับปรุงแก้ไขสภาพแวดล้อมด้านการประกอบอาชีพผ่านเทคโนโลยี ส่งเสริมความเป็นมิตรต่อทุกเพศสภาพ และหลักประกันทางสิทธิประโยชน์ของกลุ่มแรงงาน ซึ่งแนวคิดรูปแบบ 3+1 ล้วนได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งและพลังงานระหว่างประเทศในการประกวดนานาชาติ ภายใต้กรอบ APEC เป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เหตุใดพวกเราจึงสามารถคว้ารางวัลเหรียญทองมาครองได้สำเร็จ
กลไกการบริการเสริมของนวัตกรรมเชิงดิจิทัลในการบริหารระบบชาร์จรถบัสพลังงานไฟฟ้าแบบอัจฉริยะ มีความสะดวกที่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ง่ายและเหมาะสมต่อการผลักดันส่งเสริมในระดับนานาชาติ ซึ่งปัจจุบัน นอกจากจะมีการประยุกต์ใช้ในกรุงไทเป นครนิวไทเป และนครไทจงแล้ว คณะตัวแทนรัฐบาลและอุตสาหกรรมในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอเมริกาใต้ ก็ยังได้จัดคณะตัวแทนเดินทางมาเยี่ยมชม พร้อมทั้งนำผลสัมฤทธิ์ของโครงการไปประยุกต์ใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป