ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 22 ส.ค. 67
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ Ms. Nikki Haley อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ และคณะ โดยปธน.ไล่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อ Ms. Haley ที่ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างหนักแน่น พร้อมทั้งประกาศเรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยประสานสามัคคีกัน สกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสันติภาพและเสถียรภาพของโลก ปธน.ไล่ฯ เน้นย้ำว่า การที่ไต้หวันตั้งอยู่ในพื้นที่ระยะห่วงโซ่ที่ 1 ทำให้พวกเราจะมุ่งเสริมสร้างศักยภาพทางกลาโหมและความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจภายในไต้หวัน พร้อมยืนหยัดเคียงข้างพันธมิตรแห่งประชาธิปไตยทั่วโลก เพื่อเป็นพลังในการป้องกันร่วมกัน อันจะส่งให้เราสามารถหลีกเลี่ยงสงครามได้ด้วยการเตรียมพร้อมในการรับมือกับสงคราม และใช้ศักยภาพทางกลาโหมในการแสวงหาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน
ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า ตนหวังมาตลอดว่าจะมีโอกาสได้แสดงความขอบคุณต่อ Ms. Haley ด้วยตนเอง เนื่องจาก Ms. Haley ได้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันอย่างขมักเขม้น ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ อีกทั้ง Ms. Haley ยังรู้สึกเสียใจที่ประชาชนชาวไต้หวันไม่สามารถเข้าสู่ระบบสหประชาชาติได้ พร้อมแสดงความคิดเห็นว่า UN เป็นของประชาคมโลก ประชาชนทุกประเทศในโลกใบนี้ ล้วนมีสิทธิในการเข้าร่วมภารกิจต่างๆ ภายใต้ระบบ UN
ปธน.ไล่ฯ ยังขอบคุณที่ Ms. Haley แสดงความชื่นชมต่อไต้หวันในระหว่างสถานการณ์โรคโควิด – 19 พร้อมเสนอว่า สิทธิด้านสุขภาพของไต้หวัน ไม่ควรถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยเรียกร้องให้ประชาคมโลกประจักษ์ว่า ไต้หวันควรเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเวทีสากล เพื่อให้ไต้หวันมีโอกาสร่วมสร้างคุณประโยชน์ ตลอดจนยังส่งเสริมให้กลุ่มประเทศสมาชิก UN และองค์การระหว่างประเทศ ให้การยอมรับต่อการเข้าร่วมของไต้หวัน
ปธน.ไล่ฯ กล่าวขอบคุณ Ms. Haley ที่เรียกร้องให้สหรัฐฯ และประชาคมโลกให้การสนับสนุนไต้หวัน ในระหว่างที่ไต้หวันเผชิญหน้ากับแรงกดดันจากอำนาจเผด็จการของจีน โดยเห็นว่า สหรัฐฯ ควรลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับไต้หวันโดยเร็ววัน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกคุกคามจากจีน ทั้งในด้านแรงกดดันและการถูกลิดรอนพื้นที่บนเวทีนานาชาติ เพื่อให้ไต้หวันมีความเข้มแข็งมากขึ้นในการต่อกรกับภัยคุกคามจากจีน
Ms. Haley กล่าวว่า ตนเดินทางมาไต้หวันก็เพื่อต้องการสื่อให้เห็นถึงความสามัคคี และเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนชาวไต้หวันตระหนักทราบว่า ประชาชนชาวอเมริกันล้วนให้การสนับสนุนไต้หวัน และยินดีที่จะเห็นไต้หวันประสบความสำเร็จ พร้อมหวังว่า จะส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนในรูปแบบที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ไม่ว่าจะในด้านกลาโหม การค้า หรือวิชาการ ตลอดจนประกาศให้ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง
ในวันเดียวกันนี้ ปธน.ไล่ฯ ยังได้ให้การต้อนรับเหล่าคณะตัวแทนที่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุม Ketagalan-ความมั่นคงในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ประจำปี 2567 (Ketagalan Forum: 2024 Indo-Pacific Security Dialogue) โดยการประชุมในครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่การอภิปรายในประเด็นความขัดแย้งในพื้นที่สีเทา อาทิ สถานการณ์ช่องแคบไต้หวัน รวมถึงความมั่นคงและสงบเรียบร้อยระดับสากล สงครามไซเบอร์และสงครามจิตวิทยา เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบและสร้างความท้าทายต่อค่านิยมแห่งประชาธิปไตย ซึ่งประเด็นข้างต้นเหล่านี้ นอกจากจะเป็นประเด็นที่พวกเราให้ความสนใจแล้ว ยังเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่ต้องเผชิญร่วมกันด้วย
หลายปีมานี้ พวกเรามุ่งผลักดันการเสริมสร้างโครงการเชื่อมโยงภูมิภาคยุโรปและนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้ากับกลุ่มประเทศยุโรปและกลุ่มประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ โดยไต้หวันได้ประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย เพื่อขยายขอบเขตของกรอบความร่วมมือ GCTF ให้เป็นไปในวงกว้างเพิ่มมากขึ้น
ปธน.ไล่ฯ ย้ำว่า พวกเราตระหนักดีว่า มีเพียงการประสานความร่วมมืออย่างสามัคคีของพันธมิตรแห่งประชาธิปไตย จึงจะสามารถก้าวข้ามอุปสรรคนานาประการได้ และจะก่อให้เกิดเป็นโครงสร้างของอุตสาหกรรมและระบบห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่น เพื่อยับยั้งภัยคุกคามที่เกิดจากการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