สภาบริหาร วันที่ 28 ส.ค. 67
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขึ้นดำรงตำแหน่งครบ 101 วัน โดยนายจั๋วหรงไท่ นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “งานแถลงข่าวการดำเนินภารกิจตามแผนปฏิบัติการด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี AI ครบ 101 วัน” พร้อมเสนอ “แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ 101” เพื่อชี้แจงผลสัมฤทธิ์ของบริหารประเทศในปัจจุบัน และแนวทางการดำเนินนโยบายที่สำคัญในอนาคต โดยในโอกาสนี้ นรม.จั๋วฯ ยังได้แสดงความคาดหวังว่า คณะรัฐมนตรีจะผนึกกำลังกันก้าวข้ามกรอบจำกัดและก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ในการดำเนินภารกิจตามแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ 101 ด้วยปัจจัยทางนวัตกรรมและเป็นไปอย่างกระตือรือร้น
นรม.จั๋วฯ ระบุว่า “แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ 101” มุ่งเน้นไปที่การผลักดันมาตรการที่คำนึง “การดูแล” และ “การพัฒนา” ควบคู่กันไป ภายใต้ยุคสมัยใหม่ นโยบายใหม่และโครงสร้างพื้นฐานใหม่ โดยมีการกำหนดเป้าหมายไว้ 8 ประการ ประกอบด้วย (1) การขยายการลงทุนในภาคประชาสังคม บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว (2) การขยายการลงทุนทางการแพทย์ สรรค์สร้างไต้หวันสุขภาพดี (3) มุ่งสู่สังคมที่มีสิทธิความเสมอภาคที่หลากหลาย (4) สรรค์สร้างไต้หวันที่มีความทรหด ธำรงรักษาความมั่นคงและสันติภาพ (5) นวัตกรรมทางเศรษฐกิจ ประเทศอัจฉริยะ (6) การเติบโตสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี 2593 (7) ไต้หวันที่มีความสมดุล ความหวังของท้องถิ่น (8) การเสริมสร้างศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์ สร้างแบรนด์ประจำชาติ อันจะนำไปสู่การบรรลุ 3 วิสัยทัศน์ประเทศที่เสนอโดยปธน.ไล่ฯ ซึ่งประกอบด้วย “ความเจริญรุ่งเรืองทางนวัตกรรม” “ความยุติธรรมที่ยั่งยืน” และ “สันติภาพแห่งประชาธิปไตย” ซึ่งนอกจากจะเป็นการบรรเทาภาระของประชาชนและส่งเสริมความมั่นคงทางสังคมแล้ว ยังเป็นการผลักดันนวัตกรรมทางอุตสาหกรรม และการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนควบคู่ไปด้วย
นรม.จั๋วฯ แถลงเพิ่มเติมว่า สภาบริหารจะประสานความร่วมมือกับ “คณะกรรมการส่งเสริมไต้หวันสุขภาพดี” “คณะกรรมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ” และ “คณะกรรมการความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม” ภายใต้สังกัดทำเนียบประธานาธิบดี เพื่อผลักดันนโยบายสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ การผลักดันเพื่อยกระดับ “การดูแลระยะยาว 3.0” เพื่อบรรลุเป้าหมาย “ไต้หวันสุขภาพดี” การรับมือกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา สภาบริหารยังได้มีมติอนุมัติ “แผนปฏิบัติการป้องกันอุทกภัยรูปแบบอัจฉริยะ” ระยะล่าสุด เพื่อพัฒนากลไกการป้องกันภัยพิบัติด้วยเทคโนโลยี ยกระดับความสามารถในการส่งสัญญาณแจ้งเตือนภัย รวมถึงการพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ด้วย AI ที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อการจัดตั้งปัญญาประดิษฐ์แบบพึ่งพาตนเอง (Sovereign AI)
ในด้านการขยายการลงทุนในภาคประชาสังคม บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว นรม.จั๋วฯ ระบุว่า ปี 2568 งบประมาณด้านสวัสดิการสังคมจะเพิ่มขึ้นเป็น 831,000 ล้านเหรียญไต้หวันจากปี 2567 ที่ 791,700 เหรียญไต้หวัน ครองสัดส่วนร้อยละ 26.5 ของงบประะมาณทั้งหมด นอกจากนี้ สภาบริหารยังจะมุ่งดำเนินการตามแผนแม่บทภายใต้มาตรการ “ขยายการลงทุนทางการแพทย์ สรรค์สร้างไต้หวันสุขภาพดี” อาทิ การจัดตั้งกองทุนผลิตภัณฑ์ยาต้านมะเร็งในมูลค่าหมื่นล้านเหรียญไต้หวัน
นรม.จั๋วฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สิทธิความเสมอภาคที่หลากหลาย” เป็นแนวทางภายใต้ค่านิยมด้านประชาธิปไตยของไต้หวันที่เป็นรูปธรรม โดยสภาบริหารได้อนุมัติ “ร่างกฎระเบียบการจัดตั้งศูนย์พัฒนาและวิจัยภาษาแห่งชาติ” นอกจากนี้ “กฎหมายว่าด้วยชื่อ – นามสกุล” ฉบับแก้ไขก็ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติที่ง 3 วาระแล้ว ซึ่งจะทำให้กลุ่มชนพื้นเมืองสามารถระบุชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ของตนในบัตรประชาชนและเอกสารราชการที่สำคัญได้ เพื่อเป็นการให้ความเคารพต่อประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มชนพื้นเมือง ในขณะเดียวกันกฎหมายว่าด้วยผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติไต้หวัน ในวาระที่ 3 จะส่งผลให้มีการพัฒนากลไกการดูแลและบริการที่เป็นมิตรต่อกลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่มากขึ้น
