กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสิ่งแวดล้อม วันที่ 5 ก.ย. 67
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 4 กันยายน 2567 นายหลินเจียหรง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติด้านการกำหนดทิศทางสู่อนาคตที่ปลอดก๊าซเรือนกระจก (International Workshop on Setting an Ambitious Path towards a Net-Zero Future) ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) โดยกิจกรรมครั้งนี้ร่วมจัดขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสิ่งแวดล้อมของไต้หวัน รวมถึงสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและแคนาดา โดยมีแขกรับเชิญและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินสีเขียว พลังงานหมุนเวียนและเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งในไต้หวันและจากนานาประเทศ กว่า 25 ประเทศ เดินทางมาเข้าร่วมรวม 180 คน เพื่อแบ่งปันนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์และการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมไปถึงประสบการณ์ในการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม
รมว.หลินฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า GCTF เป็นแพลตฟอร์มที่ส่งเสริมให้กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันร่วมจัดตั้งกลไกความร่วมมือและแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาจากความท้าทายที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้า ไต้หวันเป็นพันธมิตรที่ไม่สามารถขาดได้ในโลกประชาธิปไตย และมีบทบาทสำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานของโลก ตลอดจนเข้ามีส่วนร่วมในประชาคมโลก ภายใต้แนวคิดการทูตเชิงค่านิยมและการทูตเชิงบูรณาการ โดยไต้หวันได้ประยุกต์ใช้การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและการปลอดก๊าซเรือนกระจก มาช่วยเหลือประเทศพันธมิตรและมิตรประเทศ และยังเป็นการขานรับต่อหัวข้อกิจกรรมในครั้งนี้ ในวาระที่ GCTF ครบรอบ 10 ปี จึงขอเชิญให้แคนาดาเข้าร่วมการเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการของพวกเรา เพื่อสร้างคุณประโยชน์ร่วมกันต่อไป
นายเผิงฉี่หมิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวว่า เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยคาร์บอน รัฐบาลไต้หวันจึงได้กำหนดให้เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ถูกบัญญัติเข้าสู่ “กฎหมายรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ” พร้อมทั้งประกาศ “กฎหมายอนุบัญญัติว่าด้วยภาษีคาร์บอน” ไปเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 พร้อมประกาศว่า หลังจากที่มาตรการจัดเก็บภาษีคาร์บอนมีผลบังคับใช้แล้ว ไต้หวันก็จะก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการกำหนดราคาคาร์บอนอย่างเป็นทางการ โดยในลำดับต่อไปจะวางแผนแนวทางการบริหารการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ควบคู่ไปกับการบูรณาการกองทุนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเป็นแรงผลักดันใหม่ของการเติบโตในทิศทางสีเขียวของไต้หวัน นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ทำเนียบประธานาธิบดียังได้จัดตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อเสริมศักยภาพของภาคประชาชนเข้าสู่ระบบการพัฒนา และร่วมหารือในการกำหนดแผนกลุยทธ์ด้านการพัฒนาประเทศชาติ นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐทุกระดับชั้นจะมีการรวบรวมแผนปฏิบัติการด้านการลดการปลดปล่อยคาร์บอน พร้อมยื่นเสนอเป้าหมายการบริหารและควบคุม ภายในปี 2573 ด้วย
การประชุมในครั้งนี้มุ่งเน้นการอภิปรายในประเด็นการมุ่งสู่อนาคตแห่งการปลอดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 หัวข้อ ประกอบด้วย “สรรสร้างระบบเศรษฐกิจสีเขียว” “ทิศทางในอนาคตด้านพลังงานหมุนเวียน” “กลยุทธ์ทางการเงินสีเขียว” “การผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน” “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสีเขียวเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน” และ “การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและอนาคตของการปลอดก๊าซเรือนกระจก” เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมในทุกแวดวงจากทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการเข้าสำรวจพื้นที่ด้วยการเยี่ยมชมองค์กรธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน และธนาคารที่มุ่งผลักดันนโยบายการเงินสีเขียว เพื่อให้เหล่าแขกรับเชิญและผู้เข้าร่วมการประชุมจากนานาชาติ ได้ประจักษ์ถึงผลสัมฤทธิ์และความมุ่งมั่นของในทุกภาคส่วนของไต้หวัน ในด้านการเปลี่ยนผ่านสู่การปลอดก๊าซเรือนกระจก