กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 3 ก.ย. 67
การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 79 (UNGA79) เตรียมจะเปิดฉากขึ้น ณ สำนักงานใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในนครนิวยอร์ก ในวันที่ 10 กันยายน 2567 โดยมีกำหนดการจัดการอภิปรายทั่วไปขึ้นในระหว่างวันที่ 24 – 28 กันยายน และวันที่ 30 กันยายน ซึ่งหัวข้อหลักของการประชุม UNGA ประจำปีนี้คือ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง : ร่วมส่งเสริมสันติภาพ การพัฒนาที่ยั่งยืนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของคนในยุคปัจจุบันและในอนาคต” (Leaving no one behind: acting together for the advancement of peace, sustainable development and human dignity for present and future generations)
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ย้อนแย้งกับหัวข้อข้างต้น คือการที่ประชาชนชาวไต้หวันจำนวน 23.5 ล้านคนถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบของสหประชาชาติ (UN) ซึ่งต้นเหตุของความไม่ยุติธรรมอันไร้ซึ่งเหตุผลเช่นนี้ มาจากการที่รัฐบาลจีนบิดเบือนและตีความญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 ในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง ด้วยการจงใจสร้างความเข้าใจผิดให้ประชาคมโลกยอมรับญัตติฉบับนี้ เช่นเดียวกับการยอมรับต่อ “หลักการจีนเดียว” พร้อมทั้งอ้างว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของสาธาณรัฐประชาชนจีน และไต้หวันได้มอบอำนาจให้จีนเป็นตัวแทนในระบบของ UN ตลอดจนต้องการลบล้างข้อเท็จจริงที่ว่า สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยในทางนิตินัย และขัดขวางไต้หวันคว้าสิทธิอันชอบธรรมในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ระบบของ UN
เมื่อเผชิญกับสงครามจิตวิทยาจากจีน หากไม่แสดงจุดยืนต่อต้านอย่างทันท่วงที สถานการณ์ในปัจจุบันของสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ซึ่งก็คือสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสาธารณรัฐประชาชนจีน มิได้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน จะถูกเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งจะส่งผลให้จีนสามารถเข้าคุกคามไต้หวันได้ด้วยกำลังอาวุธ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ด้วยเหตุนี้ ภารกิจแรกในแผนผลักดันการขอเข้าร่วม UN ของไต้หวันในปีนี้ คือการส่งเสริมให้ประชาคมโลกตระหนักถึงสาระสำคัญของญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 ที่ไม่มีเนื้อความระบุถึงไต้หวันเลยแม้แต่น้อย จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับไต้หวัน รัฐบาลจีนจึงไม่มีสิทธิกล่าวอ้างว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และจีนเป็นตัวแทนของไต้หวันในระบบของ UN
แผนผลักดันเข้าร่วม UN ของไต้หวัน ประกอบด้วยข้อเรียกร้อง 3 ประการ ดังนี้ :
1. ญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 ถูกบิดเบือนด้วยความจงใจ อันถือเป็นการสร้างภัยคุกคามที่รุนแรงต่อสถานภาพเดิมในปัจจุบันของช่องแคบไต้หวัน รวมถึงสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก
2.ญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 มิได้ระบุถึงเนื้อความที่กีดกันให้ไต้หวันอยู่นอกระบบของ UN ด้วยเหตุนี้ UN จึงควรที่จะแสวงหาแนวทางการเข้าร่วมที่เหมาะสมให้ไต้หวัน เพื่อร่วมบรรลุเป้าหมาย SDGs
3. สำนักเลขาธิการสหประชาชาติควรยึดมั่นในจุดยืนที่เป็นกลาง ด้วยการยุติการอ้างอิงญัตติฉบับ 2758 และยุติการลิดรอนสิทธิของประชาชนและสื่อไต้หวันเข้าร่วมการประชุม กลไกและกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ระบบของ UN
เพื่อชี้แจงข้อเรียกร้องของไต้หวันให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาคมโลก นายหลินเจียหรง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธาณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้เผยแพร่บทความพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “การเปิดรับไต้หวันเข้าร่วมระบบของ UN จะสามารถช่วยสร้างหลักประกันทางสันติภาพในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิกได้” ซึ่งขณะนี้ได้มีการทยอยตีพิมพ์ผ่านสื่อมวลชนทั่วโลกแล้ว นอกจากนี้ ผลงานทัศนศิลป์และวิดีทัศน์เพื่อการประชาสัมพันธ์ปีนี้ ยังได้ประยุกต์ใช้องค์ประกอบ “แผ่นชิป” และ “สันติภาพ” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของไต้หวันในระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับสากล รวมไปถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการแสวงหาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาคมโลกตระหนักว่า ไต้หวันเป็นหนึ่งในสมาชิกประชาคมโลกที่มีความรับผิดชอบ โดยพวกเราจะมุ่งปฏิบัติภารกิจตาม “แผนปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ 4 มิติ” ซึ่งนอกจากจะประสานความร่วมมือกับพันธมิตรด้านประชาธิปไตย ในการสร้างระบบห่วงโซ่อุปทาน “ชิปประชาธิปไตย” อย่างยั่งยืน และส่งเสริมการพัฒนาทางความเจริญรุ่งเรืองระดับโลกแล้ว ยังจะมุ่งมั่นธำรงรักษาสถานภาพเดิมในช่องแคบไต้หวัน เพื่อมุ่งบรรลุสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันต่อไป
นอกจากนี้ รัฐบาลไต้หวันยังจะจัดกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องขึ้นที่นครนิวยอร์กในระหว่างการประชุม UNGA79 เพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์เชิงบวกของไต้หวัน