กระทรวงมหาดไทย วันที่ 9 ก.ย. 67
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567 แถลงว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายการปลอดก๊าซเรือนกระจก ภายในปี พ.ศ. 2593 กระทรวงมหาดไทย (Ministry of Interior, MOI) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงส่งเสริมให้มีการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในอาคาร โดยให้หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ริเริ่ม ซึ่งคาดว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายเบื้องต้นได้ในปี 2569 โดยอุทยานแห่งชาติบางส่วนได้จัดให้ “อาคารสำนักงาน” และ “ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว” เป็นกลุ่มเป้าหมายริเริ่ม แต่มิใช่การจัดสรรพื้นที่สำหรับการติดตั้งแผงผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ตามที่สื่อมวลชนบางกลุ่มกล่าวอ้างแต่อย่างใด
MOI ชี้ว่า สำนักงานบริหารที่ดินแห่งชาติและกระทรวงเศรษฐการไต้หวัน ได้พิจารณาจะกำหนด “มาตรฐานการติดตั้งอุปกรณ์ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนสิ่งปลูกสร้าง” โดยได้หารือกับเจ้าหน้าที่เทศบาล ตัวแทนอุตสาหกรรมและเจ้าหน้าที่องค์การนอกภาครัฐ (NGO) ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ซึ่ง MOI ยังได้ประสานงานกับกระทรวงเศรษฐการ ในการส่งเสริมให้โรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในสังกัด ทำการติดตั้งแผงกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ที่หลังคาของโรงงาน ซึ่งจากสถิติเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาพบว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในสังกัดของกระทรวงเศรษฐการ มีรวมกันมากถึง 2.99 GW แล้ว
MOI ชี้แจงว่า “โครงการจัดตั้งแหล่งดูดซับคาร์บอนในอุทยานแห่งชาติ” ของสำนักงานบริหารอุทยานแห่งชาติ มุ่งเน้นไปที่การรวบรวมแหล่งดูดซับคาร์บอนตามธรรมชาติและการทวนสอบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (CFV) เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการริเริ่มแผนปฏิบัติการด้าน “การเพิ่มแหล่งดูดซับคาร์บอน” และ “การลดคาร์บอน” ควบคู่ไปกับการประกาศข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ โดยสำนักงานบริหารอุทยานแห่งชาติในทุกพื้นที่ได้ทำการรวบรวมปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าในปี 2566 เพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณ ซึ่งได้ถูกแปลงเป็นปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เทียบเท่ากับ 3,939 ตัน
MOI ย้ำว่า เพื่อนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในแผนปฏิบัติการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงได้มีการศึกษาแนวทางปฏิบัติจากอุทยานแห่งชาติในต่างประเทศ เช่น อุทยานแห่งชาติแกรนด์แคนยอน อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน และอุทยานแห่งชาติหุบเขามรณะ เป็นต้น ในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่หลังคาของศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอาคารที่พัก และที่จอดรถ เป็นต้น เพื่อสร้างแหล่งผลิตพลังงานสะอาดไว้รองรับการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่อุทยาน ซึ่งนอกจากจะมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนของการบริหารจัดการแล้ว ยังเป็นการสรรสร้างให้อุทยานแห่งชาติเป็นพื้นที่ต้นแบบแห่งการบรรลุแนวทางการดำเนินชีวิตแบบคาร์บอนต่ำ ตลอดจนมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้าใจต่อพลังงานหมุนเวียน ผ่านการศึกษาและกิจกรรมประชาสัมพันธ์
นอกจากเป้าหมายการปลอดก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2593 จะเป็นแนวโน้มสำคัญของโลกแล้ว ยังเป็นนโยบายสำคัญของไต้หวันอีกด้วย เพื่อบรรลุเป้าหมายข้างต้น MOI จึงได้กำหนดแผนแม่บทไว้ 3 ขั้นตอนในหน่วยงานด้านสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้ : ภายในปี 2573 สิ่งปลูกสร้างแห่งใหม่ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจต้องสร้างขึ้นให้สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพ (EEWH-BERS) ระดับ 1 หรือใกล้เคียงกับอาคารปลอดก๊าซเรือนกระจก และภายในปี 2583 ร้อยละ 50 ของสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่เดิม ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้สอดรับกับมาตรฐาน EEWH-BERS ระดับ 1 หรือใกล้เคียงกับอาคารปลอดก๊าซเรือนกระจก และภายในปี 2593 สิ่งปลูกสร้างใหม่ทั้งหมดและร้อยละ 85 ของสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่เดิม ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้ใกล้เคียงกับอาคารปลอดก๊าซเรือนกระจก