ทำเนียบประธานาธิบดีและกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 21 ส.ค. 67
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 21 สิงหาคม 2567 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “พิธีเปิดการประชุม Ketagalan-ความมั่นคงในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ประจำปี 2567” (Ketagalan Forum: 2024 Indo-Pacific Security Dialogue)” ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และมูลนิธิ The Prospect Foundation โดยปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า หลายปีมานี้ การแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ก่อเกิดเป็นความท้าทายระดับสากล ไต้หวันในฐานะที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระยะห่วงโซ่ที่ 1 จะมุ่งผลักดัน “แผนปฏิบัติการเพื่อสันติภาพใน 4 มิติ” อันประกอบด้วย การเสริมสร้างศักยภาพทางกลาโหม การจัดตั้งกลไกความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนกับพันธมิตรด้านประชาธิปไตย และการพัฒนาศักยภาพผู้นำในความสัมพันธ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ที่มีเสถียรภาพและเปี่ยมด้วยหลักการ ทั้งนี้ เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ให้คงอยู่ต่อไป
ปธน.ไล่ฯ เน้นย้ำว่า ไต้หวันมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสวมบทบาทสำคัญในการส่งเสริมประชาธิปไตย สันติภาพและการพัฒนาที่เจริญรุ่งเรืองระดับสากล พร้อมทั้งคาดหวังที่จะเห็นพันธมิตรด้านประชาธิปไตย ประสานความสามัคคีกันในการสร้าง “เกราะป้องกันด้านประชาธิปไตย” (Democratic Umbrella) เพื่อปกป้องค่านิยมที่ยึดมั่นร่วมกันให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป
ปธน.ไล่ฯ กล่าวปราศรัยเป็นภาษาอังกฤษว่า การประชุม Ketagalan ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เป็นแพลตฟอร์มสำคัญของการประชุมเสวนาในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ซึ่งในปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว โดยหัวข้อการอภิปรายในปีนี้ ได้แก่ “ความมั่นคงในช่องแคบไต้หวัน” “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและแรงกดดันทางเศรษฐกิจ” รวมไปถึง“ความท้าทายและแนวทางการมุ่งสู่ประชาธิปไตยในยุคดิจิทัล” ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่พันธมิตรด้านประชาธิปไตยให้ความสำคัญร่วมกัน ซึ่งไต้หวันมีความยินดีที่จะร่วมแลกเปลี่ยนและประสานความร่วมมือในเชิงลึกกับนานาประเทศทั่วโลก
ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า ขอต้อนรับทุกท่านที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ โดยเฉพาะผู้นำทางการเมือง สมาชิกรัฐสภา นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจาก 11 ประเทศ ที่เดินทางมารวมตัวกันที่ไต้หวัน
เป็นที่ทราบกันดีว่า เป้าหมายของการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ มิจำกัดแต่เพียงเฉพาะในไต้หวันเท่านั้น และประเทศที่ตกเป็นเหยื่อจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจและการค้าจากจีน ก็มิได้เจาะจงเฉพาะในไต้หวันด้วยเช่นกัน เนื่องจากรัฐบาลจีนพยายามก่อกวนความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานกฎกติกาสากล ด้วยเหตุนี้ พันธมิตรด้านประชาธิปไตยในภูมิภาคและทั่วโลก จึงยิ่งจำเป็นต้องประสานความสามัคคีกัน เพื่อดำเนินมาตรการที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันอย่างเป็นรูปธรรม จึงจะสามารถสกัดกั้นอำนาจเผด็จการได้
โดยการประชุมรวมทั้งสิ้น 3 รอบของวันนี้ ได้เชิญนักการเมืองและนักวิชาการในภูมิภาคเข้าร่วมอภิปรายในประเด็นความขัดแย้งในพื้นที่สีเทา ที่ประกอบด้วย ช่องแคบไต้หวัน ทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก การจัดตั้งกลไกความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจและแนวทางการลดความเสี่ยง รวมไปถึงบทบาทของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวัน ที่มีต่อการเสริมสร้างเสถียรภาพของระบบห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนแนวทางการรับมือกับการแพร่กระจายข่าวปลอมและการส่งผลกระทบต่อประชาธิปไตย โดยกลุ่มประเทศเผด็จการในยุคดิจิทัล