ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
การประชุมสุดยอดความเชื่อมโยงทางอุตสาหกรรมไต้หวัน – มาเลเซีย 2567 ร่วมจับมือเพื่อเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน
2024-09-09
New Southbound Policy。การประชุมสุดยอดความเชื่อมโยงทางอุตสาหกรรมไต้หวัน – มาเลเซีย 2567 ร่วมจับมือเพื่อเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน (ภาพจากกระทรวงเศรษฐการ)
การประชุมสุดยอดความเชื่อมโยงทางอุตสาหกรรมไต้หวัน – มาเลเซีย 2567 ร่วมจับมือเพื่อเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน (ภาพจากกระทรวงเศรษฐการ)

กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 6 ก.ย. 67
 
การประชุมสุดยอดความเชื่อมโยงทางอุตสาหกรรมไต้หวัน - มาเลเซีย ครั้งที่ 8 ประจำปี 2567 เปิดฉากขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนด้านบุคลากร ควบคู่ไปกับการสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางการค้า โดยการประชุมในครั้งนี้ร่วมจัดขึ้นโดยสภาอุตสาหกรรมไต้หวันและสมาพันธ์ผู้ผลิตแห่งมาเลเซีย (Federation of Malaysian Manufacturers, FMM) โดยได้เชิญตัวแทนจากภาครัฐ อุตสาหกรรม วิชาการและการวิจัยจากทั้งไต้หวันและมาเลเซีย มาเข้าร่วมรวมจำนวนกว่า 300 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นโอกาสและรูปแบบความร่วมมือทางภาคอุตสาหกรรมแบบทวิภาคีในระยะยาว อันนำไปสู่การขยายตลาดด้านความร่วมมือทางอุตสาหกรรมอย่างกระตือรือร้นต่อไป
 
นายหลินเต๋อเซิง อธิบดีกรมพัฒนาอุตสาหกรรม กระทรวงเศรษฐการไต้หวัน กล่าวว่า การประชุมปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว ตราบจนปัจจุบัน มีผู้เข้าร่วมรวมจำนวนกว่า 4,000 คน และได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) แล้วกว่า 48 ฉบับ เพื่อร่วมกันรับมือกับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หลายปีมานี้ ไต้หวัน - มาเลเซีย มุ่งผลักดันเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ESG) ร่วมกัน ในที่นี้จึงขอหยิบยกการแลกเปลี่ยนทางอุตสาหกรรมสิ่งทอมาเป็นกรณีตัวอย่างเพื่อประกอบการชี้แจง Logic Art ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอไต้หวัน ได้ตั้งคณะทำงาน A-Team ด้านการมัดย้อมสีและตรวจสอบสินค้าสิ่งทอ ผ่านการบูรณาการระบบห่วงโซ่อุปทานในแบบ Total Solution เพื่อขยายตลาดต่างประเทศ และเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสิ่งทอทั้งในและต่างประเทศ สามารถพัฒนาไปสู่การผลิตแบบอัจฉริยะ อันนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ซึ่งสิ่งที่น่าจับตามองคือ บริษัท Sincerely Dyeing & Finishing Sdn. Bhd. ของมาเลเซีย ประสบความสำเร็จในการคว้ารางวัลการผลิตรูปแบบอัจฉริยะระดับประเทศ (The Malaysia Smart Manufacturing Awards) มาครอง ด้วยการนำเอาระบบการบูรณาการการย้อมสีรูปแบบอัจฉริยะของ A-Team มาใช้ ประกอบกับในปีนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอยังได้จัดเพิ่มการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือในประเด็นเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจในด้านการพัฒนาการหมุนเวียนอุตสาหกรรมสิ่งทออย่างยั่งยืน
 
