ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
NSTC จัดการประชุมด้าน AI และเซมิคอนดักเตอร์ ระหว่างไต้หวัน – เยอรมนี เพื่อผลักดันความร่วมมือทางเทคโนโลยีแบบทวิภาคีที่สำคัญ
2024-09-06
New Southbound Policy。NSTC จัดการประชุมด้าน AI และเซมิคอนดักเตอร์ ระหว่างไต้หวัน – เยอรมนี เพื่อผลักดันความร่วมมือทางเทคโนโลยีแบบทวิภาคีที่สำคัญ (ภาพจาก NSTC)
NSTC จัดการประชุมด้าน AI และเซมิคอนดักเตอร์ ระหว่างไต้หวัน – เยอรมนี เพื่อผลักดันความร่วมมือทางเทคโนโลยีแบบทวิภาคีที่สำคัญ (ภาพจาก NSTC)

NSTC วันที่ 5 ก.ย. 67
 
เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ไต้หวัน – เยอรมนี ได้ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเทคโนโลยีระหว่างไต้หวัน – เยอรมนี (Science and Technology Arrangement, STA) โดยได้ทำการคัดเลือกประเด็นความร่วมมือใน 4 ด้าน ประกอบด้วย เซมิคอนดักเตอร์ แบตเตอรี่ลิเธียม พลังงานไฮโดรเจนและเทคโนโลยี AI โดยการผลักดันของคณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (National Science and Technology Council, NSTC) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และกระทรวงศึกษาธิการและการวิจัยแห่งเยอรมนี (Bundesministerium für Bildung und Forschung, BMBF) อีกทั้งในช่วงระหว่างวันที่ 3 – 4 กันยายน 2567 ตามเวลาไต้หวัน ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมจัดการประชุมแบบทวิภาคีด้าน AI และเซมิคอนดักเตอร์ขึ้นในเยอรมนี โดยนายอู๋เฉิงเหวิน ประธานคณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (NSTC) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เดินทางไปเข้าร่วมและกล่าวปราศรัย พร้อมทั้งรับฟังผลสัมฤทธิ์ทางการวิจัยที่นำเสนอโดยนักวิชาการทั้งสองฝ่าย
 
การประชุมด้านเทคโนโลยี AI ที่เปิดฉากขึ้นในกรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา เป็นการสานต่อการแลกเปลี่ยนเชิงลึกกับนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่คณะตัวแทน BMBF ได้เดินทางมาเยือนไต้หวันเพื่อทำการแลกเปลี่ยนกับศูนย์ความเป็นเลิศด้าน AI แห่งไต้หวัน (The Taiwan AI Center of Excellence, Taiwan AICoE) เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายได้มุ่งเน้นการอภิปรายไปที่ Generative AI และโมเดลภาษาขนาดใหญ่ รวมถึงการประมวลผลข้อมูลของ AI ควบคู่ไปกับการหารือเกี่ยวกับโอกาสในการสร้างความร่วมมือในอนาคต
 
ประธานอู๋ฯ กล่าวว่า เยอรมนีเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีและการวิจัยที่สำคัญของไต้หวันในทวีปยุโรป เชื่อว่า ในอนาคตจะสามารถนำผลสัมฤทธิ์ด้านนวัตกรรมและการวิจัย AI ของทั้งสองฝ่ายไปใช้ในระบบห่วงโซ่คุณค่าของโลกได้
 
Ms. Bettina Stark-Watzinger รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและการวิจัยของเยอรมนี กล่าวว่า ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนทางความร่วมมือที่ได้รับการยกย่องในด้านการวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยี เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาระดับสากล จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันในการแก้ไขปัญหา ไต้หวันและเยอรมนีมีค่านิยมร่วมกันในด้านประชาธิปไตย ความโปร่งใส ความเปิดกว้างและเสรีภาพ อีกทั้งยังมีความร่วมมือกันมานานหลายปี โดยเยอรมนีได้ให้การยอมรับต่อความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนของทั้งสองฝ่าย ข้อได้เปรียบที่เป็นส่วนเสริมระหว่างกันในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังเปิดโอกาสให้สามารถสร้างความร่วมมือร่วมกันในอีกหลายด้าน หวังว่าข้อตกลงความร่วมมือที่เพิ่งลงนามกันนี้จะช่วยปูทางไปสู่ความร่วมมือที่มากยิ่งขึ้นในอนาคต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทั้งไต้หวันและเยอรมนีในด้าน นวัตกรรมทางเศรษฐกิจและการวิจัยเทคโนโลยีขั้นสูง