ในด้าน “การสรรค์สร้างไต้หวันที่มีความทรหด ธำรงรักษาความมั่นคงและสันติภาพ” นรม.จั๋วฯ ระบุว่า รัฐบาลจะเพิ่มศักยภาพการป้องกันและปราบปรามการฉ้อโกงอย่างครอบคลุม โดยจะจัดสรรงบประมาณ 7,300 ล้านเหรียญไต้หวัน พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์บัญชาการปราบปรามการฉ้อโกงแบบบูรณาการข้ามหน่วยงาน นอกจากนี้ รัฐบาลยังจะประสานความร่วมมือกับนานาชาติอย่างกระตือรือร้น เพื่อร่วมกันปราบปรามคดีฉ้อโกงข้ามชาติ
นรม.จั๋วฯ เน้นย้ำว่า เพื่อรับมือกับยุคดิจิทัล สภาบริหารจึงได้จัดตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ” ขึ้น และได้มีการจัดการประชุมคณะกรรมการฯ ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนที่แล้ว โดยได้เสนอ “แผนการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ มูลค่าล้านล้านเหรียญ” และ “แผนยกระดับศักยภาพการแข่งขันของบุคลากร” โดยหวังที่จะสร้างไต้หวันให้กลายเป็น “ศูนย์บริหารสินทรัพย์ในภูมิภาคเอเชีย” โดยในวันที่ 3 กันยายน 2567 จะมีการจัดการประชุมที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจขึ้นเป็นครั้งแรก โดยหวังที่จะรวบรวมข้อชี้แนะจากที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ อันนำไปสู่การแสวงหาแรงขับเคลื่อน “เศรษฐกิจนวัตกรรม” “ไต้หวันที่สมดุล” และ “การเติบโตและการยอมรับซึ่งกันและกัน” ในยุคสมัยต่อไป
นรม.จั๋วฯ ยินดีที่จะเห็นบริษัทต่างชาติอย่าง AMD , Infineon Technologies , NVIDIA และVantage Data Centers มาเข้าลงทุนในไต้หวัน ซึ่งรัฐบาลจะยังคงดูแลผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และอุตสาหกรรมดั้งเดิมของไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดสรรเพิ่มงบประมาณภายใต้ “โครงการพัฒนาและฟื้นฟูความหลากหลายของผู้ประกอบการ SMEs” เป็นจำนวนเงิน 11,600 ล้านเหรียญไต้หวัน ซึ่งเพิ่มจากเดิมกว่าร้อยละ 53.8 ทั้งนี้ เพื่อช่วยในการเปลี่ยนผ่านทางองค์กรธุรกิจและการยกระดับศักยภาพทางการแข่งขัน
เมื่อพูดถึงประเด็นการลดคาร์บอน นรม.จั๋วฯ กล่าวว่า เมื่อเผชิญหน้ากับแนวโน้ม NET Zero ไต้หวันจำเป็นต้องเร่งบรรลุแนวทาง “การปรับตัว” และ “การลดคาร์บอน” ผ่านแผนปฏิบัติการตามหลักการ “ก้าวข้ามหน่วยงาน” “ก้าวข้ามขอบเขต” และ “ก้าวข้ามหัวข้อ” โดยสภาบริหารได้ประกาศ “แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี 2568 รวม 12 รายการ” ซึ่งได้จัดสรรงบประมาณ 116,100 เหรียญไต้หวัน เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดด้านความปลอดภัยและเสถียรภาพในการจ่ายพลังงานไฟฟ้า
นรม.จั๋วฯ ยังเน้นย้ำ “ไต้หวันที่มีความสมดุล ความหวังของท้องถิ่น” ถือเป็นแนวคิดการบริหารประเทศที่สำคัญของปธน.ไล่ฯ โดยสภาบริหารได้ทำการตรวจเช็กโครงสร้างพื้นฐานระดับประเทศ รวม 140 รายการ ควบคู่ไปกับการสรรค์สร้างระบบนิเวศทางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอัจฉริยะ อย่างกระตือรือร้น
สำหรับ “การเสริมสร้างศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์ สร้างแบรนด์ประจำชาติ” นรม.จั๋วฯ แถลงว่า หลายวันมานี้ สภาบริหารได้จัดตั้งคณะที่ปรึกษาและคณะทำงานเพื่อเตรียมการจัดตั้ง “กระทรวงพลศึกษาและพัฒนาการกีฬา” โดยหวังว่า ในอนาคตกระทรวงพลศึกษาและพัฒนาการกีฬา จะเชื่อมโยงกับแนวนโยบาย 3 มิติ ซึ่งได้แก่ “กีฬาสำหรับประชาชนทั้งประเทศ” “การแข่งขันระดับนานาชาติ” และ “อุตสาหกรรมการกีฬา” เข้าไว้ด้วยกัน
อนึ่ง รัฐบาลไต้หวันจะมุ่งดำเนินภารกิจใน 3 มิติหลัก ได้แก่ “การพัฒนาหน่วยงานภาครัฐที่เปิดกว้าง” “การจัดตั้งคณะกรรมการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในหน่วยงานภาครัฐ” “การขยายขนาดคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชน” พร้อมยึดมั่นในหลักการ “รัฐบาลที่เปิดกว้าง” เพื่อให้ประชาชนประจักษ์ว่าประเทศชาติกำลังทำอะไร เพื่อให้สามารถเฝ้าติดตามสถานการณ์ล่าสุดในด้านต่างๆ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน ร่างกฎหมาย นโยบายและความคืบหน้าด้านการดำเนินการตามงบประมาณ เป็นต้น