ในหัวข้อ “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” (AI) ซึ่งได้รับการจับตามองเป็นอย่างมาก ในการประชุมปีนี้ ได้มีการแบ่งปันสถานการณ์การพัฒนาและโอกาสทางอุตสาหกรรม AI ในปัจจุบันของไต้หวัน - มาเลเซีย พร้อมมุ่งเน้นไปที่การประชุมย่อยในหัวข้อ “สิ่งทอ” และ “เมืองอัจฉริยะ” โดยมุ่งแลกเปลี่ยนและจับคู่ธุรกิจไปที่การพัฒนาทางอุตสาหกรรม ระหว่างไต้หวัน - มาเลเซีย เพื่อสร้างความเชื่อมโยงทางอุตสาหกรรมแบบทวิภาคี พร้อมทั้งลงนามใน MOU รวม 4 รายการ ประกอบด้วย (1) มหาวิทยาลัย Feng Chia University ของไต้หวันและสมาคมผู้ประกอบการสิ่งทอมาเลเซีย (MKMA) ประสานความร่วมมือกันผลักดันการฝึกอบรมทางวิชาชีพของภาคธุรกิจและหลักสูตรการฝึกอบรมบุคลากรสิ่งทอ รุ่นที่ 2 (2) สมาพันธ์เทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานเชิงดิจิทัล (Taiwan Industry Academia Technology Alliance for Energy Digital Transformation, TAEDT) และสมาคมการพาณิชย์สีเขียวแห่งมาเลเซีย (Malaysian Green Business Association, MAGBA) ประสานความร่วมมือกันผลักดันพลังงานหมุนเวียน การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและโอกาสธุรกิจสีเขียวในตลาดภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ (3) บริษัท Wavenet Technology และ Easystore แพลตฟอร์มธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย ร่วมกันทดลองประยุกต์ใช้แผนโซลูชันด้านเทคโนโลยีการตลาดรูปแบบดิจิทัล และ (4) บริษัท Ledbeam Tech Co., Ltd. ของไต้หวัน และบริษัท Koike Malaysia ของมาเลเซีย ร่วมผลักดันไฟรถจักรยานยนต์อัจฉริยะ เพื่อขยายตลาดเข้าสู่มาเลเซีย โดยพวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะประสานความร่วมมือและพัฒนาควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมทุกแขนงของมาเลเซีย
 
เพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์และผลสัมฤทธิ์ทางการวิจัยด้านอุตสาหกรรมการแพทย์รูปแบบอัจฉริยะของไต้หวัน ควบคู่ไปกับการยกระดับภาพลักษณ์สินค้าและเทคโนโลยีภายในประเทศของไต้หวัน จึงได้มีการจัดการแลกเปลี่ยนในอุตสาหกรรมวัสดุการแพทย์อัจฉริยะ ระหว่างไต้หวัน - มาเลเซีย ขึ้นในวันที่ 4 กันยายน 2567 พร้อมทั้งนำผู้ประกอบการด้านการแพทย์อัจฉริยะของไต้หวัน อย่าง Acer Medical , imedtac , Rossmax และ Inventec Appliances ร่วมเดินทางเยือนมาเลเซีย เพื่อส่งเสริมให้ 4 ผู้ประกอบการไต้หวัน มีโอกาสประชาสัมพันธ์สินค้าภายใต้การวิจัยและพัฒนาของตนเอง ต่อหน่วยงานทางการแพทย์ในมาเลเซีย ตลอดจนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการร่วมลงนาม MOU ระหว่างบริษัท Acer Medical และโรงพยาบาล Georgetown Specialist Hospital เพื่อร่วมผลักดันแพลตฟอร์มการดูแลรักษาจอประสาทตาของผู้ป่วยโรคเบาหวานด้วยเทคโนโลยี AI รูปแบบอัจฉริยะ เพื่อยกระดับอัตราการคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic Retinopathy) และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาอย่างทันท่วงที
 
การประชุมสุดยอดอุตสาหกรรมระหว่างไต้หวัน – มาเลเซีย เป็นแพลตฟอร์มสำคัญทางความร่วมมือภาคอุตสาหกรรม ระหว่างไต้หวัน - มาเลเซีย เพื่อสร้างความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมอันจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายของผลประโยชน์ร่วมกันกับมาเลเซีย รวมถึงการบูรณาการและการเชื่อมโยงทางข้อมูล เพื่อบรรลุเป้าหมายการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน โดยหวังว่าจะนำพาให้อุตสาหกรรมของไต้หวันก้าวขึ้นให้เป็นผู้นำในตลาดใหม่ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก