ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กระทรวงมหาดไทยจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ
2024-08-29
New Southbound Policy。กระทรวงมหาดไทยจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ (ภาพจากกระทรวงมหาดไทย)
กระทรวงมหาดไทยจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ (ภาพจากกระทรวงมหาดไทย)

สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง วันที่ 28 ส.ค. 67
 
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 กระทรวงมหาดไทย สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัด “การประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติว่าด้วยการปราบปรามการค้ามนุษย์ ปี 2567” โดยมีนายหม่าซื่อหยวน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และบรรดาอาคันตุกะ ประกาศจุดยืนร่วมกันปราบปรามการค้ามนุษย์จนกว่าจะสิ้นซาก และจะเสริมสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายการป้องกันอาชญากรรมกับนานาประเทศทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง โดยรมช.หม่า กล่าวว่า กิจกรรมแลกเปลี่ยนด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ จัดขึ้นติดต่อกันมาเป็นปีที่ 16 แล้ว ถือเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนที่สำคัญในประเด็นการปราบปรามการค้ามนุษย์ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนองค์กรเอกชน ระหว่างไต้หวันและประชาคมโลก โดยการประชุมในปีนี้จะมุ่งเน้นไปที่การอภิปราย “เหยื่อการค้ามนุษย์ในรูปแบบใหม่ที่ถูกบังคับให้กระทำความผิดทางอาญา (Atypical Victims of Human Trafficking Under Forced Criminality)” “มาตรการการป้องกันอาชญากรรมการค้ามนุษย์ข้ามชาติของนานาประเทศ” “กลยุทธ์สำคัญในการป้องกันการบังคับใช้แรงงานและการบังคับตัดอวัยวะ” รวมไปถึง “การคุ้มครองและความท้าทายทางสิทธิประโยชน์ของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศและการค้ามนุษย์”
 
รมช.หม่าฯ กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติขององค์การสหประชาชาติประจำปี 2567 มีประชากรกว่าแสนคนขึ้นไป ถูกล่อลวงเข้าสู่เครือข่ายการฉ้อโกงในกลุ่มประเทศเอเชียอาคเนย์หรือประเทศต่างๆ เพื่อให้กระทำการฉ้อโกงทางโทรคมนาคม โดยในจำนวนนี้ มีหลายคนที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ซึ่งมีเหยื่อหลายรายจากไต้หวันที่ถูกล่อลวงให้ไปกระทำการฉ้อโกงทางโทรคมนาคม อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ส่งผลให้เหยื่อชาวไต้หวัน มีจำนวนลดน้อยลง นอกจากนี้ “กฎหมายป้องกันการค้ามนุษย์” ซึ่งได้รับการแก้ไขและบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 ได้มีการบัญญัติให้การหลอกใช้ผู้อื่นกระทำความผิด มีโทษทางอาญา หากผู้กระทำความผิด มีสถานะที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ หรือผู้สมรู้ร่วมคิดในการก่อคดีอาชญากรรม ผู้พิพากษาจะนำปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในการกระทำความผิด มาประกอบการพิจารณาในการตัดสินคดี เพื่อลดโทษหรือยกเว้นโทษ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างประสิทธิภาพการปราบปรามกลุ่มการค้ามนุษย์ ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน
 
ในปีนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนทางการทูตที่ประจำการในไต้หวัน 16 คน จาก 11 ประเทศ ดังนี้ : สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ เวียดนาม อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย อินเดีย เบลเยี่ยมและอังกฤษ นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่ทำเนียบปธน.และหน่วยงานของกระทรวงต่างๆ รวมถึงตัวแทนหน่วยงานภาคเอกชน อีกกว่า 300 คน